‘โควิด-19’ พลิกอสังหาฯ 360 องศา ดิจิทัล.! เคลื่อนตลาดแสนล้าน
ผลกระทบ “โควิด-19” สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของตลาดอสังหาฯ ทั้งซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาโครงการ เอเยนต์ และคนซื้อ ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
3 เดือนที่วิถีการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การทำงานที่บ้าน รวมถึงพฤติกรรมการซื้อสังหาริมทรัพย์ ผ่านออนไลน์กลายเป็นปรากฏการณ์ความปกติในรูปแบบใหม่ (นิวนอร์มอล) ยังมีการประเมินว่าหลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจอสังหาฯเปลี่ยนไปอย่างมาก
กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ แพลตฟอร์มซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า วิกฤติโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา ผลกระทบต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของตลาดอสังหาฯทั้งซัพพลายเชน ที่มีมูลค่าตลาดหลายแสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาโครงการ เอเยนต์ และคนซื้อ ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
“การเข้ามาของโควิด ทำให้เกิดแรงผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีต่างๆเร็วขึ้น อาทิ ทัวร์เสมือนจริง (virtual tour)ให้ลูกค้าที่สนใจซื้อบ้านไม่ต้องไปดูเซลล์ แกลลอรี ก่อนโควิดมีใช้บ้างแต่ไม่ได้รับความนิยมแต่พอเกิดโควิด เซลล์ แกลลอรีปิด แต่ลูกค้าก็ยังอยากซื้อบ้านอยู่ คนขายก็อยากขาย เทคโนโลยีเหล่านี้จึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหา”
ในส่วนของบริษัท ได้เปิดตัว ‘StoryTeller’ ฟีเจอร์ทัวร์โครงการอสังหาริมทรัพย์แบบดิจิทัล 360 องศา ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์คนซื้อบ้านให้สามารถชมโครงการได้เสมือนไปเยี่ยมชมของจริงซึ่งรวมภูมิทัศน์โดยรอบของโครงการหรือเฉพาะยูนิตหรือฟังก์ชันที่ต้องการในโครงการแม้จะยังไม่มีการก่อสร้างซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดีจากนักพัฒนาโครงการ เพราะลดต้นทุนไม่ต้องไปสร้างของจริง(บ้านตัวอย่าง)
กมลภัทร ยังบอกด้วยว่า โควิดทำให้คนไทยรับเทคโนโลยีได้เร็วขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยมีพฤติกรรมในการใช้โซเชียลมีเดียอยู่แล้วพอมีอะไรใหม่ๆมาทำให้ปรับตัวกันได้ค่อนข้างเร็ว กลายเป็นความปกติใหม่ อาทิ รูปแบบการขายอสังหาฯ ลูกค้าไม่จำเป็นจะต้องเดินมาดูที่เซลล์ แกลลอรี อีกต่อไปแล้ว อาจจะผ่านทางการไลฟ์ต่างๆ ซึ่งก็เริ่มมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาโครงการทำเองหรือว่าจะไลฟ์กับแพลตฟอร์มต่างๆซึ่งลูกค้ายอมรับได้มากขึ้น ซึ่งเป็นบทเรียนที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น หลังโควิดคลี่คลาย บริษัทจึงได้เตรียมบริการใหม่ออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยลูกค้าทั้งในส่วนของนักพัฒนาอสังหาฯ ในรูปแบบของดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาให้ใช้งานได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง ‘StoryTeller’ เป็นการสร้างภาพดิจิทัลในโครงการได้โดยที่โครงการยังไม่มีของจริง แต่เราสามารถมองเห็นตัวอย่างได้ จากภาพ AutoCAD ที่ได้รับมาแล้วนำมาทำให้เป็นภาพสามมิติเสมือนจริงได้ สามารถโชว์ห้องต่างๆให้ลูกค้าดูได้
