อยากแยกตัวจากสังคม! บ่งชี้ภาวะ “เครียดไม่รู้ตัว” สังเกตตัวเองเข้าข่ายไหม?

อยากแยกตัวจากสังคม! บ่งชี้ภาวะ “เครียดไม่รู้ตัว” สังเกตตัวเองเข้าข่ายไหม?

หากมีความรู้สึกว่าอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากสุงสิงกับใคร เริ่มนิ่งเงียบ ไม่พูดคุย ใครมีอาการแบบนี้ต้องระวัง! เพราะคุณอาจเสี่ยงกับภาวะ “เครียดไม่รู้ตัว”

ความเครียด นั้นเป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ที่คนในสังคมต่างใช้ชีวิตกันอย่างเร่งรีบและกดดันทั้งจากเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากสภาพสังคมที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ บางคนมีความกดดันมาก และมีความคาดหวังในชีวิตสูงและเมื่อไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง  ทำให้มีอาการเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน

นอกจากนี้บางคนอาจจะเป็น “โรคซึมเศร้า (Depressive disorder)” หรือ “โรควิตกกังวล (Anxiety disorders)” ตามมาในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้ต้นตอล้วนมาจาก “ภาวะเครียดไม่รู้ตัว” ส่งผลให้เกิดความ “เครียดสะสม” ซึ่งหากแก้ไขได้ทันก็สามารถรักษาสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้

เช็ก 7 สัญญาณบ่งชี้ภาวะ “เครียดไม่รู้ตัว”

เมื่อใดที่เริ่มมีอาการเครียดมากขึ้นจะส่งผลให้สุขภาพร่างกายแย่ลง ซึ่งหากใครสงสัยว่าตนเองมีภาวะดังกล่าวหรือไม่ สามารถเริ่มสังเกตพฤติกรรมของตนเองได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ดังนี้ 

1. การนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็วเกินไป หรือ ตื่นกลางดึก

2. อารมณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น นิ่งเงียบ ไม่พูดคุย เบื่อหน่ายชีวิต วิตกกังวล และ ความต้องการทางเพศลดลง

3. อาการเครียดที่แสดงออกทางกาย เช่น  หายใจถี่ขึ้น หรือ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว หรืออาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วย

4. ผู้ที่มีความเครียดสะสมมากๆ อาจมีความคิดอยากตาย

5. เริ่มใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือต้องการเสพสารเสพติด สำหรับในคนที่ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อยู่แล้วก็อาจพบว่าตนเองดื่มและสูบมากขึ้น

6. รู้สึกตัดสินใจไม่ได้ ลังเล หรือบางครั้งนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด

7. ตีตัวออกห่างจากสังคม

เมื่อมีความรู้สึก “เครียด” ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

ในเบื้องต้นนั้นความเครียดถือเป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง โดยสามารถฝึกตนเองให้ผ่อนคลายและคลายเครียดได้ด้วย 5 วิธีเหล่านี้ ได้แก่

1. พยายามมองโลกในแง่บวก ลองมองหาสาเหตุของปัญหา และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

2. จัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวใหม่ เช่น จัดบ้าน หรือ โต๊ะทำงานใหม่ เพื่อลดอาการเบื่อหน่าย

3. บำบัดตัวเองง่ายๆ ด้วยการทำสิ่งที่ตนเองชอบ

4. ออกไปหาสถานที่ผ่อนคลาย เช่น ไปเที่ยวสถานที่ธรรมชาติ หรือ สวนสาธารณะ

5. ออกไปพบปะเพื่อนฝูงหรือใช้เวลากับครอบครัว เพราะการที่ได้พูดคุย หรือ ปรึกษาปัญหาที่กำลังเผชิญนั้น สามารถลดความเครียด ลดความกดดันในชีวิตได้

การรักษาภาวะเครียดสะสม

“ภาวะเครียดสะสม” นั้นสามารถสร้างความกังวลและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ในกรณีที่มีอาการเครียดสะสมมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้างได้ การไปพบจิตแพทย์ถือเป็นอีกทางเลือกสำคัญสำหรับผู้ที่กำลังเผชิญภาวะเครียดสะสม  เนื่องจากเป็นการบำบัดด้วยแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยบรรเทาอาการเครียดสะสมให้ลดลงได้ และมีคำแนะนำที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้ป่วยคลายความเครียดได้อย่างถูกวิธี

หากรู้สึกเครียด วิตกกังวล จนไม่สามารถควบคุมความรู้สึกเหล่านี้ได้ หรือมีความเครียดสะสมต่อเนื่อง เป็นระยะเวลนานจนไม่มีความสุข และมีอาการที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน มีอาการทางกาย อาการทางอารมณ์ การพบจิตแพทย์คือทางออกที่ดีที่สุด

ภาวะเครียดสะสมต้นเหตุของหลากหลายโรค

นอกจากนี้ หากปล่อยให้ร่างกายและจิตใจเกิดอาการเครียดไม่รู้ตัว หรือ อาการเครียดสะสมดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่แก้ไข ก็จะทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากภาวะเครียดทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น

- โรควิตกกังวล

- โรคกลัว (โฟเบีย)

- โรคแพนิค

- โรคเครียดที่มีอาการทางกาย

- โรคย้ำคิดย้ำทำ

- โรคซึมเศร้า

- โรคความดันโลหิตสูง

- โรคหัวใจ

ภาวะเครียดสะสมนั้นหากมองเพียงผิวเผินอาจจะเหมือนอาการเครียดทั่วไปที่สามารถหายได้เอง แต่ความจริงแล้วส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต นอกจากนั้นยังส่งผลเสียต่อผู้คนรอบข้างอีกด้วย เพราะฉะนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าวเป็นเวลานานและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ทันทีก่อนที่ปัญหาจะบานปลายไปสู่โรคภัยอื่นๆ

อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์ และ See Doctor Now