ทำงานช่วง ‘วันหยุด’ อาจไม่เลวร้ายเสมอไป แถมมี ‘ข้อดี’ กว่าที่คิด ?

ทำงานช่วง ‘วันหยุด’ อาจไม่เลวร้ายเสมอไป แถมมี ‘ข้อดี’ กว่าที่คิด ?

หลายคนอาจมองว่าช่วง “วันหยุดยาว” เป็นโอกาสดีที่จะได้พักผ่อนจากการทำงานอย่างเต็มที่ และได้ใช้เวลาร่วมกับคนรอบข้าง แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เลือก “ทำงานในวันหยุด” เพราะมองว่ามีข้อดีและมีโอกาสในสายอาชีพอยู่เหมือนกัน

Key Points:

  • ในวันหยุดยาวหลายคนเลือกที่จะพักผ่อนหรือเฉลิมฉลอง แต่ยังมีพนักงานอีกไม่น้อยที่เลือกจะ “ทำงาน” ในวันหยุด แม้องค์กรไม่ได้บังคับ เพราะมองว่าตัวเองได้รับประโยชน์
  • “เงินพิเศษ” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานหลายคน เลือกที่จะมาทำงานในวันหยุด แล้วค่อยไปหยุดในวันหลังแทน
  • แม้การทำงานวันหยุดอาจจะไม่ได้สร้างความเครียดมากเท่ากับการทำงานในวันธรรมดา แต่การใส่ใจสุขภาพโดยเฉพาะเรื่อง “การพักผ่อน” ก็ถือว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่

เมื่อใกล้ถึงช่วง “วันหยุดยาว” ไม่ว่าจะเป็น “ปีใหม่” หรือ “สงกรานต์” หลายคนมักวางแผนสำหรับท่องเที่ยวหรือกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และที่สำคัญก็ต้องเคลียร์งานให้เสร็จ เพื่อจะได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีคนวัยทำงานอีกไม่น้อยที่ต้อง “ทำงาน” ในช่วงวันหยุดยาว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความจำเป็น เช่น พนักงานบริการ หรืออุตสาหกรรมสื่อ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เลือกเองว่าอยากทำงานในช่วงนี้ เพราะมองว่าไม่ได้ส่งผลเสียอะไร แถมยังมีข้อดีอีกด้วย

ข้อมูลจาก Forbes ระบุว่าการทำงานในช่วงวันหยุดนั้นก็มีประโยชน์ต่อพนักงานไม่น้อยไปกว่าวันธรรมดา โดย Andy Teach (แอนดี ทีช) ผู้เขียนหนังสือ From Graduation to Corporation เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานว่า แม้คนทั่วไปจะไม่ดีใจเท่าไรหากต้องทำงานในวันหยุด เพราะเสียดายเวลาที่อาจไม่ได้ใช้ในวันหยุดอย่างเต็มที่ แต่ยอมจำใจทำเนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่น แต่สำหรับแอนดีกลับมองว่าการทำงานช่วงวันหยุดนั้นก็มีประโยชน์เช่นกัน

  • ส่องข้อดี “ทำงานช่วงวันหยุด” แบบฉบับ Forbes

- ได้เงินเพิ่มขึ้น

สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงหากต้องทำงานช่วงวันหยุดก็คือ “เงินพิเศษ” เพราะองค์กรส่วนมากมักจ่ายเงินให้กับพนักงานที่ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และบางครั้งก็จ่ายเพิ่มเป็นสองเท่า โดยเฉพาะในวันหยุดยาวหรือช่วงเทศกาล

- การยอมรับ และโอกาสต่อยอดทางอาชีพ

เนื่องจากการอาสาทำงานในวันหยุดมักไม่ใช่สิ่งที่พนักงานในองค์กรต้องการ หากไม่จำเป็นต้องทำจริงๆ ดังนั้นใครที่อาสารับทำงานในวันหยุดก็มักมีโอกาสได้รับการยอมรับจากหัวหน้างานมากกว่าคนอื่น เพราะเป็นการแสดงออกถึงความมีน้ำใจ ความรับผิดชอบ และยังเป็นหนทางสู่ความก้าวหน้าทางอาชีพการงานอีกด้วย

- มีโอกาสฝึกแก้ปัญหาในการทำงาน พัฒนาทักษะผู้นำ

เพราะช่วงวันหยุดพนักงานส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ทำงาน ทำให้มีคนเข้ามาทำงานน้อยกว่าปกติ แต่จำนวนงานและปัญหาอาจมีเท่าเดิม โดยเฉพาะผู้ทำงานด้านการบริการ ดังนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีหากได้ฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะจะทำให้เราสามารถเติบโตได้มากขึ้น เนื่องจากการแก้ปัญหาใหญ่ๆ นั้น ส่วนมากจะเป็นหน้าที่ของพนักงานระดับซีเนียร์ขึ้นไป (แต่ถ้าปัญหาหนักมาก ก็ควรขอความช่วยเหลือจากหัวหน้างาน)

