“โรคหลอดเลือดสมอง” เช็กพฤติกรรมเสี่ยง พร้อมวิธีป้องกันด้วยการตรวจ TCD

“โรคหลอดเลือดสมอง” เช็กพฤติกรรมเสี่ยง พร้อมวิธีป้องกันด้วยการตรวจ TCD

"โรคหลอดเลือดสมอง" หรือ "Stroke" เป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงลำดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต รวมถึงมีผู้ป่วยอายุน้อยลงเรื่อยๆ ชวนรู้ปัจจัยเสี่ยง พร้อมวิธีป้องกันด้วยการ “ตรวจการไหลเวียนของหลอดเลือดในสมอง (TCD)”

หนึ่งในภัยร้ายใกล้ตัวของคนไทยปัจจุบันนี้หนีไม่พ้น “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือ “Stroke” ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพบว่า ในปี 2563 มีผู้ป่วยรายใหม่อายุเพียง 15 ปี และในประชากรไทย 100,000 คน จะมีคนเสี่ยงเป็น Stroke อยู่ที่ 328 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งในรายงานของกรมควบคุมโรคยังระบุว่า Stroke เป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของการเสียชีวิต และอันดับ 3 ของความพิการ

นอกจากนี้ การสำรวจในปี 2562 ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มากกว่า 101 ล้านคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 12.2 ล้านคน เท่ากับมีผู้ป่วยใหม่ 1 คนในทุก 3 วินาที และเสียชีวิต 6.5 ล้านคน

สำหรับประเทศไทยจากสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด 34,545 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในแต่ละปีตั้งแต่ 2560-2564 พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 479, 534, 588 และ 645 ราย พร้อมกับอัตราตายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2560 - 2563 พบอัตราตายต่อประชากรแสนคนจาก “โรคหลอดเลือดสมอง” เท่ากับ 48, 47, 53 และ 53

ดังนั้นต้องยอมรับว่าโรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพของคนไทยอย่างแท้จริง เพราะเป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากมะเร็ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ต้องเฝ้าระวัง แต่คน “วัยทำงาน” เองก็ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน 

 

  • ทำความเข้าใจ อะไรคือ Stroke?

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke นั้น เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองเกิดการตีบ อุดตัน หรือแตกอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนดังกล่าวหยุดลงทันที ทำให้เนื้อสมองถูกทำลาย เพราะขาดออกซิเจน และสารอาหาร และเนื่องจากสมองของมนุษย์แต่ละส่วนควบคุมการทำงานของอวัยวะแตกต่างกัน  ดังนั้นถ้ามีสมองส่วนใดถูกทำลายไปก็จะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในส่วนนั้น หากผู้ป่วย Stroke ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจนทำให้สมองเกิดความเสียหายมาก ก็จะเกิดผลเสียตามมา เช่น

1. อัมพาตครึ่งตัว

2. ปัญหาการพูด การเข้าใจ การตัดสินใจ และการกลืน

3. สูญเสียการทรงตัว นำไปสู่ปัญหาการยืน และการเดิน

4. สูญเสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง เป็นต้น

 

  • ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด Stroke มีอะไรบ้าง? และอาการเฝ้าระวัง

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด Stroke นั้น มีตั้งแต่ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ไปจนถึงด้านพฤติกรรม ดังนี้

- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด

- เชื้อชาติ (แอฟริกัน-อเมริกัน มีความเสี่ยงสูงกว่าชนชาติอื่น)

- หลอดเลือดแดงแข็งจากคราบไขมัน ส่งผลให้เลือดข้น มีระดับเม็ดเลือดแดงสูง

- ภาวะไขมันในเลือดสูง

- โรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ

- สูบบุหรี่

- ดื่มแอลกอฮอล์

- ความดันโลหิตสูง

- เบาหวาน

- อายุมาก

- การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน

- เพศ (เพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่า)

และสำหรับใครที่รู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาจมีความเสี่ยงเป็น Stroke ได้ นั่นคือ

- มีอาการชาหรืออ่อนแรงใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งฉับพลัน มุมปากตก ปากเบี้ยว อมน้ำไม่อยู่ น้ำไหลออกจากมุมปาก

- มีอาการชาหรืออ่อนแรงที่แขนขาซีกใดซีกหนึ่งฉับพลัน สูญเสียการทรงตัว

- พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สับสน  นึกคำพูดไม่ออก

- การมองเห็นมีปัญหาฉับพลัน เช่น เห็นภาพซ้อน มองเห็นภาพครึ่งเดียว ตาบอดหนึ่งหรือสองข้าง

- มีอาการปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน

 

  • ตรวจสุขภาพอย่างไรให้ห่างไกล Stroke?

การแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก ทำให้การเฝ้าระวัง และป้องกัน “โรคหลอดเลือดสมอง” ทำได้ดีมากกว่าในอดีต หนึ่งในวิธีที่มีส่วนช่วยป้องกัน Stroke ได้ก็คือ การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะช่วยให้เราสามารถระมัดระวังตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงจากพฤติกรรม และพันธุกรรมดังกล่าวข้างต้น

การตรวจสุขภาพที่เน้นการป้องกันเรื่อง Stroke โดยเฉพาะนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการ “ตรวจการไหลเวียนของหลอดเลือดในสมอง” หรือ Transcranial Doppler (TCD) เพื่อตรวจดูการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นความถี่สูง และประเมินการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดสมอง เพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม ภาวะลิ่มเลือดขนาดเล็กที่อาจหลุดมายังหลอดเลือดสมองได้

นอกจากนี้ในบางกรณียังสามารถตรวจดู “ภาวะสมองตาย” จากการติดเชื้อในสมอง (แล้วแต่กรณี) ตรวจหาลิ่มเลือดขนาดเล็กที่หลุดจากหัวใจ หรือคราบไขมันที่ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ แต่สำหรับการตรวจด้วย TCD นั้น จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเท่านั้น

 

  • ผู้ป่วย Stroke ต้องเผชิญทั้งผลเสียฉับพลัน และระยะยาว!

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้น จะต้องเผชิญกับอาการป่วยฉับพลัน ทั้งสูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เคลื่อนไหวไม่ประสานงานกัน เกิดความเสียหายต่อก้านสมอง ทำให้การหายใจหรือการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือหมดสติ เป็นต้น

หากรักษาไม่ทันก็ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต และแม้ว่าจะเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที  ไม่เสียชีวิต แต่หลังจากนั้นก็ใช่ว่าผู้ป่วยจะกลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิม เนื่องจากสมองได้รับความเสียหายไปแล้ว ส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ต้องทำกายภาพบำบัดเป็นเวลานานหลายเดือนหรือตลอดชีวิต เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา เสียสุขภาพจิต

ท้ายที่สุดแล้ว วัยทำงานทุกคนควรหันมาใส่ใจพฤติกรรมด้านสุขภาพ และดูแลตนเองมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด Stroke และปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา

--------------------------------------------

อ้างอิง : Medpark Hospital, รพ. ศิครินทร์, รพ. กรุงเทพ, รพ.พญาไท, รพ.เปาโล, พบแพทย์กรมประชาสัมพันธ์

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์