กะเทาะโมเดล 'มหากุศล' โควิด.!! ปลุกสังคมแบ่งปัน
กะเทาะเปลือกสังคมไทย ฝ่าวิกฤติครั้งใหญ่ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ความดีงามภาคธุรกิจ-เหล่าฮีโร่ ระดมเงินบริจาค รวมพลจิตอาสา ทำภารกิจด่วนเพื่อมวลชน ถอดสมการโมเดล “แปลงพลังศรัทธา” สู่ผู้ยากไร้เป็น “ระบบ-ไร้ข้อสงสัย”
วิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) นำความเจ็บป่วยและสูญเสียไปทั่วโลก กระทบสู่ชีวิตความเป็นอยู่มีผู้ยากไร้ จากการต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่ประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่า พิษโควิด-19 ทำให้คนไทยตกงานแล้วกว่า 7 ล้านคน โดยเฉพาะคนฐานล่าง ผู้รับจ้างรายวันและอาชีพอิสระ
ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และคนที่มีต้นทุนทางสังคม ดาราและศิลปินหัวใจจิตอาสา จึงระดมสรรพกำลังช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ ทว่าการทำงานกับมวลชน ท่ามกลางปัญหาสารพัดความต้องการ และความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จิตใจดี เป็นผู้ให้จึงไม่เพียงพอหากขาดการวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
นักธุรกิจหญิงจิตอาสา ศิริกุล เรืองวัฒนไพศาล เจ้าของ 3 ธุรกิจ เธอเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นทรัล บิซิเนส ฟอร์ม (ธุรกิจสิ่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ฟอร์ม และเสื้อผ้าสำหรับองค์กร),ผู้บริหารในเครือโซนาร์ กรุ๊ป (SONAR Group) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์โซนาร์ และบริษัท นิวทรา ฟาร์ม ธุรกิจรับจ้างผลิต(OEM) เครื่องดื่ม ฟังก์ชันนัลดริงค์ เผยถึงผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อทำให้องค์กรอยู่รอด โดยไม่ปลดพนักงานในบริษัทกว่า 100 คน ซึ่งเป็นการตอบแทนสังคมในอีกทางหนึ่ง
ไม่เพียงการพยุงองค์กรให้อยู่รอด ธุรกิจยังมองไปที่“ภาคสังคม”โดยรอบ ในช่วงแรกของการระบาด บุคลากรทางการแพทย์ตกอยู่ในความเสี่ยงขาดแคลนอุปกรณ์ และชุดป้องกันตัวเอง (PPE) แม้กระทั่งหน้ากากอนามัย ต้องใช้ซ้ำกัน 7 วัน จึงระดมกำลังจากเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อนร่วมรุ่นอบรมสัมมนา สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Young Entrepreneur Network Development Program-YEND-D) หรือ เย็นดี, สถาบันพระปกเกล้า รวมไปถึงกัลยาณมิตรและเพื่อนสมัยเรียน รวบรวมอุปกรณ์การแพทย์ไปให้กับโรงพยาบาลในหลายแนวทาง ทั้งการซื้อในประเทศและนำเข้าจากเครือข่ายทางธุรกิจที่มีอยู่
“ เมื่อเห็นปัญหาปะทุรุกไปดับไฟทันที โดยใช้เครือข่าย เช่น กรณีปัญหาคนไทยในต่างประเทศถูกเพิกเฉยเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งตามกฎหมายของแต่ละประเทศหมอไทยจะให้คำปรึกษารักษาข้ามแดนได้ต้องผ่านการอนุญาตจากประเทศที่คนไข้อยู่อาศัยก่อน ทีมจิตอาสาจึงใช้เครือข่ายที่มีสายตรงประสานงาน ให้ทีมหมอและอธิบดีกรมกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ช่วยปลดล็อคเปิดทางหมอไทยให้คำปรึกษาออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น ทำให้คนไทยในต่างแดน 63 ประเทศเข้าถึงหมอไทย เป็นที่พึ่งวิกฤติสาธารณสุขในต่างแดน”
