รู้จัก “โรคทูเร็ตต์” เมื่อระบบประสาทผิดปกติ ทำให้ตัวกระตุกโดยไม่ตั้งใจ
การขยับตัวไปมาในท่าทางแปลกๆ หรือการเปล่งเสียงออกมาโดยไม่มีความหมายของใครบางคน อาจดูเหมือนเรื่องตลก แต่ความจริงแล้วพวกเขากำลังเผชิญอาการป่วยจาก “โรคทูเร็ตต์” ที่เกิดจากความผิดปกติของสมองและระบบประสาท
การกะพริบตาถี่ๆ, ย่นจมูก, กระตุกมุมปาก, สะบัดคอ ไปจนถึงกระโดดตบ หรือบางครั้งมีการเปล่งเสียงออกมาแบบไม่มีความหมาย อาการเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องตลกหรือเรื่องแปลกสำหรับบางคนที่ไม่เข้าใจอาการของ “โรคทูเร็ตต์” ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกซ้ำๆ โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจ โดยอาการเหล่านี้มีอันตรายถึงขั้น “ทำร้ายตัวเอง” ของผู้ป่วยได้
โรคทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome) อยู่ในกลุ่มเดียวกับ โรคติกส์ (Tics) ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาท มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนใหญ่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักมีอาการรุนแรงในช่วงวัยรุ่นตอนต้น แต่อาการมักดีขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุของโรคที่ชัดเจน ผู้ป่วยจะมีอาการ “กล้ามเนื้อกระตุก” และส่งเสียงออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ควบคุมตัวเองไม่ได้ โดยทั้ง 2 อาการอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหรือเกิดขึ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หากมีอาการหนักอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้
แม้ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดของโรคไม่ได้ แต่จากการสันนิฐานทางการแพทย์เชื่อว่า อาจมีสาเหตุจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ปัจจัยทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวของผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคนี้อยู่เดิม ก็จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคได้มากขึ้น
- ปัจจัยการทำงานของสมอง จากการศึกษาพบว่าสารสื่อประสาทบางตัว เช่น โดปามีน (Dopamine) มีความไม่สมดุล
- ปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียดทางด้านจิตใจ
- อาการแบบไหนเข้าข่ายป่วยเป็น “โรคทูเร็ตต์” ?
1. อาการแบบไม่ซับซ้อน มักส่งผลต่อกล้ามเนื้อร่างกายบางส่วน เช่น กะพริบตา ขยิบตา กลอกตา ยักไหล่ ผงกศีรษะ แลบลิ้น ปากกระตุกหรือจมูกกระตุก เป็นต้น
2. การส่งเสียงโดยไม่ได้ตั้งใจแบบไม่ซับซ้อน เช่น เสียงคราง เสียงกระแอมไอ เสียงเห่า อาการสะอึก เป็นต้น
3. อาการกระตุกของกล้ามเนื้อแบบซับซ้อน เช่น สัมผัสหรือดมสิ่งของ ดัดหรือบิดตัว กระโดด เป็นต้น หากอาการหนักผู้ป่วยอาจทำร้ายตัวเองได้
4. การส่งเสียงโดยไม่ตั้งใจแบบซับซ้อน เช่น พูดซ้ำๆ พูดทวนคำผู้อื่น พูดคำหยาบคาย เป็นต้น
- หากเด็กป่วยโรคทูเร็ตต์ มีวิธีรักษาอย่างไร
แม้โรคทูเร็ตต์จะจัดอยู่ในกลุ่มอาการที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยสามารถจัดการกับอาการและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หากมีอาการรุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาด้วยการใช้ยา การทำจิตบำบัด หรือการผ่าตัด ดังนี้
1. การใช้ยา
เพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการของโรค ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ โดยยาที่แพทย์มักจ่ายให้ ได้แก่
- ยาระงับอาการทางจิต เช่น ยาฮาโลเพอลิดอล ยาฟลูเฟนาซีน ยารักษาโรคฮันติงตัน ซึ่งช่วยยับยั้งสารโดปามีนในสมองและช่วยควบคุมอาการโรคติกส์
- การฉีดโบทอกซ์ ควบคุมอาการกล้ามเนื้อกระตุกและอาการส่งเสียงโดยไม่ได้ตั้งใจ
- ยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยาเมทิลเฟนิเดต ช่วยลดอาการของโรคสมาธิสั้นและโรคติกส์
- ยาต้านอะดรีเนอร์จิกในระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยาโคลนิดีน มักใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ได้ตั้งใจได้
- ยาต้านเศร้า เช่น ยาฟลูออกซิทีน ช่วยควบคุมอาการที่เกิดร่วมกับโรค เช่น พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล และซึมเศร้า
ที่สำคัญยาเหล่านี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวซ้ำๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ
2. การทำจิตบำบัด
โดยการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหรือนักจิตวิทยา เพื่อบรรเทาอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดร่วมกับโรคทูเร็ตต์
3. การผ่าตัด
หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น แพทย์อาจพิจารณาให้รับการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก โดยการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าลงในสมอง เพื่อกระตุ้นไฟฟ้าไปยังส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคทูเร็ตต์
สำหรับอาการของโรคทูเร็ตต์ในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองหรือดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น แต่ระหว่างนั้นผู้ป่วยบางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่น
- โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล
- กลุ่มอาการออทิสติก
- โรคบกพร่องทางการเรียนรู้
- ความผิดปกติด้านการนอน
- ปวดศีรษะจากโรคติกส์
- ปัญหาการจัดการอารมณ์และความรู้สึก
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของ “โรคทูเร็ตต์” ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน ดังนั้นหากทราบว่าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูว่าตนเองเข้าข่ายป่วยเป็นโรคนี้ด้วยหรือไม่
หากตรวจพบว่าอาจมีความเป็นไปได้ว่าจะป่วยด้วยโรคนี้ ก็จะสามารถรักษาได้ทันเวลา แต่สิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยคือการได้รับการช่วยเหลือด้านจิตใจ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าเลยว่าตัวเองจะแสดงพฤติกรรมใดออกมาในที่สาธารณะโดยไม่ได้ตั้งใจ และอาจถูกล้อเลียนจากสังคมได้ ดังนั้นครอบครัว เพื่อนสนิท คนรอบข้างที่เข้าใจ คือปัจจัยสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยเข้มแข็งทางจิตใจได้
อ้างอิงข้อมูล : พบแพทย์ และ รพ.วิภาวดี