ระเบิดเวลา ‘หนี้ครัวเรือน’ ความเสี่ยงที่เริ่มปะทุ
หนึ่งในประเด็นที่น่าจับตาจากเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้น คือภาวะหนี้ครัวเรือนไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มแสดงให้เห็นบ้างแล้ว โดยสะท้อนผ่านยอดขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ล่าสุดพบว่ามีมูลหนี้รวมกว่า 6.6 ล้านล้าน
แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยจาก “โควิด-19” จะเป็น “ศูนย์” ติดต่อกันมาร่วม 20 วันแล้ว บ่งชี้ถึงสถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศที่เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่า “เศรษฐกิจไทย” กำลังจะดีขึ้นตามไปด้วย เพราะตราบใดที่น่านฟ้ายังไม่เปิด การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ รวมทั้งสถานการณ์โลกยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง กำลังซื้อของผู้คนยังอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยก็จะยัง “ป่วย” แบบนี้ไปเรื่อยๆ สาเหตุเพราะเราเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก เมื่อโลกยังไม่ดีขึ้น เราก็จะยังเจ็บออดๆ แอดๆ อยู่แบบนี้
ประเด็นที่ “น่าห่วง” และควรต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้ม “ซึมตัวยาว” คือ “คุณภาพหนี้” โดยเฉพาะ “หนี้ครัวเรือน” ...ต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” เคยแสดงความกังวลต่อภาระหนี้กลุ่มนี้ไว้ เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับจีดีพี โดยในปี 2560 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 78.1% ก่อนเพิ่มเป็น 78.4% ในปี 2561 และเพิ่มเป็น 79.8% ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่สูงติด “ท็อปเทน” ของโลก
ความน่าเป็นห่วงนี้อยู่ตรงที่ “ภาระหนี้ต่อรายได้” ของภาคครัวเรือนก็อยู่ในระดับที่สูงด้วย เมื่อเกิด “ช็อก” ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อ “การจ้างงาน” หรือ “รายได้” ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเหล่านี้ก็จะด้อยลงทันที และความน่าเป็นห่วงนี้เริ่มแสดงให้เห็นแล้วจาก “วิกฤติโควิด” ที่เกิดขึ้น เพราะวิกฤติดังกล่าวส่งผลต่อการจ้างงานและรายได้ของผู้คนจำนวนมาก
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้แรงงานใน 3 กลุ่ม มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างงานรวม 8.4 ล้านคน แบ่งเป็น กลุ่มแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีรวม 3.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เสี่ยงตกงานราว 2.5 ล้านคน กลุ่มอุตสาหกรรม มีจำนวน 5.9 ล้านคน แต่เสี่ยงตกงานราว 1.5 ล้านคน และกลุ่มภาคบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว โดยกลุ่มนี้โดนผลกระทบจากการ “ล็อกดาวน์” ปิดสถานที่สำคัญๆ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีคนรวมกลุ่มจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวน 11.8 ล้านคน แต่คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบราว 4.4 ล้านคน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มแสดงให้เห็นบ้างแล้ว โดยสะท้อนผ่านยอดขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงินผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งล่าสุดพบว่ามีจำนวนสูงถึง 15.1 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 6.6 ล้านล้านบาท
...แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะกลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด เพราะปัจจุบันรัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์ไปในหลายเฟสแล้ว แต่คำถาม คือ แรงงานที่ถูกผลกระทบเหล่านี้ จะกลับมามีรายได้เท่าเดิมเหมือนช่วงก่อนวิกฤติโควิดหรือไม่ หากเพียงแค่ 10% ของหนี้ในกลุ่มที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินกลายเป็น “หนี้เสีย” ขึ้นมา ก็เท่ากับจะมีคนต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องทางกฎหมายถึง 1.5 ล้านคน มูลหนี้รวมกว่า 6.6 แสนล้านบาท ถึงตอนนั้นระบบการเงินจะรองรับไหวหรือไม่ ประเด็นนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