ททท.นัดถกโรงแรม-แอร์ไลน์ ปิ๊งไอเดีย ‘สวอปตั๋ว’ เที่ยวไทย
“ททท.” ปิ๊งไอเดียเล็งนัดผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่ ทั้ง “โรงแรม-แอร์ไลน์-โอทีเอ” ถกความเป็นไปได้ เปิดช่องนักท่องเที่ยวไทยสวอปเครดิตวงเงินค่าตั๋วบิน-ที่พักทริปต่างประเทศ พร้อมมอบส่วนลดเพิ่ม หวังเปลี่ยนใจให้หันมาเที่ยวในประเทศแทน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.เตรียมหารือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่ ทั้งกลุ่มโรงแรม สายการบิน และบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agent : OTA)เร็วๆ นี้ เกี่ยวกับแนวคิดให้นักท่องเที่ยวไทยสามารถเปลี่ยน (Swap)เครดิตวงเงินค่าสินค้าบริการท่องเที่ยวอย่างค่าโรงแรม และค่าตั๋วเครื่องบินที่จองไว้สำหรับทริปไปเที่ยวต่างประเทศ แต่เดินทางไม่ได้ เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านการเดินทางตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ให้นำมาเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายโรงแรมและค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางในประเทศแทน โดยจะมอบส่วนลดเพิ่มเติมเป็นเครื่องจูงใจ
“ททท.เตรียมหารือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่ถึงความเป็นไปได้ว่าสามารถ Swap วงเงินค่าใช้จ่ายในการจองโรงแรม ที่พัก และตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศของนักท่องเที่ยวไทย เปลี่ยนมาจองโรงแรมที่พักและตั๋วบินสำหรับเดินทางภายในประเทศได้หรือไม่ ด้วยการพิจารณาหลักฐานการจอง เพื่อกระตุ้นกระแสไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังรัฐบาลคลายล็อคการเดินทาง อนุญาตให้เดินทางข้ามจังหวัดได้”
หากสามารถดำเนินการตามแนวคิดนี้ได้ ททท.ตั้งเป้าดึงส่วนแบ่งตลาดจากกลุ่มคนไทยเที่ยวต่างประเทศ 50%จากจำนวน 12 ล้านคนของจำนวนคนไทยเที่ยวต่างประเทศตลอดปี 2562 และเมื่อคำนวณเป็นจำนวนทริปท่องเที่ยวในประเทศแล้ว คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าหรือคิดเป็น 12 ล้านคน-ครั้ง เพื่อผลักดันกระแสการเดินทางตลาดไทยเที่ยวไทยให้ถึงเป้าหมายใหม่ของปีนี้ที่ 80-100 ล้านคน-ครั้ง
“ททท.ต้องเร่งหากลยุทธ์เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจเดินทางของตลาดนักท่องเที่ยวไทยกลุ่มนี้ หลังจากประเทศญี่ปุ่นเตรียมเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจาก 4 ประเทศที่มีการจัดการโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีรายชื่อของประเทศไทยด้วย ร่วมกับเวียดนาม ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของธุรกิจสายการบินในช่วงนี้ หลังจากประเทศในฝั่งเอเชียตะวันออกสามารถจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้ดีขึ้น และเตรียมเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากบางประเทศที่มีความเสี่ยงโรคโควิด-19 ต่ำ ส่งผลให้บางสายการบินเริ่มกลับมาขายตั๋วเครื่องบินแก่นักท่องเที่ยวไทยไปยังจุดหมายในเอเชียตะวันออกอีกครั้ง
อย่างกลุ่มแอร์เอเชีย ล่าสุดได้ขยายเวลาโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบิน เพื่อกระตุ้นยอดจองอย่างต่อเนื่อง สำหรับเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นและเกาหลีซึ่งเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทย ผ่านการชูจุดขายเรื่องความยืดหยุ่นของเงื่อนไขการเปลี่ยนตั๋ว โดยแพ็คเกจแบบตั๋วบินสบายใจ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 5,060 บาทต่อเที่ยวบิน ไม่มีบริการเสริมอื่นๆ กำหนดให้เปลี่ยนตั๋วได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จองได้ถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้ จำกัดวันเดินทางได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ส่วนแพ็คเกจแบบพรีเมียมเฟล็กซ์ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 5,499 บาทต่อเที่ยวบิน รวมบริการเสริมอื่นๆ จองได้ถึงวันที่ 28 มิ.ย.นี้ สามารถเปลี่ยนตั๋วได้ 2 ครั้ง ไม่จำกัดวันเดินทางจนถึงปี 2565
นายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ททท.ได้หารือกับกระทรวงการคลังเพิ่มเติมเกี่ยวกับแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งมีด้วยกัน 2 แพ็คเกจ ได้แก่ 1.แพ็คเกจเที่ยวปันสุข เปิดให้ประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เบื้องต้นจำนวน 4 ล้านคนลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ซื้อบัตรกำนัล (วอเชอร์) สำหรับเป็นค่าห้องพักในการท่องเที่ยวข้ามจังหวัด เมื่อประชาชนนำวอเชอร์ดังกล่าวไปเช็คอินห้องพัก รัฐจะโอนเงินคืนให้ประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้จ่ายในโรงแรมและ 2.แพ็คเกจกำลังใจเพื่อตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 1.2 ล้านคน ด้วยการสนับสนุนงบฯศึกษาดูงาน เดินทางกับบริษัทนำเที่ยวในประเทศทั้งสองแพ็คเกจมีระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค.2563
“ทางคลังได้ขอให้ ททท.กลับไปทำการบ้าน จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำมาหารือกันอีกครั้งในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเรื่องวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการกระตุ้นทั้งหมด โดยแพ็คเกจมาตรการนี้จะต้องแรง และดึงดูดมากพอที่จะกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางจริงในภาวะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างปกติ หนุนธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีจำนวนแรงงานไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านคนสามารถประคองธุรกิจได้ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) นี้ และสามารถทำให้เม็ดเงินท่องเที่ยวสะพัดไม่ต่ำกว่า 2-3 เท่าจากงบฯที่ใช้ในการกระตุ้น”