***“เมตตา”คู่“จัดการ”สกัดโกลาหล
อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือด้วยการระดมทุนและปัจจัย จะต้องมีการบริหารจัดการ อาทิ การแจกของแก่ผู้ยากไร้ ไม่ใช่เพียงคิดแล้วหาของมาแจกได้ข้ามคืน ต้องวางแผน ประสานสำนักงานเขตในพื้นที่รู้ข้อมูลความเดือดร้อนชุมชน จากการสำรวจจริง และแจกคูปองนัดวัน และเวลามารับของประมาณ 500-600 ครัวเรือน
บทเรียนแก้ปัญหาความวุ่นวายโกลาหล เกิดการรุม แย่งชิงสิ่งของบริจาค ตามข่าวผ่านสื่อหลักและสื่อโซเชียล เพื่อนในเครือข่ายต้องคิดให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้“ความเมตตาและจิตใจดี” จนลืม “การบริหารจัดการ” ป้องกันวุ่นวายทุกมิติ ทั้งการประเมินคนเดือดร้อนจริงหรือไม่ รวมถึงการแจกของต้องปฏิบัติตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ไม่ให้เกิดการรุมทึ้ง
“คนไทยชอบช่วยเหลืออยู่แล้วจึงบอกต่อกันในแวดวงนักธุรกิจ เครือข่ายคนทำความดีถูกจุดประกาย ดึงดูดคนมาระดมกำลังไปแจกถุงยังชีพ เช่น ข้าวสาร 5 กิโลกรัม,อาหารแห้ง เจลล้างมือและหน้ากากอนามัย”
นักธุรกิจหญิงจิตอาสา ยังเล่าถึงกลไกขับเคลื่อนสร้างพลังทางสังคมว่า เกิดขึ้นได้เพราะ ทีมเวิร์ค ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่หยิบผลงานมาเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ให้เกียรติทุกคน มีการรายงานให้คนมั่นใจ เชื่อถือ
นี่เป็นเพียงการช่วยปลดล็อคปัญหาชั่วคราว เธอหวังว่า “มหาเศรษฐี” ผู้สร้างอาณาจักรร่ำรวย มีธุรกิจใหญ่ระดับประเทศ จะใช้ศักยภาพระดมความคิดช่วยเหลือสังคมให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ เพื่อให้สังคมยั่งยืน
“ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าได้ภายใต้สังคมที่ล้มเหลว หากธุรกิจเรารอด เพื่อนไม่รอด สังคมยังเกิดปัญหา ธุรกิจเราก็ไม่รอดได้ ทุกภาคส่วนจึงต้องระดมกำลังมาช่วยเยียวยา ฟื้นฟูขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ”
จิตอาสา“อเวนเจอร์ส”
เพจช่วยหมอสู่นวัตกรรม PPE
กิตติชัย เทียมดวงตะวัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน์ อิน ชายด์ จำกัด โรงงานเย็บผ้าสำหรับเด็ก หนึ่งในเครือข่ายเย็นดี เล่าถึงภารกิจลุกขึ้นมาระดมพลังเครือข่ายเพื่อนจัดการปัญหาวิกฤติหมอขาดแคลนเครื่องมือแพทย์และชุดป้องกัน(PPE) โดยการจัดตั้งเพจเฉพาะกิจ ชื่อว่า “หมอจ๋าเรามาแล้ว”ตั้งแต่เดือนมี.ค.จนถึงปัจจุบันมียอดผู้ติดตามกว่า 4,600 คน เป้าหมายที่จัดตั้งขึ้นมามี 3 วัตถุประสงค์คือ
1.รวบรวมความต้องการจากโรงพยาบาลขาดแคลน 2.รวบรวมอุปกรณ์ที่ต้องการบริจาค ทั้งรูปแบบวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้มีความรู้ และ 3. รวบรวมเงินทุนจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับคนไม่มีอุปกรณ์แต่อยากช่วยเหลือเป็นรูปแบบเงินบริจาค
