ไม่ใช่ทุกคนอยากร่วม ‘ปีใหม่บริษัท’ วิจัยเผย ปฏิเสธตรงๆ ได้ ไม่ต้องรู้สึกผิด
ช่วงเวลาสิ้นปีแน่นอนว่าหลายองค์กรต้องมี “งานเลี้ยงปีใหม่” เพื่อให้พนักงานและผู้บริหารได้สังสรรค์ร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะอยากเข้าร่วม แต่ที่ไม่ปฏิเสธก็เพราะเกรงใจ ทั้งที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดมาก
Key Points:
- งานเลี้ยงปีใหม่บริษัทนอกจากจะเป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ภายในองค์กรแล้ว ยังถือว่าเป็นการตอบแทนพนักงานที่ทำงานเพื่อองค์กรมาตลอดปีอีกด้วย
- แม้ว่าพนักงานบางคนไม่ได้อยากเข้าร่วมกิจกรรมปีใหม่ของออฟฟิศ แต่ก็เกรงใจและไม่กล้าปฏิเสธ เพราะต้องการรักษาน้ำใจผู้บริหารและหัวหน้างาน
- งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเวสต์ เวอร์จิเนีย เปิดเผยว่า ความจริงแล้วการปฏิเสธเข้าร่วมงานเลี้ยงไม่ใช่เรื่องผิด และผลการทดลองพบว่า ผู้ที่ถูกปฏิเสธ (เจ้าภาพ) ก็ไม่ได้คิดมากหรือเสียความรู้สึก
งานเลี้ยงปีใหม่ จับฉลากของขวัญ แต่งตัวตามธีม หรือการร่วมกิจกรรมบนเวที อาจเป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนรอคอย โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ทำงานอย่างหนักกันมาตลอดทั้งปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพนักงานทุกคนจะอยากเข้าร่วมปาร์ตี้บริษัท ไม่ว่าจะเป็นเพราะรู้สึกเหนื่อย เสียเวลา และเสียดายเงิน กลัวได้ของขวัญไม่ถูกใจ ไปจนถึงไม่ชอบการเข้าสังคม
แต่ก็เป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน ในการปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่สบายใจเพราะเกรงใจผู้ใหญ่และเพื่อนร่วมงาน ทำให้บางคนต้องตอบรับและฝืนใจอยู่ร่วม “งานเลี้ยง” แม้ในใจจะอยากกลับบ้านแล้วก็ตาม แต่รู้หรือไม่ ? ความจริงแล้วการปฏิเสธร่วมงานเลี้ยงไม่ได้ส่งผลเสียอย่างที่หลายคนกังวล เพราะแม้แต่คนจัดงานก็เข้าใจและไม่ได้คิดมากหากถูกปฏิเสธ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีงานวิจัยทางจิตวิทยายืนยัน
- งานเลี้ยงปีใหม่ออฟฟิศ ไม่อยากไปก็ปฏิเสธได้
ที่ผ่านมา บางคนอาจรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไรนักเมื่อต้องปฏิเสธการเข้าร่วมงานเลี้ยงต่างๆ โดยเฉพาะ “งานเลี้ยงปีใหม่ออฟฟิศ” เพราะส่วนมากมักเกรงใจหัวหน้างานและผู้บริหาร ทำให้ไม่กล้าปฏิเสธไปตรงๆ และต้องพยายามหาเหตุผลต่างๆ สารพัด มาเป็นข้ออ้างเพราะไม่อยากจะดูเป็นคนหยาบคาย ไม่เป็นมิตร และบางคนก็มองว่าหากปฏิเสธไปแล้วอาจส่งผลเสียต่อหน้าที่การงานในอนาคต หรือความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน
แต่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะมีผลวิจัยล่าสุดของ จูเลียน กีวี (Julian Givi) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเวสต์ เวอร์จิเนีย (West Virginia University) ซึ่งได้ทดลองในกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2,000 คนในสหรัฐ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และคนที่มีความสัมพันธ์กันในชีวิตจริง พบว่า เจ้าภาพงานเลี้ยงที่ถูกปฏิเสธไม่ได้คิดมากหรือน้อยใจอย่างที่หลายคนกังวล
โดยการศึกษาขั้นแรกจะเป็นรูปแบบออนไลน์ มีกลุ่มตัวอย่าง 382 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจะเป็นฝ่ายที่ได้รับคำเชิญสมมติขึ้นมา เพื่อให้เข้าร่วมงานนิทรรศการในช่วงสุดสัปดาห์ และได้รับโจทย์ให้บอกปฏิเสธไปเพราะต้องการอยู่บ้านพักผ่อน และต้องประเมินด้วยว่าฝ่ายที่เป็นผู้เชิญจะโกรธและน้อยใจหรือไม่เมื่อถูกปฏิเสธ
ส่วนกลุ่มที่สองจะได้รับบทเป็นฝ่ายเชิญและต้องประเมินตนเองหลังถูกปฏิเสธว่ารู้สึกอย่างไร หลังจากนั้นก็ได้ข้อสรุปว่า แม้จะถูกปฏิเสธแต่ก็ไม่ได้รู้สึกโกรธหรือคิดมาก แถมยังเข้าใจเข้าใจด้วยซ้ำว่าอีกฝ่ายรู้สึกเหนื่อยและต้องการพักผ่อน
