‘เกษตรกรไทย’ กระดูกสันหลังชาติ ที่กำลังผุกร่อน?
"เกษตรกรไทย" ที่ถูกเปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังของชาติ วันนี้กระดูกยังคงแข็งแรงอยู่หรือไม่ หรือกำลังผุกร่อน แม้ที่ผ่านมาจะมีมาตรการช่วยเหลือหลายด้าน แต่ทำไมวันนี้เกษตรกรไทยถึงยังคงมีหนี้สิน และยังคงต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล
จากคำกล่าวที่ว่า “เกษตรกรไทย” เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เนื่องจากเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และเป็นผู้ผลิตปัจจัยพื้นฐานหนึ่งในปัจจัยสี่ หรือที่หลายคนพูดว่าไทยเปรียบเสมือนครัวของไทยและโลก
ขณะเดียวกันภาคการเกษตรยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึงหลักล้านล้านบาท หนุนจีดีพีไทยกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันเกษตรกรมีหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น และยังต้องเปลี่ยนสถานะจากผู้ถือครองที่ดินทำกิน ก็กลับกลายมาเป็นเพียงผู้เช่าเท่านั้น
ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องหนี้ของเกษตรกรไทย อยากจะพามาดูภาวะเศรษฐกิจของภาคการเกษตร หากดูข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในภาพกว้างๆ จะเห็นว่าภาคการเกษตรสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP กว่า 1.32 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 8.12% ของจีดีพีโดยรวม ส่วนใหญ่กว่า 91.79% มาจากการเกษตร การล่าสัตว์ ป่าไม้ และที่เหลือ 8.21% มาจากการประมง
แม้ตัวเลขจีดีพีภาคเกษตรจะน้อยกว่านอกภาคเกษตรอยู่มาก แต่เมื่อเจาะลึกลงไปที่ดุลการค้า กลับกลายเป็นว่า ปี 2561 ภาคเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เกินดุลอยู่กว่า 8.76 แสนล้านบาท ในทางกลับกันดุลการค้านอกภาคเกษตร ขาดดุลถึง 8.8 แสนล้านบาท ทำให้ภาพรวมในปีนั้นไทยขาดดุลไปราวๆ 4.65 พันล้านบาท
โดยสินค้าที่ไทยส่งออกสำคัญในปี 2561 คือ ยางธรรมชาติ ข้าว ผลไม้ ปลา เนื้อไก่ มันสำปะหลัง น้ำตาล กุ้ง และผัก
ขณะที่เจาะลึกไปถึงภาคครัวเรือนของเกษตรกร “ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์” เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวไว้ว่า ปี 2562 เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรอยู่ที่ 269,449 บาทต่อครัวเรือนต่อปี แม้จะเพิ่มสูงขึ้นราว 9.02% จากปีก่อนหน้า แต่ในส่วนของหนี้สินครัวเรือนเกษตร พบว่าอยู่ที่ 221,490 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 47%
โดยหนี้สินส่วนใหญ่กว่าครึ่ง หรือ 55% เป็นหนี้ที่เกษตรกรกู้มาเพื่อการเกษตร และที่เหลืออีก 45% กู้เพื่อนอกการเกษตร ซึ่งส่วนหลังนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน และทรัพย์สินอื่นๆ อีกปัจจัยสำคัญคือ มาจากเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายขึ้นเพื่อใช้สำหรับการลงทุน
และเมื่อนำรายได้มาหักค่าใช้จ่ายในการบริโภค ที่เกษตรกรใช้เฉลี่ยราวๆ 182,034 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และหักลบมาแล้ว ครัวเรือนเกษตรจะมีเงินสดคงเหลือ 87,414 บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 21%
มาถึงตรงนี้ จะเห็นว่าเงินสุทธิของเกษตรกรจริงๆ เฉลี่ยเป็นรายเดือนอยู่ที่ 7,200 กว่าบาทเท่านั้น หลายคนคงตั้งคำถามว่าทำไมเกษตรกรถึงจนลง?
