'อรรถพล' นำ ปตท.ฝ่าวิกฤติ ตุนสภาพคล่อง 6.4 หมื่นล้าน
ปตท.เตรียมออกหุ้นกู้ 6.4 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่องธุรกิจรับมือโควิด-19 เล็งปรับโครงสร้างธุรกิจก๊าซฯและไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพรองรับแข่งขัน เชื่อสงครามราคาน้ำมันไม่รุนแรง คาดราคาน้ำมันดิบทั้งปี40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน กลายเป็น 2 ปัจจัยลบทางธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจพลังงานครบวงจรรายใหญ่ของประเทศ ที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ 2.1 ล้านล้าบบาท หรือ มีมาร์เก็ตแคป 14% และมีรายได้คิดเป็น 13% ของจีดีพีประเทศ
ทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ ปตท.ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ขาดทุน 1,554 ล้านบาท แต่ถือว่าเป็นระดับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แสดงวิสัยทัศน์การรับตำแหน่ง CEO ปตท.คนที่ 10 อย่างเป็นทางการว่า สถานการณ์ที่เหลือของปี 2563 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และปัญหาสงครามราคาน้ำมันจะไม่เกิดขึ้น แม้ยังมีอยู่แต่คงไม่รุนแรงเหมือนช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2563 ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงต่ำสุด ซึ่งคาดว่าช่วงราคาน้ำมันดิบทั้งปีนี้จะอยู่ในระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่ภาครัฐเตรียมยกเลิกเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.นี้ จะทำให้ยอดการใช้น้ำมันภาคพื้นดีขึ้น และยอดขายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (นอนออยล์) เช่น ร้านกาแฟ ร้านค้าอื่นในปั๊ม “พีทีที สเตชั่น” ได้รับประโยชน์ด้วย แต่ยอดขายน้ำมันอากาศยานปีนี้จะลดลง 80%
ปตท.ยังมีกระสุนที่พร้อมจะรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ โดยเตรียมพร้อมออกหุ้นกู้วงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินหุ้นกู้ 150,000 ล้านบาท ที่ขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อปี 2561 โดยหุ้นกู้วงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาทดังกล่าว แบ่งเป็น
1.การออกหุ้นกู้ 4.4 หมื่นล้านบาท
2.ตั๋วแลกเงิน (B/E) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ และรีไฟแนนซ์หนี้ที่ครบกำหนด ซึ่งจะออกหุ้นกู้ในจังหวะที่เหมาะสม และตามความต้องการใช้เงินแม้กลุ่ม ปตท.ยังมีสภาพคล่องทางการเงินแข็งแกร่ง แต่ต้องเตรียมความพร้อม
“แนวโน้มทั้งปีนี้ รายได้และมาร์จิ้นมีทิศทางที่ลดลงตามภาวะตลาดที่ได้รับผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมันและโควิด-19 ที่กระทบความต้องการใช้ ฉุดให้ราคาน้ำมันและปิโตรเคมีลดลง”
ขณะที่ ช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบ 2 และภาวะเศรษฐกิจของไทยและโลกที่ยังอ่อนแอ
ส่วนแนวทางบริหารจัดการระยะสั้น เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูธุรกิจของ ปตท.ได้ดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ PTT by PTT ประกอบด้วย Partnership and Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจ
Technology for All เทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และดิจิทัล และ Transparency and Sustainability สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ
ปตท.ควบคุมค่าใช้จ่ายตามมาตรการ “ลด ละ เลื่อน” ด้วยการลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น การทำธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ บริหารความเสี่ยงด้านราคา อุปสงค์ อุปทาน สินค้าคงคลัง รวมถึงบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และงบประมาณองค์กรลงลด 10-15% ของงบลงทุนทั้งกลุ่ม ปตท.ปี 2563 ที่มีวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท
ในปี 2563 ปตท.มีงบลงทุน 6.9 หมื่นล้านบาท จะปรับลด 15,000 ล้านบาท โดยแต่ละทุกธุรกิจต้องปรับโครงสร้างการทำงานให้ยืดหยุ่นพร้อมรับการแข่งขันตามสถานการณ์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป
ส่วนของธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) ก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ยังเป็นธุรกิจที่สำคัญรองรับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มรูปแบบใน 20 ปีข้างหน้า
ดังนั้น ปตท.สผ.ที่ซื้อกิจการจำนวนมากต้องเน้นบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำที่สุด เพื่อประคองธุรกิจอยู่รอดภายใต้ต้นทุนที่ไม่สูง รวมถึง ปตท.มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางซื้อขาย LNG ในภูมิภาค ซึ่งต้องมุ่งทำการตลาดให้มากขึ้นควบคู่กับการปรับโครงสร้างองค์กร
ปี 2563 ปตท.มีแผนนำเข้า Spot LNG จำนวน 11 ลำ รวม 6.6-7.7 แสนตัน ล่าสุดนำเข้า 5-6 ลำ และจะนำเข้า 2 ลำ ช่วงเดือน ก.ค.นี้ พบว่า ราคาอยู่ที่ 1.78 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งการนำเข้า LNG ดังกล่าวไม่กระทบสัญญาก๊าซหลัก จนทำให้เกิดปัญหาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take or Pay) และไม่กระทบต่อสัญญาซื้อขายขั้นต่ำในอ่าวไทย
ขณะที่ด้านพลังงานไฟฟ้าต้องเน้นขยายตลาดไปต่างประเทศมากขึ้น เพราะการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศมีโอกาสน้อยลง รวมถึงต้องปรับโครงสร้างให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
สำหรับธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) ได้วางแนวทางของแต่ละธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจโรงกลั่น ตั้งเป้าหมายจะเป็นโรงกลั่นลำดับต้นของอุตสาหกรรมที่อยู่รอด หรือจะตายเป็นคนสุดท้ายของธุรกิจ
ธุรกิจปิโตรเคมี จะต้องประคองธุรกิจรับกับทิศทางที่ปรับขึ้นและลงตามสภาวะตลาด รวมถึงต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและไม่ทิ้งธุรกิจไบโอเคมีคัล
ธุรกิจเทรดดิ้ง จะยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ เพราะกรณีหากเกิดปัญหาจัดซื้อน้ำมันในบางประเทศ ก็จะสามารถหันไปจัดซื้อในประเทศเครือข่ายอื่นแทนได้
ธุรกิจ Oil & Retail จะต้องสร้างความรู้จักแบรนด์ไทยในต่างชาติ และต้องเป็นปั๊มน้ำมันที่เป็นศูนย์กลางชุมชน (PTT Living Community)
ขณะที่การนำบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และการกระจายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต้องรอดูภาวะตลาดหุ้นด้วย
“กลุ่ม ปตท.ยังอยู่ระหว่างทบทวนแผนธุรกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์และความเสี่ยงที่จะมีขึ้น”
การปรับดังกล่าวจะหารือในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม ปตท.เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางในอนาคตของกลุ่มในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า