หลังจากนั้นก็ปรับรูปแบบมาใช้กับคนที่มีความสัมพันธ์กันในชีวิตจริง ตอนแรกหลายคนเชื่อว่าผลการทดลองน่าจะเปลี่ยนไป โดยมองว่าคนชวนก็อาจจะน้อยใจและคิดมาก ส่วนฝั่งคนปฏิเสธก็มองว่าตนเองอาจถูกลดความสำคัญและไม่ได้รับเชิญอีก แต่ผลวิจัยกลับไม่ออกมาเป็นเช่นนั้น เนื่องจากฝ่ายที่เป็นคนเชิญก็ไม่ได้คิดมากอะไร
จากการทดลองทั้ง 2 รูปแบบในครั้งนี้ จูเลียน อธิบายว่า ที่ผ่านมาคนที่ปฏิเสธคำเชิญมักจะคิดไปล่วงหน้าว่าทำให้อีกฝ่ายคิดมาก และอาจส่งผลเสียกับตัวเองโดยเฉพาะการทำให้คนอื่นไม่พอใจและปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมา แต่แท้จริงแล้วก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ต่อมาทีมวิจัยได้ศึกษาเพิ่มเติมในสถานการณ์เดียวกัน แต่เปลี่ยนไปเน้นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคู่รักกัน ดังนี้
- คู่รักที่อยู่ด้วยกันน้อยกว่า 6 เดือน ร้อยละ 4
- คู่รักที่อยู่ด้วยกัน 6-12 เดือน ร้อยละ 1
- คู่รักที่อยู่ด้วยกัน 1-5 ปี ร้อยละ 21
- คู่รักที่อยู่ด้วยกันมากกว่า 5 ปี ร้อยละ 74
จากนั้นทำการวิจัยโดยการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ชวนอีกคนไปทำกิจกรรมร่วมกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และให้อีกฝ่ายปฏิเสธ แต่ผลลัพธ์ก็ยังออกมาเหมือนกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ว่า ฝ่ายที่ถูกปฏิเสธไม่ได้คิดมากหรือมีปัญหาหากถูกปฏิเสธ ไม่ว่าพวกเขาจะคบกันนานแค่ไหนก็ตาม
ดังนั้นการที่พนักงานจะ “ปฏิเสธการเข้าร่วมงานเลี้ยงปีใหม่ออฟฟิศ” สรุปว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ และไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร แต่ก็ควรเลือกวิธีปฏิเสธที่สุภาพและเหมาะสม เพื่อเป็นการถนอมน้ำใจเจ้าภาพ (หรือเจ้านาย)
- ปฏิเสธร่วมงานเลี้ยงปีใหม่อย่างไร ให้สุภาพและถนอมน้ำใจ
แม้ว่า “การปฏิเสธ” จะไม่ได้ทำให้เจ้าภาพมีปัญหากับเรา แต่เชื่อว่าหลายคนก็ต้องการรักษาน้ำใจด้วยการปฏิเสธอย่างสุภาพ และถ้าหากใครยังคิดไม่ออกว่าจะปฏิเสธแบบไหนเรามีตัวอย่างมาแนะนำ
1. อย่ามองข้ามคำเชิญ แม้ว่าคุณไม่สะดวกเข้าร่วม แต่เมื่อได้รับคำเชิญแล้วก็ควร “กล่าวขอบคุณ” ด้วยความจริงใจก่อน ไม่ควรเพิกเฉย
2. เมื่อรู้ว่าไม่สะดวกเข้าร่วมให้รีบปฏิเสธทันที เพื่อให้เจ้าภาพสามารถจัดเตรียมงานได้สะดวก โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ
3. ปฏิเสธด้วยเหตุผล เพื่อแสดงออกถึงความจริงใจ ไม่ใช่ข้อแก้ตัว เพียงแค่ปฏิเสธไปตามตรง ไม่ต้องพยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาเพื่ออธิบายให้ตัวเองดูดี
4. ขอเข้าร่วมในโอกาสต่อไปแทน หากคุณไม่สะดวกเขาร่วมงานในครั้งนี้จริงๆ แต่คิดว่าสามารถเข้าร่วมในโอกาสต่อไปได้ ให้บอกเจ้าภาพไปตามตรงว่าครั้งนี้ไม่สะดวกจริงๆ แต่โอกาสหน้าจะไม่พลาด
5. ส่งของขวัญให้ สำหรับใครที่ไม่สะดวกเข้าร่วม แต่ยังอยากมีส่วนร่วมกับงานเลี้ยง การส่งของขวัญไปร่วมจับฉลาก หรือส่งของขวัญให้เจ้านายก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
ท้ายที่สุดนี้ ย้ำอีกทีว่า การปฏิเสธ “งานเลี้ยงปีใหม่” ของบริษัท สามารถทำได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือคิดไปเองว่าจะกระทบกับหน้าที่การงาน แต่ทั้งนี้ควรใช้วิธีพูดตรงๆ อย่างมีเหตุผล โดยลองเอาคำแนะนำข้างต้นไปปรับใช้ อีกทั้ง ไม่ควรปฏิเสธงานเลี้ยงหรือกิจกรรมของออฟฟิศทุกงาน เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กันนอกเหนือเวลางานบ้าง ก็ถือเป็นข้อดีและมีประโยชน์ในการทำงานร่วมกันของคนในทีม
อ้างอิงข้อมูล : Eurekalert, The Guardian และ The Spruce