'เชฟรอน'เปิดทาง'ปตท.สผ.' ส่งมอบแหล่งเอราวัณ ปี65
การประมูล 2 แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในอ่าวไทยคือ แหล่งเอราวัณ และ แหล่งบงกช จนนำไปสู่การลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และพันธมิตร ที่เป็นผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่ง เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562
กลายเป็นปัจจัยที่เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย โดยการประมูลแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ภาครัฐยังกำหนดเงื่อนไขสำคัญ ในช่วงรอยต่อของวันที่ 24 เม.ย. 2565 เวลา 00.01น. การผลิตก๊าซฯ ต้องไม่สะดุด และกำหนดผูกพันปริมาณการผลิตก๊าซฯขั้นต่ำ 10 ปีแรกของการผลิตหลังสิ้นสุดสัมปทานเดิมช่วงปี 2565-2566
สำหรับแหล่งเอราวัณ ต้องอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกช อยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันแหล่งเอราวัณ ผลิตก๊าซฯประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกช ผลิต 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้ง 2 แหล่ง คิดเป็น 60% ของปริมาณการผลิตก๊าซฯ ของประเทศ
ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินการ (Operator) แหล่งเอราวัณในปัจจุบัน ระบุว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งเอราวัณ มีรายละเอียดซับซ้อน ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การผลิตก๊าชฯมีความต่อเนื่องและปลอดภัย ที่ผ่านมา บริษัทฯ พร้อมทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ดำเนินการ(Operator) รายใหม่ อย่างต่อเนื่อง
โดยมีการลงนามข้อตกลงการเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ฉบับที่ 1 เมื่อเดือน ส.ค. 2562 ระหว่าง เชฟรอนฯ กับ ปตท.สผ. ซึ่งถือเป็นการเปิดทางให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ของแหล่งเอราวัณ เพื่อเตรียมความพร้อมกิจกรรมต่างๆภายใต้ข้อตกลงนี้ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 90%
คาดว่า ในเร็วๆนี้ จะสามารถลงนามในข้อตกลงการเข้าพื้นที่ฉบับที่ 2 ซึ่งจะสนับสนุนให้ ปตท.สผ. เข้าพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมที่มีความซับซ้อน เช่น การติดตั้งแท่นหลุมผลิต การขุดเจาะหลุม และการติดตั้งเรือกักเก็บปิโตรเลียม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตเมื่อเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการในปี 2565
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ในระหว่างหารือร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท. สผ. เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบแท่นและสิ่งติดตั้งให้แก่รัฐ รวมถึงกระบวนการรับสมัครและคัดเลือกพนักงานที่มีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการรื้อถอนแท่นผลิต ยืนยันว่า บริษัทฯมีความพร้อมที่จะดำเนินการ และที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น โครงการนำร่องการนำส่วนบนของขาแท่นปิโตรเลียม จำนวน 4 แท่นไปจัดการบนฝั่ง และในเร็วๆนี้ จะร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการนำขาแท่นปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทะเลไทย
โดยจะนำขาแท่นปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางที่บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่มีการดำเนินงานอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก
ไพโรจน์ มองว่า กิจกรรมการรื้อถอนจะช่วยให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานโดยตรงและในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในช่วงรอยต่อการส่งมอบแหล่งเอราวัณให้ผู้ดำเนินการรายใหม่ ซึ่งนอกเหนือจากการนำส่วนบนของขาแท่นปิโตรเลียม 4 แท่นมาจัดการบนฝั่งแล้ว ในส่วนบนของขาแท่นที่นำขึ้นฝั่งได้ถูกนำไปจัดการที่สถานที่แยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอน (Dismantling Yard) ของผู้ประกอบการไทยในจ.ชลบุรี ซึ่งจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมาก เพราะไทยมีแท่นผลิตอยู่เกือบ 400 แท่น ที่อาจต้องทยอยรื้อถอนต่อไป
“บริษัทฯ มีเป้าหมายรื้อถอนแท่นผลิตและสิ่งติดตั้งที่รัฐไม่ได้เลือกที่จะนำไปใช้ประโยชน์ให้แล้วเสร็จอย่างปลอดภัยก่อนสิ้นสุดสัมปทานในเดือนเม.ย.2565 และยังมุ่งมั่นต่อพันธกิจจัดหาพลังงาน เพราะเรายังเป็นผู้ดำเนินการแปลงสัมปทานฯอื่นๆในอ่าวไทย ที่ไม่ได้หมดอายุในปี 2565 เช่น แหล่งไพลิน”
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสการลงทุนและความเป็นไปได้ในการสนับสนุนแนวนโยบายด้านพลังงานของรัฐอื่นๆ เช่น การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา การจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รวมทั้งการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับ LNG เป็นต้น
พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า แผนการดำเนินงานของบริษัทฯในปีนี้ ยังมุ่งเน้นพันธกิจเปลี่ยนผ่านสู่การบริหารงาน 2 แหล่งก๊าซฯ คือ เอราวัณ และบงกช ก่อนที่ ปตท.สผ. จะเข้าไปดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2565 เป็นต้นไป โดยที่ผ่านมา ได้ประสานงานกับผู้รับสัมปทานในปัจจุบัน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การผลิตก๊าซฯมีความต่อเนื่อง และเป็นไปตามสัญญา PSC
“ขณะนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการทำข้อตกลงการเข้าพื้นที่ เพื่อให้สามารถเข้าไปติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตได้ตามแผนการลงทุนที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้อนุมัติ”