เรื่องนี้ "รศ.วิทยากร เชียงกูล" อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้วิเคราะห์ถึงประเด็นคำถามถึงทำไมเกษตรกรไทยถึงจน ไว้ในคอลัมน์ปฏิรูปประเทศไทย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ไว้ว่ามาจาก 3 สาเหตุ คือ
1.ต้นทุนสูง แต่ขายได้ราคาต่ำกว่าราคาขายปลีกให้ผู้บริโภคและราคาที่ส่งออกมาก เนื่องจากต้องผ่านพ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคา อย่างเช่น ข้าว มีพ่อค้าส่งออกรายใหญ่ราวๆ 10 ราย ที่เป็นทั้งโรงสี ยุ้งฉาง จึงมีอิทธิพลค่อนข้างในการกำหนดราคาข้าวที่จะรับซื้อจากชาวนา
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือ เกษตรกรจำนวนมากไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องมือการผลิต เช่น ที่ดิน อุปกรณ์ทำนา ฯลฯ จึงทำให้เกษตรกรต้องเช่าที่ทำกิน รวมถึงการเช่าอุปกรณ์อื่นๆ ด้วย และเมื่อรายได้ไม่ได้มากเท่าที่ควรจะได้ จึงเกิดการกู้หนี้ยืมสินขึ้นมา ส่งผลให้รายจ่ายมากกว่ารายรับ และกลายเป็นหนี้ไปตลอดกาล ภาพที่เห็นคือ เกษตรกรต้องกู้หนี้ใหม่เพื่อไปใช้หนี้เก่า และถึงแม้จะรู้ตัวว่าทำเกษตรกรรมต่อไป ยังไงก็ขาดทุน แต่ยังคงต้องทำต่อไป เพราะไม่มีทางเลือกอื่น
สอดคล้องกับข้อมูลทางสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ระบุว่าขนาดของการถือครองที่ดินทำกินกลับมีขนาดเล็กลง อย่างปี 2561 มีพื้นที่ขนาด 23.61 ไร่ต่อครัวเรือน ลดลงจากปีก่อนๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกัน จากปี 2560 อยู่ที่ 25.22 ไร่ต่อครัวเรือน รวมถึงอายุของหัวหน้าครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นเป็น 58.09 ปี ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการประกอบอาชีพเช่นกัน
และอีกหนึ่งปัญหาที่ รศ.วิทยากร กล่าวถึงคือ รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิรูปที่ดินและการเกษตรอย่างจริงจัง เนื่องจากรัฐบาลเป็นตัวแทนของคนรวย คนชั้นกลางที่มีผลประโยชน์และแนวคิดการพัฒนาแบบพึ่งพาทุนต่างชาติ บางครั้งอาจเห็นภาพการอุ้มนายทุน โดยเฉพาะขนาดใหญ่
ทำให้ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นภาพของเกษตรกรออกมาเรียกร้องถึงความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการยื่นหนังสือไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการออกมาประท้วงเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยบรรเทาความเดือดร้อน อย่างเช่น ม็อบเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมกว่า 5,000 คน ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคากระเทียมแห้ง 1.2 หมื่นตัน ซึ่งในครั้งนี้ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมชี้แจ้งไว้ว่าไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐเลย
หรือม็อบผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยกว่า 600 คน จาก 4 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ระยอง และลพบุรี บุกไปชุมนุมประท้วงถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ เมื่อปี 2555 ในครั้งนั้นยังมีเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ที่มาเรียกร้องราคาผลผลิตตกต่ำเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ลำไยอบแห้ง เป็นต้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่ม็อบ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินข้อเรียกร้องจากเกษตรกร ขณะที่ภาครัฐก็พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน แต่จนแล้วจนเล่าปัญหาเดิมๆ กลับวนลูปกลับมาเหมือนเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ยังเห็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามออกโครงการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการผลิต หาช่องทางการตลาดใหม่ๆ หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการผลิต เพื่ออัพเกรดเกษตรกรขึ้นไปอีกขั้น ให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงราว 4 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นมูฟเมนท์ของเกษตรกรที่นอกจากเป็นผู้ผลิตแล้ว ยังเริ่มออกมาหาตลาดด้วยตัวเอง นับเป็นก้าวที่สำคัญที่น่าจับตามอง อย่างชาวนาก็เริ่มออกมาขายข้าวเอง ส่งตรงถึงกลุ่มลูกค้า ทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แถมยังได้ราคาที่สูงขึ้นและเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทำให้วันนี้รัฐบาลคงต้องหันกลับมามองกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญของประเทศ ว่ามาตรการหรือโครงการที่ออกมาช่วยเหลือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นถูกจุดที่เกษตรกรต้องการ หรือช่วยเกษตรกรเพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพียงพอแล้วหรือยัง?
ที่มา : bangkokbiznews, oae, oae(2), bangkokbiznews(2), tdri,