เพียงไม่กี่วันหลังตั้งเพจคนจิตอาสายื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือแจกจ่ายอุปกรณ์ที่จัดซื้อจากต่างประเทศ คู่ขนานกับการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ชุด PPE โดยใช้ผ้าที่ผลิตและตัดเย็บในประเทศไทย ภายใต้มาตรฐานแพทย์เป็นที่ปรึกษา ใช้เวลาเกือบ 1 เดือน ผลิตชุดPPEนวัตกรรมโนฮาวน์เฉพาะของคนไทย ใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง โดยมีบริษัท ทองไทยการทอ เจ้าของนวัตกรรมผ้า มีจำนวนการผลิต 2 ล็อตจำนวนเกือบ 3,000 ชุด ถูกส่งต่อไปให้โรงพยาบาลชุมชนห่างไกลที่ยังขาดแคลน
“จากที่เป็นส่วนหนึ่งในการระดมเครือข่ายเพื่อนธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญกว่า20 คน มารวมพลทำงานเพื่่อคลี่คลายวิกฤติอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้เกิดนวัตกรรมชุด PPE ฝีมือคนไทยที่ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงวิชาการบริหารจัดการวิกฤติ ทำงานให้ทันต่อเหตุการณ์ เริ่มจากสเตตัสของเพื่อนถามว่าใครเย็บผ้าได้บ้าง เกิดเป็นทีมอเวนเจอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายทำคอนเทนท์หน้าเพจ ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ จนถึงกระบวนการผลิต”
เมื่อเพจสิ้นสุดภารกิจเพื่อแพทย์ จึงยุติบทบาท หากทีมนี้จะคิดก่อการดีเพื่อสังคมต่อไป เขามองว่า จะไม่ทำเพียงแค่การบริจาคสิ่งของ ซึ่งเป็นการบรรเทาปัญหาระยะสั้น แต่จะวางแผนกลยุทธ์สร้างความยั่งยืน เช่น การสร้างงาน สร้างอาชีพให้ผู้เดือดร้อนได้พึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต
เขาสรุปบทเรียนของการทำงานจิตอาสากู้วิกฤติเพื่อสังคมว่า สิ่งสำคัญคือความน่าเชื่อถือ สร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริจาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีมเครือข่ายของคนที่เคยเห็นการทำงานร่วมกันมาแล้ว จึงเกิดความเชื่อถือ นอกจากนี้ยังต้องบริหารงานอย่างโปร่งใส ตัดสินใจด้วยความรอบคอบ เพราะเงินบริจาคเป็นทุนของคนอื่นๆ จึงต้องป้องกันการถูกตั้งคำถาม รวมไปถึงสร้างการมีส่วนร่วม คำนึงถึงความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Stakeholders)
“การทำงานเพื่อสังคม ต้องได้รับการยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ ที่อาศัยเครดิตของเพื่อนในเครือข่ายธุรกิจ และเพื่อนของเพื่อน ที่รับรู้ว่า เราไม่หวังประโยชน์แอบแฝง มีความโปร่งใส มีเป้าหมายการทำงานชัดเจน รวมถึงทำงานโดยคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย”
“ตู้ปันสุข”โมเดลปลุกจิต
“ลด ละ ให้”จัดการชุมชนยั่งยืน
สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซูปเปอร์คิทแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด เจ้าของเพจ “รู้รอบตอบโจทย์ธุรกิจ” และเจ้าของซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรม ผู้ก่อตั้งเพจ “อิฐน้อย” รวมตัวของจิตอาสา ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 เพื่อระดมสรรพกำลังช่วยทีมหมอต่อสู้กับโควิด
ต้นแบบการทำจัดโมเดล “ตู้ปันสุข” (Pantry of Sharing) ในไทยนำมาจากแนวคิด “Little Free Pantries” หรือ “Blessing Box” ของ Jessica McClard จาก Fayettevielle จัดทำตู้ใส่อาหาร ในสหรัฐอเมริกา เพื่อบรรเทาความหิวโหยให้กับคนไร้บ้าน ชุมชนได้เกื้อกูลกัน แนวคิดตู้นี้ถูกแพร่ไปในหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงประเทศไทย เริ่มในวัดสวนแก้วพระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ)
