'อินเดีย' ยกปมขาดดุลเมิน RCEP
พาณิชย์ เผยอินเดียปัดข้อเสนอ RCEP อ้างปมขาดดุล แต่สมาชิกยังหวังดึงกลับร่วมเจรจา จับตาประชุมระดับรัฐมนตรีสิ้นเดือน หวังจบประเด็นคงค้าง
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในการเจรจา RCEP เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP สมัยพิเศษ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 10-11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ยกเว้นอินเดีย ว่าเป้าหมายการลงนามความตกลง RCEP ใกล้เป็นความจริงแล้ว โดยสมาชิก RCEP สามารถขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเสร็จแล้ว 18 บท จาก 20 บท คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถลงนามความตกลงได้ในปลายปีนี้
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าว มีความคืบหน้าและสามารถตกลงประเด็นคงค้างได้เกือบทั้งหมด โดยจะมีการรายงานความคืบหน้า ให้รัฐมนตรี RCEP รับทราบในการประชุม สมัยพิเศษ ครั้งที่ 10 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ถือเป็นครั้งแรกของปี ที่มีการประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP โดย จะร่วมกันพิจารณาประเด็นที่ยังคงค้างอยู่ทั้งหมด รวมถึงประเด็นของอินเดีย เพื่อให้สามารถลงนามความตกลงในปลายปีนี้ ตามที่ผู้นำตั้งเป้าหมายไว้
สำหรับอินเดียได้แจ้งอย่างเป็นทางการว่า ไม่สามารถยอมรับข้อเสนอของสมาชิกอีก 15 ประเทศ ที่ยื่นต่ออินเดีย เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2563 ได้ เนื่องจากยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องและข้อกังวลของอินเดีย โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลการค้ากับสมาชิกหลายประเทศ อย่างไรก็ตามแม้อินเดียยังไม่พร้อมเข้าร่วมความตกลงในปี 63 แต่สมาชิก RCEP จะร่วมกันหาแนวทางเปิดโอกาสให้อินเดียกลับเข้ามาร่วมความตกลงในอนาคต
“ กรมฯ ได้ เผยแพร่ข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงต่างๆ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบอย่างต่อเนื่อง ในเร็วๆ นี้จะจัดการสัมมนาออนไลน์และจะเตรียมจัดสัมมนาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหากโรคโควิดคลี่คลาย เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความตกลง RCEP แก่ทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ ความตกลง RCEP ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ยกเว้นอินเดีย ถือเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือ 30% ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 25.6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 29.3% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ากว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ27.4% ของมูลค่าการค้าโลก