สันนิบาตสหกรณ์-ชุมชนุมสหกรณ์ หัวหอกเดินหน้าทวงหนี้ 'การบินไทย'
สันนิบาตสหกรณ์นำขบวน 86 สหกรณ์ ทำแผนทวงหนี้บินไทย4.3 หมื่นล้าน ด้านมนัญญาลั่นต้องได้เงินต้นครบ ไม่ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมชี้แจงแนวทางในการฟื้นฟูกิจการและการปฏิบัติของเจ้าหนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีทั้งหมดสหกรณ์ 86 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์ 85 แห่งที่ซื้อหุ้นกู้ และสหกรณ์ 1 แห่งที่ซื้อหุ้นสามัญ มูลหนี้รวม 4.3 หมื่นล้านบาท
การประชุมในครั้งนี้เป็นเพียงหารือเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับวิธีการทวงหนี้ ในเบื้องต้นสหกรณ์ควรจะรวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการขอชำระหนี้คืนภายใต้แผนการฟื้นฟูการบินไทยที่จะมีนัด โดยนัดไต่สวนและพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ วันที่ 17 ส.ค.นี้ หากคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน จะมีกระบวนการในการจัดทำแผนฯ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ เพื่อกำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม
“การทวงเงินคืนครั้งนี้อยากให้สหกรณ์รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่อยากให้แตกแยกหรือมีความขัดแย้ง เพราะจะส่งผลต่อมูลหนี้ที่จะได้คืน อย่าลืมว่าการบินไทยยังมีหนี้ต่างประเทศอยู่อีก รวมแล้วกว่า 3 แสนล้าน หาก เราไม่รวมกันไว้ให้ดี เจ้าหนี้ต่างประเทศจะเอาไปหมด เหลือทิ้งไว้ให้เรา ระดับแค่พันกว่าล้านอันนี้สหกรณ์คงยอมรับไม่ได้ โดยที่เป็นเงินต้นควรจะได้รับการชำระเต็มทั้งหมด เพราะเป็นเงินที่มีเจ้าของคือสมาชิกทุกคน ส่วนดอกเบี้ยนั้นอาจจะลดทอนได้บ้าง แต่ก็ไม่ทั้งหมด ต้องดูแผนอักที “
แนวทางทั้งหมดนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียน จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้สหกรณ์เจ้าหนี้ เพื่อให้ทุกสหกรณ์วางแผนในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทุกสหกรณ์ต้องหารือและส่งตัวแทนจัดทำแผน ส่วนข้อสรุปแนวทางยังคงต้องรอความชัดเจนว่าผู้ทำแผนจะกำหนดแนวทางในการชำระหนี้ออกมาอย่างไร
"ยอมรับว่าในช่วงแรกที่มีกระแสข่าวออกมา มีสมาชิกสหกรณ์แห่ถอนเงินออกอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเกิดความไม่มั่นใจ แต่ตอนนี้การฝากถอนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และได้สั่งให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบสหกรณ์การเกษตรรายใหญ่ ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป นำร่องใน 7 สหกรณ์ เพื่อป้องกันความสุ่มเสี่ยง เรื่องทุจริตที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับสมาชิกสหกรณ์ได้"
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ต่อไปสันนิบาตสหกรณ์ และ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ จะเป็นหัวหอกในการวางแผน ซึ่งคาดว่าจะมีการรวมตัวแทนจากสหกรณ์เจ้าหนี้แต่ละแห่ง เพื่อเข้าเจรจาการทำแผนฟื้นฟู ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะคอยดูแลอำนวยความสะดวกและจัดเวทีให้ คอยดูแลแผนการทวงหนี้จะต้องเป็นไปตามแผนฟื้นฟูภายใต้กฎหมายล้มละลาย
ส่วนการตั้งเงินสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญนั้น จะเป็นไปตามขั้นตอน เช่น เมื่อครบกำหนดการชำระหนี้แล้วไม่ได้รับคืน โดยงวดแรกจะครบในเดือน ส.ค.-ก.ย.2563
กรณีนี้ต้องรอฟังการประชุมผู้ถือหุ้นของการบินไทยในช่วงสิ้นปีบัญชี คือวันที่ 30 ธ.ค.2563 ว่าจะรับทราบแนวทางการชำระหนี้หรือไม่ หากการบินไทย ยืนยันว่าจะคืน ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งเงินสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญ อย่างไรก็ตามหากต้องตั้งเงินสำรองดังกล่าวจริงสหกรณ์แต่ละแห่งจะต้องตั้ง100 % ซึ่งกรมส่งเสริมใสหกรณ์ไม่ต้องการให้เกิดแนวทางนั้น