ส่วน “ตู้ปันสุข” ที่เริ่มโดยทีมอิฐน้อย เปิดตัวตั้งแต่ 27 เม.ย. 2563 กระจายไปใน 5 ชุมชน ในกทม.เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ คนตกงาน ขาดเงินซื้ออาหารเลี้ยงปากท้อง เกิดการแพร่ไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วที่สุด ครอบคลุม 77 จังหวัด ภายใน 5 วัน ปัจจุบันมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ติดตั้งแล้ว 1,400 ตู้ หากนับจากการติดแฮชแท็กตู้ปันสุข (#ตู้ปันสุข) ซึ่งในความจริงอาจจะมีตู้มากกว่านั้น เพราะหลายชุมชนติดตั้งแต่ไม่ได้โพสต์ลงโซเชียล
หัวเรือใหญ่ติดตั้งตู้ปันสุข ฝ่ากระแสความเห็นสังคมหลังตั้งกระทู้เกี่ยวกับการนำไอเดียตู้ปันสุขมาติดตั้งในไทย เสียงส่วนใหญ่กว่า 90% เห็นว่าไม่น่าจะรอด จะมีทั้งคนยกเค้าของและตู้ แต่เขาก็คนมองโลกในแง่ดีตามสัดส่วน 10% เดินหน้าติดตั้ง 5 ตู้ จนคนเห็นดีเห็นงามขยายสเกลไปทั่วทั้งประเทศ
เขาประเมินผลลัพธ์ตู้ปันสุขครบ 1 เดือน มีตู้รวม 1,400 ตู้ หลังจากขับรถผ่านและอ่านแฮชแท็กความเห็น เมืองไทยเกิดการกระจายตัวของตู้ได้รวดเร็วที่สุด และสัดส่วนของที่เหลือค้างอยู่ในตู้มากกว่าตู้ที่ว่างเปล่า หากเทียบกับตู้ในต่างประเทศ มีตู้เปล่ามากกว่าตู้มีของ
“ประเมินความช่วยเหลือเป็นตัวเลข จาก 1,400 ตู้ ถ้าช่วยเหลือคนได้อย่างต่ำที่สุด 20 คนต่อวัน ภายใน 1 เดือนสามารถช่วยคนได้มากถึง 840,000 ครั้งต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นสเกลที่สูงมาก”
สุภกฤษ ยังทำงานจิตอาสา มาตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงทำงานจึงจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ทำบุญต่อเนื่อง จึงมีเครือข่ายคนจิตสาธารณะพร้อมแบ่งปันเพื่อนมนุษย์ เพราะช่วย "ปลุกหัวใจเมตตาแบ่งปัน” ที่มีมาช้านานในสังคมไทยกลับมา เพราะตู้ช่วยรื้อฟื้นวัฒนธรรมดีงาม การให้ การแบ่งปัน ของสังคมไทย ที่อาจจะลืมเลือนไปให้กลับมาในยามวิกฤติช่วยสร้างพลังบวกให้เพื่อนร่วมชาติฝ่าวิกฤติโควิดไปพร้อมกัน
อีกทั้ง ตู้ปันสุขยังช่วยปลูกบทเรียนทางอ้อมให้กับเยาวชนให้เข้าใจคุณค่าของการแบ่งปันจากเหตุการณ์จริง น้องอิกคิว เด็กชายวัย 9 ขวบ ไปหยิบขนมและน้ำ จากตู้มาทาน คุณตาเห็นจึงสอนหลานให้หยิบผักในสวนมาเติม บทเรียนจากตู้สอนให้น้องอิกคิว ไม่เป็นเพียงผู้รับ แต่ยังรู้จักเป็นผู้ให้ด้วย หรือเรื่องราวของแท็กซี่คนหนึ่งที่มาหยิบอาหารจากตู้ แต่วันถัดมากลับไปซื้อของมาเติมเมื่อวิ่งรถมีรายได้เพิ่มเงินเหลือ บางบ้านจึงติดตั้งตู้ไว้หน้าบ้านเพื่อสอนเยาวชน
“รากฐานของคนไทยรู้จักการให้อยู่ในวัฒนธรรมมาตลอด เราโตมากับการแบ่งปัน คนข้างบ้าน ทำกับข้าวก็มาแบ่งกันบ่อยๆ ซึ่งอาจจะเลือนหายไปบ้างในสังคมเมืองหลวง แต่ในต่างจังหวัดยังอยู่อย่างเหนียวแน่น การมีตู้ปันสุขทำให้ปลุก การแบ่งปันและการให้ของสังคมไทยกลับมาให้เห็นชัดเจน
ขึ้น”
