สายตี้ต้องระวัง! ดื่มเต็มคาราเบลไม่พัก เสี่ยง “โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน”
ช่วงสิ้นปีแบบนี้แน่นอนว่ามีหลายคนวางแผนจะดื่มฉลองกันอย่างเต็มที่ แต่พฤติกรรมนี้อาจเป็นภัยถึงชีวิตได้ เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ รวดเดียว เพิ่มความเสี่ยงการเกิด “โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน” ได้ และบางรายอาจเสียชีวิต
สำหรับช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับ “ปีใหม่ 2566” หลายคนวางแผนจะดื่มสังสรรค์กับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก และบางคนอาจอยู่ระหว่างเดินสายปาร์ตี้ปีใหม่กันแล้ว โดยประโยคที่มักได้ยินกันในวงสังสรรค์คงหนีไม่พ้น “หมดแก้ว” ซึ่งเป็นเรื่องสบายๆ สำหรับสายดื่มอยู่แล้ว แต่ความจริง พฤติกรรมนี้กำลังเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็น “โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน” โดยไม่รู้ตัว และต้องรีบนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินทันทีเมื่อมีอาการ
รู้หรือไม่? โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ถือเป็นภัยเงียบที่อยู่คู่กับนักดื่มที่มักจะดื่มแอลกอฮอล์ทีเดียวคราวละมากๆ หรือคนที่ดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานานและดื่มเป็นจำนวนมากในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะช่วงปีใหม่แบบนี้ หลายคนอาจสนุกกับบรรยากาศกินเลี้ยงและดื่มสังสรรค์จนลืมตัวเผลอดื่มหนักแบบไม่ยั้ง ก็ทำให้เสี่ยงต่อโรคนี้ได้ง่าย
แน่นอนว่าการดื่มแอลกอฮอล์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไปและบ่อยเกินไป ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น ไขมันสะสมในตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง และที่อันตรายที่สุดคือ มะเร็งตับ แต่นอกจากโรคภัยที่เกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาวแล้ว ในระยะสั้นก็พบปัญหาเช่นกันนั่นคือ “โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน”
- รู้จัก “โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน”
โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pancreatitis) คือ ภาวะที่ตับอ่อนเกิดการอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน เกิดจากการอักเสบบริเวณเซลล์ของตับอ่อน อันเนื่องมาจากน้ำย่อยในตับอ่อนไหลผ่านท่อของตับอ่อนไม่ได้ ส่งผลให้น้ำย่อยไปย่อยเนื้อเยื่อตับอ่อนแทน จึงเกิดการอักเสบอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยปกติแล้วอาการจะดีขึ้นภายใน 1 - 2 สัปดาห์ หลังเข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ แต่ในกรณีที่รุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา
- เช็กอาการ ความรุนแรง และประเภทของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
หากคุณมีอาการเหล่านี้ระหว่างดื่มหรือหลังดื่มแอลกอฮอล์ อาจต้องสงสัยไว้ก่อนว่าเข้าข่ายเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันและให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- ปวดช่วงกลางหน้าท้องรุนแรง เฉียบพลัน
- ปวดนานตั้งแต่ 10 นาที ถึงชั่วโมง
- ปวดร้าวลงไปกลางหลัง
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
- มีไข้ ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำ
- กดแล้วเจ็บท้อง แต่ท้องไม่แข็ง
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว
สำหรับความรุนแรงของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. ตับอ่อนอักเสบเล็กน้อย จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นระบบ
2. ตับอ่อนอักเสบรุนแรงปานกลาง จะมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ และมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นระบบคือภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลว แต่จะมีอาการดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง
3. ตับอ่อนอักเสบรุนแรงมาก มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นระบบ การทำงานของอวัยวะล้มเหลวและมีอาการมากกว่า 48 ชั่วโมง
นอกจากนี้โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ตับอ่อนอักเสบบวมน้ำ ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โดยเนื้อตับอ่อนจะบวม มีการสะสมของสารน้ำรอบตับอ่อน
2. ตับอ่อนอักเสบที่มีเนื้อตาย พบได้ประมาณ 5 - 10% มีเนื้อตายของตับอ่อนจากการที่เลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอและมีเนื้อตายรอบตับอ่อน ส่วนใหญ่เกิดร่วมกัน ในบางรายอาจเกิดลักษณะใดลักษณะหนึ่งได้ แต่เป็นส่วนน้อย
- การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ทำได้อย่างไรบ้าง?
โดยทั่วไปผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 2-3 วัน หรือนานกว่านั้นหากมีอาการตับอ่อนอักเสบชนิดรุนแรง โดยแบ่งวิธีการรักษาตามอาการ ดังนี้
- โรคตับอ่อนอักเสบแบบไม่รุนแรง แพทย์จะเฝ้าสังเกตสัญญาณชีพ ให้ยาบรรเทาอาการ และให้สารน้ำทางหลอดเลือดดํา
- โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันแบบปานกลางถึงรุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตสูง แพทย์อาจให้งดรับประทานอาหารในช่วงแรก โดยผู้ป่วยจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำและอาหารทางสายยางจนกว่าการทำงานของระบบทางเดินอาหารจะกลับมาเป็นปกติ และหากตับอ่อนได้รับความเสียหายจนมีเนื้อตายหรือติดเชื้ออย่างรุนแรง แพทย์อาจส่องกล้องเพื่อตัดเอาเนื้อตายบริเวณตับอ่อนออก ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ
- โรคตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 30-50 จะกลับมามีอาการใหม่ได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดถุงน้ำดีก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล
- สาเหตุและวิธีป้องกัน
แน่นอนว่าสาเหตุหลักของโรคที่เกี่ยวข้องกับตับ ส่วนใหญ่จะมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนสาเหตุสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ “โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน” สามารถแบ่งได้ดังนี้
1. ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนมากดื่ม 50 กรัมขึ้นไปต่อวัน ไม่น้อยกว่า 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 25 - 35
2. นิ่วในถุงน้ำดี พบมากถึงร้อยละ 40 - 70 มักเกิดจากนิ่วที่หลุดออกมาจากถุงน้ำดีและมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร
3. สาเหตุอื่นๆ เช่น ระดับแคลเซียมในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง การใช้ยาบางชนิด เนื้องอกตับอ่อน โรคตับอ่อนที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
สำหรับวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ “งดดื่มแอลกอฮอล์” แต่สำหรับผู้ที่ชอบดื่มอาจต้องเริ่มจากการลดปริมาณการดื่มลงก่อน นอกจากนี้การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ก็สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ และหากมีนิ่วในถุงน้ำดีควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด
แน่นอนว่าในช่วงเทศกาลสำหรับใครหลายคนอาจเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการดื่มสังสรรค์ เพราะสำหรับบางคนเทศกาลนี้หมายถึงการกลับบ้านไปหาครอบครัวหรือเพื่อนเก่าที่ไม่เจอกันนานเพียงครั้งเดียวในหนึ่งปี หากเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ ควรดื่มแต่น้อยและทิ้งช่วงในการดื่ม ก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้
อ้างอิงข้อมูล : รพ.พระรามเก้า, รพ.MedPark และ รพ.กรุงเทพ