กกร.หนุนไทยร่วมเจรจา 'CPTPP'
กกร.หนุนไทยร่วมเจรจา“ซีพีทีพีพี” ชี้ยกเลิกได้หากพบเสียประโยชน์ ด้านพาณิชย์ส่งผู้แทนกรมเจรจาการค้าและกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกรรมาธิการวิสามัญ “ซีพีทีพีพี”
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (หอการค้าไทย,สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) หรือ กกร. เปิดเผยภายหลังการประชุมประจำเดือนมิ.ย.2563 ว่า ที่ประชุมฯ มีข้อสรุปในเรื่องข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ซีพีทีพีพี) โดยเห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง ซีพีทีพีพี ในเดือนส.ค. 2563 เนื่องจากการเข้าร่วมเจรจาทำให้เห็นถึงผลดีหรือผลเสียต่อการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง ซีพีทีพีพี
โดยกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น มีขั้นตอนเป็นลำดับขั้น ประกอบด้วย การขอเข้าร่วมเจรจา การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี หลังจากเจรจาเสร็จแล้ว ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา ขณะเดียวกันต้องมีการรับฟังประชาพิจารณ์ผลการเจรจาด้วย และสุดท้ายต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในทุกกระบวนการอย่างน้อย 4 ปี และประเทศไทยสามารถยุติการเจรจาในทุกขั้นตอนได้หากเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา ซีพีทีพีพี เพราะเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ว่าไทยควรเข้าร่วมเจรจาหรือไม่
โดยขณะนี้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรจะมีการประชุมเพื่อกำหนดสัดส่วนและจำนวนของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ที่มาจากตัวแทนของพรรคการเมือง ขณะที่สัดส่วนของคนนอกในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งตัวแทน 2 คน ไปเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ คือ ผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) และผู้แทนกรมทรัพย์สินทางปัญญา(ทป.)
สำหรับซีพีทีพีพีปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ เปลี่ยนชื่อมาจากข้อตกลง ทีพีพี ที่มีสหรัฐเป็นตัวตั้งตัวดี แต่ได้ถอนตัวหลังการเจรจาได้ข้อสรุป ปัจจุบันซีพีทีพีพี มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มีจีดีพีรวมกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 13% ของจีดีพีโลก