คมนาคมเดินหน้าโปรเจค EEC

คมนาคมเดินหน้าโปรเจค EEC

“คมนาคม” เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีเฟส 2 รวม 106 โครงการ วงเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาท ลุยแทรมพัทยาเชื่อมไฮสปีดเทรน หนุนการท่องเที่ยว พร้อมศึกษาสร้างรถไฟทางคู่ ขนส่งสินค้าเชื่อมนิคมอุตสาหกรรม - ท่าเรือแหลมฉบัง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานจัดทำแผนโครงการพื้นฐานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การประชุมครั้งนี้ได้หารือถึงแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซีที่กำหนดจะเปิดให้บริการ อาทิ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบัง และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

 

โดยการประชุมครั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้นำเสนอโครงการพัฒนาระบบราง น้ำ เรือ และอากาศ รวมจำนวน 106 โครงการ วงเงินรวมกว่า 2.52 แสนล้านบาท ซึ่งจะถูกพัฒนาในอีอีซี ระยะที่ 2 ช่วงระหว่างปี 2565 – 2570 นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ถูกยกยอดมาจากอีอีซีระยะที่ 1 ที่กำลังจะหมดกรอบระยะเวลาพัฒนาในปี 2564 นำมาจัดสรรงบประมาณในระยะที่ 2 และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

“คอนเซ็ปต์ระยะที่ 2 คือส่วนหนึ่งจะยกยอดโครงการในระยะที่ 1 มาพัฒนาต่อ เน้นตอบโจทย์สนับสนุนโครงการที่มีความชัดแล้ว เช่น สนามบิน ไฮสปีดเทรน ท่าเรือแหลมฉบัง เพราะเป้าหมายของอีอีซี ก็ยังเน้นการขนส่งสาธารณะ ขนส่งทางรางและการท่องเที่ยว ส่วนโครงการที่ไม่ตอบโจทย์อีอีซี ก็ให้นำออกไปพัฒนาในแผนบูรณาการโลจิสติกส์ประเทศ”

 

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานกลับไปทบทวนความจำเป็นของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะที่ 2 เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานในอีอีซีอย่างแท้จริง และไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณด้วย โดยขอให้กลับไปทบทวน พร้อมสำรวจความคิดเห็นของภาคเอกชน และนำกลับมาเสนอใหม่ภายในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่ออนุมัติงบประมาณ

 

ทั้งนี้ โครงการที่มีแนวโน้มถูกตัดออกจากแผนการลงทุนระยะที่ 2 อาทิ โครงการสร้างทางยกระดับ ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เนื่องจากปัจจุบันมีการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองที่ช่วยแก้ปัญหารถติดสะสมแล้ว รวมไปถึงโครงการขุดลอกแม่น้ำบางปะกง – เกาะศรีชัง ของกรมเจ้าท่า (จท.) ที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้า แต่เนื่องจากไม่สนับสนุนพื้นที่อีอีซี และท่าเรือแหลมฉบังอย่างชัดเจน ดังนั้นอาจถูกยกออกไปพัฒนาภายใต้แผนบูรณาการโลจิสติกส์ของประเทศ