ไม่ใช่แค่ทักษะการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่ยังจะได้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำไปในตัว เพราะอาจจะต้องรับผิดชอบงานในส่วนของหัวหน้างานเพิ่มมากขึ้น แม้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ช่วยให้นำไปปรับใช้ในการทำงานในอนาคตต่อไปได้

- มีวันหยุดชดเชยเพิ่ม

ในบางองค์กรที่จำเป็นต้องทำงานในวันหยุด ผู้บริหารก็อาจมีข้อเสนอวันหยุดพิเศษให้กับลูกจ้างเพิ่มเติมภายหลังวันหยุดยาว เช่น ได้วันลาพักร้อนเพิ่ม หรือ วันหยุดพิเศษแบบไม่เสียวันลา

- ฉลองแบบไม่ต้องแย่งกันกิน แย่งกันเที่ยว

เหตุผลข้อนี้อาจเป็นสิ่งสำคัญรองลงมาจากเงินล่วงเวลาสำหรับใครหลายคนเลยทีเดียว เพราะช่วงวันหยุดยาวเป็นช่วงที่ใครๆ ก็วางแผนไปเที่ยวกันทั้งนั้น โดยเฉพาะการเดินทางออกต่างจังหวัด ถนนบางสายจึงมีรถติดยาวหลายกิโลเมตร ร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งอาจต้องรอคิวนานเป็นชั่วโมง แทนที่จะได้ไปเที่ยวสนุกๆ สบายๆ ก็กลายเป็นต้องแย่งกันทุกอย่างทำให้การเที่ยวครั้งนั้นอาจไม่ใช่เรื่องน่าประทับใจ

ดังนั้นถ้าเราได้ไปเที่ยวในช่วงเวลาหลังจากวันหยุดยาวไปแล้ว ข้อดีอย่างแรกก็คือ ไม่ต้องเบียดเสียดแย่งที่เที่ยวกับใคร ไม่ต้องวุ่นวายกับการเดินทาง นอกจากนี้ยังมีข้อดีอื่นๆ อีก เช่น ตั๋วเครื่องบินหรือที่พักมีราคาถูกลง เป็นต้น

ไม่ใช่แค่ Forbes เท่านั้นที่มองว่า “ทำงานช่วงวันหยุด” มีประโยชน์ แต่ข้อมูลของ H careers ก็บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวหลังวันหยุดยาวจะทำให้สบายใจและมีความสุขมากขึ้น

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าการทำงานในวันหยุดนั้นมี “ความเครียดน้อยกว่า” การทำงานในวันปกติด้วย เพราะส่วนมากจะไม่มีกรอบเวลามากดดัน ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีโอกาสสนิทกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น เพราะได้ใช้เวลาช่วงเทศกาลด้วยกัน และอาจจะต้องช่วยกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย

  • ถึงจะทำงานวันหยุด แต่ก็ต้องหาช่วงผ่อนคลาย

อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานช่วงวันหยุดจะมีข้อดี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าคนเราก็จำเป็นต้องพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ สำหรับใครต้องทำงานในวันหยุดก็อย่าลืมว่าต้องดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจไปด้วย โดยมีวิธีดูแลตัวเองง่ายๆ ดังนี้

1. แบ่งเวลาทำงานให้เหมาะสม ระหว่างการทำงานอาจต้องลุกไปพักสายตาหรือขยับร่างกายบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความเหนื่อยล้ามากเกินไป

2. ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่เย็นหรือร้อนจนเกินไป รวมถึงจัดโต๊ะทำงานให้เหมาะสมกับสรีระ

3. สร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน เช่น อาจแบ่งเวลาไปพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงบ้าง

4. กินให้อิ่ม นอนให้พอ แม้ว่าการทำงานช่วงวันหยุดจะนับเป็นวันทำงานตามปกติ แต่ก็ต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายต้องสะสมความเครียดและความเหนื่อยล้ามากเกินไป หากไม่ดูแลตัวเองให้ดี นอกจากจะเสียสุขภาพแล้ว ยังทำให้งานไม่ได้คุณภาพอีกด้วย

ท้ายที่สุดนี้การ “ทำงานช่วงวันหยุด” ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายมากนัก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการพักผ่อนและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน โดยเฉพาะช่วง “วันหยุดยาว” ที่คนส่วนมากได้หยุด ทำให้ถือเป็นโอกาสที่คนในครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า ถ้าแบ่งเวลามาใช้ร่วมกับครอบครัวได้อย่างน้อยหนึ่งวันก็อาจช่วยให้ผ่อนคลายได้มากขึ้น

ดังนั้นใครเลือกที่จะทำงานในวันหยุดนอกจากจะต้องใส่ใจสุขภาพตัวเองเป็นพิเศษแล้ว ก็อย่าลืมหาเวลาไปเที่ยวกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ บ้าง หรือนอนพักผ่อนและหากิจกรรมสบายๆ ทำบ้าง จึงจะถือเป็นการบาลานซ์วันหยุดและการทำงานได้ดีและเหมาะสม

อ้างอิงข้อมูล : ForbesH careers และ สสส.