ส่องกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ ในยุคหลังโควิด-19
KPMG เสนอ 4 กลยุทธ์การบริหารจัดการธุรกิจใหม่ในยุคหลังโควิด เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กร
การล็อคดาวน์ทั่วประเทศ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมามีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งก็มีการคาดการณ์ว่ากว่าที่ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติได้ อาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือน
แม้ว่าสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งกำหนดมาตรการการล็อคดาวน์ของประเทศมีความตั้งใจที่จะให้ธุรกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยได้ดำเนินการผ่อนปรนมาตรการการควบคุม ก็ยังคงมีหลายธุรกิจที่ไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติเหมือนช่วงก่อนที่จะมีการล็อคดาวน์ เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่าง (Social distancing) เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบสอง ทำให้ธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์และลาว ได้แสดงความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า “ในขณะที่แต่ละธุรกิจกำลังปรับตัวเข้าสู่ช่วง New normal และเริ่มเปิดดำเนินกิจการอีกครั้ง สิ่งสำคัญคือแต่ละองค์กรต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน และวางแผนการเริ่มต้นใหม่ที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในระยะยาว”
สำหรับการบริหารจัดการให้พนักงานกลับเข้าที่ทำงานเป็นการวางแผนทรัพยากรที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายองค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการปรับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถรองรับการทำงานจากบ้าน (Work from home)
ในขณะที่ธุรกิจก็ต้องเดินหน้าและเผชิญกับความจริงของสภาพการทำงานในปัจจุบัน การปรับความสมดุลของจำนวนพนักงานกับความพร้อมของสถานที่ทำงาน รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานและความต้องการของตลาด จึงเป็นความท้าทายที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและต้องใช้การบริหารจัดการที่เคร่งครัดเช่นกัน
4 กลยุทธ์ปรับตัวธุรกิจใหม่ในยุคหลังโควิด
- ความเข้าใจพนักงานและการสื่อสาร
สิ่งแรกที่สำคัญองค์กรต้องพิจารณาถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อพนักงานและครอบครัวของพนักงาน ความเครียดจากการทำงานจากบ้าน การห่างจากเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงานได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องทำให้พนักงานมีความรู้สึกว่า พนักงานสามารถเข้าถึงหรือติดต่อกับเพื่อนร่วมงานได้ มีส่วนร่วมกับที่ทำงาน และมีแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อที่จะสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการจะเป็นเช่นนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Application) ที่พนักงานสามารถเข้าถึงได้
ในขณะที่หัวหน้าทีมและผู้จัดการทีมต้องติดต่อสอบถามความรู้สึกและสถานการณ์ของพนักงานแต่ละคน การสื่อสารจากฝ่ายบริหารต่อพนักงานโดยรวมก็เป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการเปิดช่องทางการสื่อสารให้พนักงานสามารถสื่อสารได้โดยง่าย เช่น อีเมล อินทราเน็ต ห้องสนทนา (Chat rooms) ฯลฯ จะสามารถทำให้พนักงานคลายความกังวลและเข้าใจถึงสถานการณ์ขององค์กรได้ดียิ่งขึ้น
- ขีดความสามารถและสมรรถนะ
สิ่งที่ที่สำคัญข้อถัดมาคือ การทำงานจากบ้านอาจไม่สามารถบรรลุความต้องการทางธุรกิจได้ หากพนักงานขาดการติดต่อหรือไม่สามารถทราบถึงความพร้อมในการทำงานของพนักงาน และความต้องการนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเหตุทำให้ต้องมีการจัดทีมทำงานใหม่ ดังนั้นองค์กรจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้ทรัพยากรให้ได้เต็มขีดความสามารถมากที่สุด ซึ่งรวมถึงการให้เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง และมีการจัดการที่ดี
พิจารณาพนักงานที่มีหน้าที่สำคัญและพนักงานผู้ช่วยและต้องมั่นใจว่าพนักงานเหล่านั้นได้รับการสนับสนุน รวมทั้งกำหนดตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญและจัดสรรให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ก่อนอื่นต้องทำการแบ่งพนักงานออกเป็นทีมๆ เพื่อสามารถทำงานแทนกันในวันหรือสถานที่ที่ต่างกัน และจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงานและแบ่งพนักงานเพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงและสามารถผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ หรือเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างเหมาะสม
- รายจ่าย
การเปลี่ยนแปลงหลายๆ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับองค์กรในขณะนี้จะมีผลต่อไปในระยะยาว ดังนั้นผู้บริหารต้องถือว่านั่นคือกลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่ง และควรหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนทางทรัพยากรบุคคล โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานและการรักษาพนักงานในระยะยาว
- การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ
การตัดสินใจทางธุรกิจของกรรมการเพื่อการอยู่รอดขององค์กรในสถานการณ์เช่นนี้ต้องมีความสมดุลระหว่างความจำเป็นและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับทางกฎหมายและภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการตัดสินใจที่เกี่ยวกับพนักงาน กรรมการควรมีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลและทีมกฏหมายขององค์กรอยู่เป็นประจำเพื่อให้มั่นใจว่าข้อบังคับในการรายงานได้นำมาปฏิบัติอย่างถูกต้อง
ท้ายที่สุดนี้ เจริญมองว่า กรรมการต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจ รวมทั้งนำข้อปฏิบัติที่ดีและเป็นประโยชน์ที่เกิดจากการตัดสินใจในช่วงวิกฤตินี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรมากที่สุด เพื่อให้เกิดวิธีการที่เหมาะสมและปฏิบัติได้จริงเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดยที่ยังคงมีการประเมินสถานการณ์และหาวิธีการจัดการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าบทเรียนที่ได้รับจากสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้จะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ต่อไปได้อย่างเหมาะสม