ตู้ปันสุข ยังกระจายไปทั่วองค์กรภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงต่างๆ หน่วยงานต่างๆ โรงพยาบาล สถานีตำรวจ และภาคเอกชนที่ภาคธุรกิจได้ใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น มีส่วนต่อการสร้างความไว้วางใจ และภาพลักษณ์ต่อแบรนด์ รูปแบบของตู้ปันสุขไม่ใช่เพียงอยู่ในรูปตู้กับข้าว แต่ยังอยู่ในรูปของรถคาราวาน แปลงผัก และอื่นๆ ที่สร้างสรรค์โดยคนในชุมชนไปต่อยอด อีกทั้งสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนได้ เช่น สาวยาคูลท์คนหนึ่งแบ่งเงินเดือน 600-700 บาท มาซื้อสินค้ามาเติมตู้ หากมีหลายคนก็เพิ่มเงินหมุนเวียนในชุมชน หากมีคนเช่นนี้มากขึ้น
“ตู้ปันสุข” จึงไม่ใช่ตู้กับข้าวธรรมดา ที่มีผู้ให้ ผู้รับ แต่เป็นการปลุกความดีงามในสังคมไทย ช่วยลดกิเลสในตัวเรา รู้จักการให้กับผู้อื่น รู้จักหักห้ามใจ ที่จะช่วยสร้างพื้นฐานไม่เกิดการโกง ทุจริตคอรัปชัน อีกทั้งเมื่อคนในสังคมร่วมกันบริหารจัดการรักษาตู้ให้ยั่งยืนขึ้นอยู่กับชุมชนเป็นหลัก ที่จะอยู่หรือจะไม่อยู่ หลังติดตั้งตู้จะผลลัพธ์ 2 โมเดล คือ
โมเดลตู้ปันสุข มี2 โมเดล คือ โมเดลดั้งเดิมของสหรัฐ จะเป็นตู้ที่ตั้งและดูแลโดยคนในชุมชน ของที่ใส่จะใส่ไม่มาก และคละแบบกัน ข้อมูลจากเว็บ little free pantry สหรัฐ ระบุว่า หากพบเห็นตู้ใส่ของหมดไม่ต้องแปลกใจเพราะคนรับมีมากกว่าคนใส่อยู่แล้ว ส่วนโมเดลที่ 2 เกิดขึ้นในไทย คือ โมเดล มินิ โรงทาน หรือโรงทานขนาดย่อมประจำชุมชน คือ ผู้ให้จะใส่ของซ้ำกันในปริมาณมากๆ เหมือนโรงทาน แบบนี้ต้องมีคนดูแล มีกติกาการหยิบการรับชัดเจน มิเช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาการโกยแบบที่เป็นข่าว
ดังนั้นหากมีผู้ใจบุญ พร้อมกันกับชุมชนร่วมมือกันบริหารจัดการ จัดระเบียบ จัดระบบคิวการหยิบของและจำนวนที่หยิบของจากตู้ในชุมชน ของที่มีเพียงพอกับความต้องการ จะส่งผลทำให้ตู้อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
“ศรัทธามาร์เก็ตติ้ง”แกะรอย
บิณฑ์-ตูน ซุปตาร์จิตอาสา
ในวิกฤติที่สังคมขหวาดหวั่นวิตกกับความไม่แน่นอน หลายชีวิตเป็นผู้ยากไร้ เจ็บป่วย สังคมต้องการฮีโร่ ซูเปอร์แมน เป็นที่พึ่งยามยาก ในวิกฤติ จึงมี 2 ฮีโร่ อย่าง บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ และตูน บอดี้สแลม (อาทิวราห์ คงมาลัย) 2 ศิลปิน นักร้องและนักแสดง ฉายภาพขึ้นมาโดดเด่นแปลงความมีชื่อเสียงเป็นพลังศรัทธา เป็นศูนย์กลาง ระดมกำลังการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา และกระจายความช่วยเหลือไปยังผู้เดือดร้อน
บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ดารานักแสดงจิตอาสา ผู้ทำงานคู่กับมูลนิธิร่วมกตัญญูมายาวนานกว่า 30 ปี ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติการณ์ต่างๆ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติ และปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ จะมีบิณฑ์ ปรากฏตัวเข้าไปให้ความช่วยเหลือในทุกครั้ง สังคมไทยจึงรับรู้ถึงบทบาทของเขาในการปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ทำมายาวนาน
