'สุทัศน์' แนะปรับเศรษฐกิจไทยรับโลกยุค 'หลังโควิด' มุ่งเกษตร - อุตสาหกรรมคุณภาพสูง
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19” ทำให้เกิดผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงกับโลกในวงกว้างโดยเฉพาะในมิติของเศรษฐกิจซึ่งทำให้แทบทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยจะต้องกำหนดบทบาทและหาทิศทางใหม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ในอนาคต
นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ประธานกรรมการตรวจสอบและกรรมการกำกับดูแล ความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผู้มีบทบาทสำคัญในการวางแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ผ่านมาให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" กล่าวว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 นอกจากผลกระทบจากโควิดที่มีผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยโดยตรงยังมีผลกระทบที่ตามมาต่อเนื่อง เช่น เรื่องเกษตรและเรื่องพลังงานซึ่งผล กระทบกับการจ้างงานในหลายประเทศเนื่องจากทั้ง 2 ภาคการผลิตเป็นภาคการผลิตที่มีการจ้างงานสูงมาก จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงมากขึ้นตัวเลขการตกงานในสหรัฐฯจึงพุ่งสูงมากขึ้น
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่สหรัฐฯมีการว่างงานสูงก็คือจะมีการใช้นโนบายกีดกันทางการค้า และนโยบายพยายามดึงการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆกลับมายังสหรัฐฯทิศทางของนโยบายเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและสหรัฐกับประเทศอื่นๆจะยังคงอยู่แม้โควิิด-19 จะคลี่คลายลงได้ก็ตาม
ส่วนผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือเรื่องอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการใช้พลังงานทดแทนจะถูกชะลอออกไปจากการที่ถูกกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดต่ำลงและการใช้งานที่ลดน้อยลงเนื่องจากการลดการเดินทางและการผลิตในภาคอุตสาหกรรที่มีทิศทางลดน้อยลงด้วย
ทั้งนี้ในสภาะที่การค้าระหว่างประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงจากโลกค่อนข้างมากหลังจากที่เกิดโควิดซึ่งกลายเป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงภาคการผลิตของไทยจากเดิมที่แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของสินค้าหลายชนิดออกจากประเทศไทย เป็นระยะๆ เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมหลักของไทย จะเริ่มเห็นทิศทางว่าจะย้ายไปผลิตยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าและมีตลาดที่ใหญ่กว่าตลาดในประเทศไทย เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งในเรื่องของขนาดของตลาดที่จูงใจให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณพ์ เช่น ในเรื่องของการพัฒนาวัคซีนที่จีนมีความสามารถในการวิจัยได้รวดเร็วเนื่องจากมีตลาดขนาดใหญ่ที่จูงใจให้เกิดการพัฒนาโดยสามารถพัฒนาในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากทำให้เกิดความรวดเร็วได้มากกว่าในประเทศอื่นๆ
“การลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆที่เข้ามาในไทย 3 ระลอกใหญ่ก็เริ่มที่จะลดลง จนเราอาจเสียความเป็นฐานการผลิต ทั้งจากเหตุผลในเรื่องของค่าจ้างแรงงานและเรื่องของขนาาดของตลาด ส่วนเรื่องที่เราต้องการพัฒนาในเรื่องการวิจัยและพัฒนาของเราเองก็เป็นเรื่องที่ยากต้องใช้เวลา ดังนั้นการจับมือกับประเทศที่มีความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะเป็นวิธีที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในเรื่องนวัตกรรมของเราได้รวดเร็วมากขึ้น”
เมื่อถามว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจของประเทศไทยควรจะวางทิศทางไปในทางใด นายสุทัศน์มองว่ามี 2 เรื่องที่จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่สำคัญ ก็คือ 1.จุดแข็งของประเทศไทยคืออะไร และ 2.ทิศทางความต้องการของตลาดโลกคืออะไร สองส่วนนี้เป็นตัวที่จะกำหนดอนาคตของประเทศไทย
ในเรื่องแรกจุดแข็งของประเทศไทยก็คือเรื่องของการเกษตร และการเป็นผู้ผลิตอาหารแต่การจะพัฒนาจุดแข็งส่วนนี้ให้เป็นจุดขายของประเทศได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การมุ่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ หรือผลิตจำนวนมากๆ แบบที่ทำอยู่ในปัจจุบันแต่ต้องใช้เรื่องของความต้องการของตลาด (demand driver) เป็นตัวนำว่าตลาดต้องการอะไร ผู้บริโภคต้องการอะไร และเพิ่มจุดแข็งในเรื่องของการผลิตที่มีคุณภาพให้มากขึ้นสามารถให้ความมั่นใจกับผู้บริโภคได้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องหนึ่งของภาคบริการ (services) ที่จะช่วยเสริมเศรษฐกิจของไทยให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้นหลังโควิด-19
“โควิดทำให้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ในเรื่องอาหารการกินที่ต้องเป็นของดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพที่สำคัญต้องมีความสะอาด ซึ่งเรื่องพวกนี้หากเราจะมุ่งเป็นผู้ผลิตอาหารของโลกต้องทำและให้เกิดเป็นแบรนด์ของประเทศไทย ซึ่งเมื่อมีแบรนด์ที่ดีตรงนี้แล้วเราสามารถ เป็นผู้นำในการค้าได้ซึ่งจริงๆเรามีศักยภาพตรงนี้มากหากเทียบกับประเทศอื่นๆเพราะเราเป็นผู้ผลิตเองด้วยจึงยังมีโอกาสมากแต่ต้องวาง positioning เราให้ถูกต้องตั้งแต่แรกและเข้าใจว่าตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคต้องการอะไร”
จุดแข็งของประเทศไทยอีกเรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องของที่ตั้งหรือ Location ของประเทศ ซึ่งมีข้อได้เปรียบมากเพราะในอนาคตเราจะเห็นการค้าระหว่างสองประเทศใหญ่ระหว่างจีนและอินเดียมากขึ้นเนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ขณะที่อินเดียมีชนขั้นกลางที่เติบโตมากขึ้น ซึ่งการค้าขายของทั้งสองประเทศต้องผ่านประเทศไทย การมีที่ตั้งที่ได้เปรียบสิ่งที่ต้องทำแล้วจะได้ประโยชน์มากก็คือเรื่องของการพัฒนาโลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาคนให้มีความสามารถและศักยภาพเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะความสามารถของคนที่จะเข้าสู่ภาคบริการ เช่น โลจิสติกส์ การท่องเที่ยวที่ยังต้องรักษาฐานเดิมไว้และเพิ่มเติมในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากโควิด-19 คลี่คลายลง
“การเกิดโควิดในครั้งนี้ีสิ่งที่เห็นคือโอกาสในการทำธุรกิจมากมาย ซึ่งในประเทศไทยเราก็เห็นว่าเอสเอ็มอีมีการทำธุรกิจหลายอย่าง สิ่งที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูก็คือการให้ความรู้และช่วยวางแผนทางการเงินให้กับเอสเอ็มอีควบคู่ไปด้วยเพื่อให้เกิดการพัฒนาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเรามีความแข็งแรงของเศรษฐกิจของประเทศต่อไปด้วย”นายสุทัศน์กล่าว