ส่วนที่สองจะเป็นเรื่องของแพลตฟอร์ม FastKey ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการขายอย่างหนึ่งที่ดีเวลลอปเปอร์สามารถนำไปใช้ได้ โดยในเดือนก.ค.นี้ จะเปิดฟีเจอร์ใหม่อีกตัวหนึ่ง เป็นมาร์เก็ตเพลส ที่ให้เอเยนต์ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยและต่างประเทศ สามารถที่จะเข้ามาใช้งานได้ สมมติว่ามีโครงการ A ใช้ซอฟต์แวร์ตัวนี้อยู่ กับเราที่ให้เซลล์เขาไปขายลูกค้าทางโครงการ ขายที่บูธ และต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลตัวเดียวกันนี้สามารถแชร์ให้กับเอเยนต์ในภูมิภาคที่เป็นสมาชิกกับดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 3หมื่นราย
“สมมติโครงการอสังหาฯในไทยมีโปรโมชั่นอะไรขึ้นมา สามารถอัพเดทเข้าไปในระบบ เอเยนต์ที่อยู่ในสิงคโปร์ มองเห็นว่า ตรงกับดีมานด์บายเออร์เขาพอดีก็สามารถนำเสนอให้กับลูกค้าได้ ทำให้โครงการอสังหาฯในประเทศไทยสามารถขายได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ”
ส่วนลูกค้าเอเยนต์นอกจากแพ็คเกจที่สนับสนุนอยู่แล้ว บริษัทมีในส่วนการใช้งาน Ad Credits ที่สามารถช่วยทำให้ตัวทรัพย์ของเขาหรือลิสซิ่ง เพิ่มอยู่ในลำดับต้นๆ ได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น ได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ พร้อมกันนี้ยังได้ล้อนช์ตัวฟีเจอร์ ที่ได้จะข้อมูลมาจากมาร์เก็ตอินไซต์ของลูกค้าเพื่อช่วยเอเยนต์ปรับแพจเกจของตนเองให้ตอบสนองกับความต้องการลูกค้าได้ดีขึ้น
กมลภัทร กล่าวว่า ทิศทางอสังหาฯ ช่วงครึ่งปีหลัง ในมุมของผู้ซื้อที่มีศักยภาพจะซื้อได้ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เป็น "ยุคทองของผู้ซื้อ"คอนโด เพราะว่าจะได้ของในราคาดี ซึ่งอาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้วหลังจากสต็อกหมด เนื่องจากดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่หันไปเปิดตัวแนวราบ แทนที่จะเป็นแนวสูง เพื่อลดค่าใช้จ่าย โครงการคอนโดใหม่เปิดน้อยลง
โดยในช่วงที่ผ่านมา หลังจากเกิดวิกฤติโควิด แนวทางการปรับตัวของดีเวลลอปเปอร์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ที่ปรับตัวเร็วในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจะได้ยอดขายและปิดการขายค่อนข้างดี ส่วนอีกกลุ่มรอดูเหตุการณ์ ไม่ทำอะไรจะเสียโอกาส เพราะเป็นช่วงที่ทุกคนแข่งกันระบายสต็อกที่มีอยู่ผ่านกิจกรรมโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย “กลุ่มที่ไม่ปรับตัวจะลำบาก เพราะเสียเปรียบคนที่ปรับตัวเร็ว ทำให้สูญเสียโอกาสและส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่ง”
สำหรับกลุ่มเอเยนต์และตัวแทนขายอิสระอาจจะต้องปรับตัว ต้องมองว่าตัวสินค้าเป็นแบบไหน ถ้าเป็นสินค้าที่เป็นบ้านใหม่ มีแนวทางการซื้อได้2แบบคือซื้อตรง กับดีเวลลอปเปอร์ หรือเซลล์เอเยนต์ ซึ่งมีรูปแบบชัดเจน ส่วนคนที่เป็นนักขายไม่ว่าจะสายไหนต้องปรับตัวในการใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วย เพราะผู้ซื้อจะคาดหวังว่าคุณจะสามารถไลฟ์สด ถ้าทำไม่ได้จะเสียโอกาสไป ยิ่งอสังหาฯที่เป็นรีเซลล์ต้องปรับตัวเยอะ เพราะตลาดแข่งขันค่อนข้างรุนแรง
“การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องคิดนอกกรอบและเปลี่ยนวิถีการทำงานในอัตราเร่ง ซึ่งรวมไปถึงวิถีในการให้บริการลูกค้าเพื่อ ตั้งรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจากนี้ได้อย่างเท่าทันและอยู่รอดในทุกการเปลี่ยนแปลงให้ได้หลังยุคโควิด-19” กมลภัทร ทิ้งท้าย