เหตุการณ์ล่าสุดน้ำท่วมที่จ.อุบลราชธานี ภาคอีสานปลายปีที่ผ่านมา มียอดเงินบริจาคหลั่งไหลไปยังเขารวมทั้งสิ้นประมาณ 422 ล้านบาท และล่าสุดวิกฤติโควิด เขาใช้เงินส่วนตัวจากเงินเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าดังหลายแบรนด์ บวกกับยอดเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาทำให้เขา แจกเงินให้กับผู้เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากโควิดไปแล้วกว่า 16 ล้านบาท
ขณะที่ ตูน บอดี้สแลม ศิลปินที่มีฐานแฟนเพลงและแฟนคลับที่พร้อมสนับสนุนกิจกรรม จึงทำให้เขาต่อยอดความมีชื่อเสียงไปสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคม ทำโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ระดมทุนมียอดเงินบริจาคถึง 1,300 ล้านบาท กระจายการซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับ 11 รพ. ความสำเร็จจากการเป็นศูนย์กลางพลังศรัทธา จึงนำไปสู่การสนับสนุนจากสปอนเซอร์ จัดตั้ง มูลนิธิก้าวคนละก้าว ที่มีการจัดเซ็ทระบบ ศูนย์กลางความช่วยเหลือสังคม
เช่น วิกฤติล่าสุด โควิด -19 จัดโครงการ “ตลาดใจ” String Combo แสดงสดออนไลน์ ตูน บอดี้สแลม ฟีทเจอร์ริ่งกับ ศิลปินรับเชิญ อาทิ แสตมป์, แก้ม วิชญาณี, บุรินทร์, ป๊อบ ปองกูล, โอ๊ต ปราโมทย์, ว่าน ธนกฤต, ลุลา, อะตอม, ก้อง ห้วยไร่, ต่าย อรทัย, ปั๊บ โปเตโต้, สิงโต นำโชค, แพท วงเคลียร์, นนท์ ธนนท์, มาลีฮวนน่า, ลิปตา, เสือร้องไห้ และปาล์มมี่ เป็นการระดมทุนและปัจจัยอุปกรณ์การแพทย์ ให้กับรพ.ยอดการบริจาค 43 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 พ.ค.2563)
สิ่งที่ทั้ง 2 ศิลปินจิตอาสา เหมือนกันคือการแปลงชื่อเสียงมาสู่ความ“ศรัทธา น่าเชื่อถือ”ในบริบทที่แตกต่างกัน บิณฑ์ใช้ระยะเวลากว่า 30 ปี ที่อุทิศตัวช่วยเหลือสังคม ทำเพื่อผู้อื่น ถือว่ายาวนานจนได้รับการยอมรับในวงกว้าง จึงมีคนสนับสนุนทุกระดับชั้น และเพราะคนเห็นมายาวนาน โดยมีเขาปรากฎตัวไปช่วยปลดทุกข์ อยู่กับภาพสะเทือนอารมณ์ของชีวิตคนต้องอยู่กับปัญหา สภาพยากไร้ และมีโรคภัยไข้เจ็บ
ตูนมีฐานแฟนเพลงเป็นการสนับสนุนในทุกกิจกรรม ผลงานของการทำจริงจาก โครงการ “ก้าวคนละก้าว” จากเบตง จ.ยะลาถึง แม่สาย จ.เชียงราย พิสูจน์ความสู้ไม่ถอย เสียสละ และทำเพื่อผู้อื่น เข้ามาสนับสนุนนอกจากความสุขของการเป็นผู้ให้ แบ่งปัน ภาคธุรกิจยังได้ภาพลักษณ์สินค้า
การยอมรับและถูกพูดถึงทั้งสอง 2 คนเหมือนกัน คือ ความเป็นคนจริงใจ ติดดิน พูดจริง ทำจริง อุทิศตัวเองแปลงความมีชื่อเสียงเป็นพลังทางสังคม ให้สังคมมองเห็นสิ่งที่ยังขาดและต้องเติมเต็ม โดยเฉพาะการทำงานโดยปราศจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังสำหรับคนมีชื่อเสียง
แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ บิณฑ์ ทำเรื่องเหล่านี้แบบลูกทุ่ง ลุยๆ ทำต่อเนื่องใช้เวลายาวนานจนคนเห็น ขณะที่ตูน มีทีมหลังบ้านที่เซ็ทกลยุทธ์การสื่อสาร และสร้างคอนเทนท์ บอกเล่าเรื่องราวอย่างเป็นระบบ มีการร่วมกิจกรรมข้ามสายธุรกิจอาชีพ ทั้งคนมีชื่อเสียง ศิลปิน นักร้องหลากหลายแนว ร็อค ป๊อป และลูกทุ่ง ทุกเพศทุกวัย รวมถึงนักแสดง กับคนมีชื่อเสียงทุกประเภท เป็นการ Co -Brand และยังมีการจัดการวางแผนเป็นระบบ มีมูลนิธิ “ก้าวคนละก้าว”มีการตั้งวอร์รูมในการรับมือกับวิกฤติ เมื่อมีเหตุการณ์สามารถตั้งทีมเยียวยาปัญหาได้อย่างรวดเร็ว