“กระบวนการทวงหนี้ดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับสหกรณ์ และต้องเดินกันเองในฐานะเจ้าหนี้ แต่ต้องเป็นไปตามแผนฟื้นฟูการบินไทยด้วย สหกรณ์จึงต้องหารือกับกรมบังคับคดี เป็นสำคัญเพราะกระบวนการสหกรณ์เองไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน”
รายงานข่าว แจ้งว่า พล.ต.ท.ตำรวจโท วิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) พร้อมด้วย นายวินัย นิยโมสถ นายไพบูลย์ แก้วเพทาย รองประธานกรรมการ นายสมชาย รัตนอารี กรรมการและเลขานุการ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ที่ปรึกษา ชสอ. และประธานกรรมการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และนายจรัล เอี่ยมสำอาง ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมการประชุมคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาการลงทุนในหุ้นกู้การบินไทย
ทั้งนี้ ได้ระดมข้อคิดเห็นกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันคือ สหกรณ์จะยืนยันรักษาผลประโยชน์ของขบวนการสหกรณ์อย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสมาชิกสหกรณ์ 3 ล้านคน
ส่วนการกำหนดแนวทางเจรจาต้องรอให้แผนฟื้นฟูกิจการมีความชัดเจนก่อนทั้งนี้ชสอ.กับสันนิบาตสหกรณ์และที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เตรียมความพร้อมให้คำแนะนำกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในส่วนของสหกรณ์ผู้ลงทุนในหุ้นกู้ และชสอ. จะดำเนินการสำรวจข้อมูลเพื่อยืนยันจำนวนสหกรณ์ และเงินลงทุนในหุ้นกู้
ทั้งนี้ ชสอ.ในฐานะผู้นำสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย ขอให้สมาชิกสหกรณ์มั่นใจในทิศทางและแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ การบินไทยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ไว้อย่างดีที่สุด
สำหรับสันนิบาตสหกรณ์ ถือเป็นองค์กรสูงสุด ของขบวนการสหกรณ์ ไม่แสวงหากำไร ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้แก่สหกรณ์ ทุกประเภทที่เป็นสมาชิก ทำการวิจัย รวมรวมสถิติ อำนวยความสะดวกติดต่อประสานงาน อบรมวิชาการเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์ สนับสนุน
และช่วยเหลือสหกรณ์เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับกิจการของสหกรณ์ เป็นตัวแทนของสหกรณ์เพื่อรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากการสนับสนุนของรัฐ ระหว่างประเทศหรือเอกชนอื่น เป็นต้น
นายเชษฐ์ชฏิล กาญจนอุดมการณ์ ผู้อำนวยการส่วนกฎหมาย รักษาการในตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีล้มละลาย กล่าวว่าสถานะปัจจุบันตามคำสั่งศาลเมื่อ วันที่ 27 พ.ค. 2563 คือศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ มีผลดังนี้ คือ
1.ห้ามฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้
2.ห้ามไม่ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ และห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกันโดยประการอื่น
3.ห้ามธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 90/4(6) สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้ หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ
4.ห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นขอบด้วยแผนและห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
5.ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการบังคับคดีไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดี จะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอ หรือการบังคับคดีตามคำพิพากษา ให้ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าว
6.ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือ เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่มีคู่สั่งรับคำร้อง ระยะเวลาดังกล่าวศาลอาจขยายได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกเดือน
7.ห้ามเจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมาย ยึด หรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น ตามประมวลรัษฎากร พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.รบ.ประกันสังคม