‘รี้ดเทรดเด็กซ์’ ลุ้นคลายล็อกเฟส 4 ทวงรายได้ ‘เอ็กซิบิชั่น’ ครึ่งหลัง
วิกฤติโควิด-19 ฉุดตลาดงานแสดงสินค้า (เอ็กซิบิชั่น) ในไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี จนต้องเลื่อนการจัดงานออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะการรวมตัวของคนหมู่มากอาจเป็นเหตุให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย
กระทั่งประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้นในปัจจุบัน จนเป็นที่มาของการ “คลายล็อก เฟส 3” ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ประกาศให้กลุ่มธุรกิจศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์การประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ สามารถเปิดบริการได้วานนี้ (1 มิ.ย.) เป็นวันแรก โดยจำกัดพื้นที่รวมไม่เกิน 20,000 ตารางเมตร
วราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ รี้ด เทรดเด็กซ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลเคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าการ“คลายล็อก เฟส 4” น่าจะเกิดขึ้นกลางเดือน มิ.ย.นี้ บริษัทฯจึงประเมินว่าจะหนุนให้สามารถจัดงานเอ็กซิบิชั่นขนาดใหญ่ได้อีกครั้ง
โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) ได้รายงานว่าจะมีการจัดงานเอ็กซิบิชั่นกว่า 51 งาน บนพื้นที่รวมกว่า 3 แสนตารางเมตร คาดสร้างรายได้สะพัดไม่ต่ำกว่า 4,300 ล้านบาทหากสามารถจัดงานได้ และแน่นอนว่าผู้ประกอบการด้านเอ็กซิบิชั่นต้องยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยเพื่อรักษาชื่อเสียงของธุรกิจ ให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องวางใจเรื่องความปลอดภัย
“หากรัฐบาลประกาศคลายล็อกเฟส 4 งานเอ็กซิบิชั่นขนาดใหญ่ก็น่าจะกลับมาจัดได้อีกครั้ง แต่ยังต้องเฝ้าระวังการจัดงานในไตรมาสที่ 3 ว่าผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศจะสามารถเดินทางมาไทยได้หรือไม่ พร้อมติดตามว่าสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะมีการปลดล็อกหรือขยายเวลาห้ามเที่ยวบินเชิงพาณิชย์บินเข้าไทยชั่วคราวต่อเนื่อง จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ รวมถึงนโยบายด้านการบินของประเทศต้นทางต่างๆ และการเดินทางเข้าออกไทยยังต้องกักกันตัวเพื่อเฝ้าระวังโรคอีกหรือไม่”
หลังจากภาพรวมอุตสาหกรรมงานเอ็กซิบิชั่นปีนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจากข้อมูลผลกระทบที่เกิดกับงานแสดงสินค้าที่ทีเส็บให้การสนับสนุนในปีงบประมาณ 2563 โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าช่วงครึ่งปีแรกมีงานที่ถูกเลื่อนออกไป 22 งาน ยกเลิก 3 งาน สูญเสียเงินสะพัดในประเทศที่ควรจะเกิดการใช้จ่ายของผู้ร่วมงานชาวต่างชาติจำนวน 46,000 รายที่ไม่ได้เดินทางเข้ามา คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 3,400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 บริษัทฯได้เดินหน้าพัฒนางานเอ็กซิบิชั่นรูปแบบไฮบริด(Hybrid Exhibition)เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการร่วมงาน เช่น การใช้บิ๊กดาต้าเพื่อวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น เน้นความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การให้บริการแบบ Personalized Exhibition Experience รวมถึงการพัฒนา AI เพื่อใช้ในการจับคู่เจรจาทางธุรกิจ เพื่อเสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ร่วมงาน
“วิกฤติโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งให้บริษัทฯต้องรุกเพิ่มบริการด้านดิจิทัลมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการพัฒนากลยุทธ์Hybrid Exhibition 365วัน เพื่อรองรับ New Normal หรือความต้องการของผู้แสดงสินค้าและผู้ชมงานภายใต้วิถีใหม่ได้ตลอดทั้งปี”
โดยกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นการผสมผสานระหว่างบริการด้านดิจิทัลกับการพบปะเจรจาธุรกิจกันแบบตัวต่อตัว (Face-to-Face)ซึ่งมีงานวิจัยชี้ว่า 70-93%ของการสื่อสารมาจากภาษากาย การได้สัมผัสสินค้าด้วยตัวเอง และการได้พบปะเพื่อนร่วมวงการเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น “ทรงพลัง”กว่าการเห็นหน้ากันผ่านหน้าจอ ขณะที่บทความของHarvard Business Reviewระบุว่า การสื่อสารแบบตัวต่อตัวมีประสิทธิภาพมากกว่าการสื่อสารผ่านอีเมลถึง 34 เท่า
วราภรณ์ เล่าเพิ่มเติมว่าเมื่อเจอวิกฤตินี้ “รี้ด เทรดเด็กซ์” จำต้องปรับประมาณการณ์รายได้ปีนี้ลดลง 10-15% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 เคยตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ปีนี้ไว้ที่ 10%
หลังแนวโน้มผู้แสดงสินค้าที่ร่วมออกงานกับบริษัทฯตลอดปีนี้ มีแนวโน้มยกเลิกการเข้าร่วมงาน 10-15%จากข้อจำกัดการเดินทางและธุรกิจได้รับผลกระทบ ขณะที่ผู้แสดงสินค้าบางส่วน 15-20%ยังสองจิตสองใจ อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมงานที่เหลือภายในปีนี้หรือไม่
โดยทางบริษัทฯได้พิจารณาปรับเลื่อนงานเอ็กซิบิชั่น 2 งานที่มีกำหนดจัดเดิม มิ.ย.นี้ไปจัดระหว่างวันที่ 14-17 ธ.ค.นี้แทน ได้แก่ งานอินเตอร์พลาส ไทยแลนด์ และงานเนปคอน ไทยแลนด์ ส่วนอีก 3 งานที่ยังคงกำหนดจัดตามเดิมในช่วงครึ่งหลังปีนี้ คืองานไทล็อก-โลจิสติกส์ วันที่ 26-28 ส.ค.นี้ งานคอสเม็กซ์ วันที่ 3-5 พ.ย.นี้ และงานเมทัลเล็กซ์ มหกรรมเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีโลหะการ วันที่ 18-21 พ.ย.นี้ ทั้ง 5 งานในครึ่งปีหลังของบริษัทฯจัดที่ไบเทค บางนาด้านงานใหม่ที่จะจัดขึ้นในปี 2564 มีจำนวน 2 งาน ได้แก่ งาน FacTech2021 และงาน Thai Corrugated & Thai Folding Carton2021 ในเดือน มิ.ย. และ ก.ค.ของปีหน้า ตามลำดับ