เปิดแผนลงทุน 1.8 แสนล้าน ปั้น 'อู่ตะเภา' ฮับการบิน

เปิดแผนลงทุน 1.8 แสนล้าน ปั้น 'อู่ตะเภา' ฮับการบิน

“บีบีเอส” พร้อมลุยอู่ตะเภา เปิดแผน 1.8 แสนล้านบาท เป้าศูนย์กลางการบินภูมิภาค คาดปี 2573 ผู้โดยสารเข้าไทย 200 ล้านคน “บางกอกแอร์” จ่อดึงพันธมิตรแอร์ไลน์ 100 สายการบินใช้บริการ “บีทีเอส” ผนึกพันธมิตรอสังหาฯ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีการลงนามระหว่างบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563

โครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิกที่มีการลงนามในปีนี้ด้วยมูลค่าการร่วมลงทุน 290,000 ล้านบาท ซึ่งเอกชนได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ 6,500 ไร่ อายุสัญญา 50 ปี

บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด มีผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทบีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานแผนการลงทุนของบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ระบุถึงมูลค่าการลงทุนส่วนเอกชน 186,566 ล้านบาท ที่มาของเงินลงทุนแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ

1.ใช้เงินสดภายในและทุน 90,264 ล้านบาท

2.กู้สถาบันการเงินระยะยาว 87,302 ล้านบาท

3.ชำระค่าหุ้นวันดำเนินกิจการ 9,000 ล้านบาท

4.ชำระค่าหุ้นวันลงนาม 4,500 ล้านบาท

แผนลงทุนโครงการนี้ใช้งบ 186,566 ล้านบาท ในจำนวนนี้รวมงบซ่อมบำรุงตลอดสัญญา 50 ปี 61,849 ล้านบาท ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 

ระยะที่ 1 งบลงทุน 31,290 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารขนาด 157,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 2 งบลงทุน 23,852 ล้านบาท พัฒนาอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 3 งบลงทุน 31,377 ล้านบาท เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 4 งบลงทุน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองของเมืองการบิน เพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด พร้อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของประเทศและเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สำหรับเหตุผลที่บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมประมูลเพราะเห็นความสำคัญของสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีความพร้อมในการเชื่อมต่อของระบบราง ถนนและทางน้ำ ซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับการคมนาคมทางอากาศ

“เรื่องการเงิน สถาบันทางการเงินจะใช้แบงก์ใด วันนี้ขอยังไม่ตอบ เพราะเรื่องนี้มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกเยอะ แบงก์ชาติก็จะต้องมีนโยบายเปลี่ยนไป”นายปราเสริฐ กล่าว

ส่วนกรณีที่มองว่าเมื่อสนามบินเปิดให้บริการแล้วจะมีปริมาณการเที่ยวบินเข้ามาใช้บริการตามที่คาดการณ์ หรือจะมีโปรโมชั่นจูงใจสายการบินอย่างไรนั้น ต้องชี้แจงว่าพันธมิตรเข้ามาใช้สนามบิน สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีพันธมิตรสายการบินทั่วโลกกว่า 100 สาย ดังนั้นไม่ต้องกังวลในวันนี้

“คีรี”หวังต่อยอดธุรกิจบีทีเอส

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย

กลุ่มบริษัทบีทีเอสจะใช้ประสบการณ์ที่มีกว่า 20 ปี ต่อยอดให้ธุรกิจในเครือทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์และด้านอื่น เช่น ระบบขนส่งมวลชนทางราง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงความสามารถในการพัฒนาธุรกิจด้านอื่นเพื่อเป็นแรงผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จ

ยืนยันผลตอบแทนรัฐเหมาะสม

นายคีรี กล่าวว่า ชนะการประมูลคราวนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบและคิดไม่ผิดที่ร่วมประมูล เพราะได้วิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบ และมีเหตุผลกับการเสนอราคาจ่ายสูงขนาดนี้ โดยส่วนตัวไม่สนใจกับบางคนที่ไม่เข้าใจรัฐบาลหรือไม่เข้าใจวิธีคิด ซึ่งยืนยันว่าราคานี้ถูกต้องเหมาะสมแน่นอน และถึงวันนั้นอาจมีผู้ต่อว่ารัฐที่ยอมเอกชน เพราะไม่เพียงแต่เราได้พัฒนาสนามบิน แต่ได้พื้นที่เพื่อพัฒนาเมืองการบิน ฟรีเทรดโซนและดิวตี้ฟรี

กลุ่มบริษัทบีทีเอสเตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนสร้างระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงการ เพื่อให้เชื่อมกับระบบการขนส่งภายนอกทุกระบบ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน

รวมทั้งจะพัฒนาระบบรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) เชื่อมการเดินทางภายในโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพเมืองการบินให้เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการขยายตัวของอีอีซี และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อก้าวสู่ Aviation Hub ที่สำคัญของอีอีซี

“บีทีเอส”ดึงพันธมิตรอสังหาฯ

นายคีรี กล่าวว่า แผนธุรกิจนอกจากพัฒนาภายใต้กลุ่มบีบีเอสแล้ว ปัจจุบันมีพันธมิตรในประเทศและต่างประเทศสนใจร่วมลงทุนในเมืองการบิน เพราะเห็นโอกาสจากโครงการนี้ ดังนั้นส่วนเชิงพาณิชย์จะเริ่มทำทันที โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ถนัดเข้ามาร่วมกับบีทีเอสในอนาคต ขณะที่งบลงทุนยืนยันว่าไม่มีปัญหา โดยเฉพาะระยะแรกใช้งบ 31,290 ล้านบาท ใช้เงินทุนของกลุ่มบีบีเอสได้โดยไม่มีปัญหา

นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส เผยว่า พันธมิตรที่มีแผนจะดึงเข้าร่วมพัฒนาในเมืองการบินภาคตะวันออก เบื้องต้นมีกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มบริษัทบีทีเอสอยู่แล้ว อาทิ อนันดา แสนสิริ และยูซิตี้

“บางกอกแอร์”เล็งย้ายฐานบินมาอู่ตะเภา

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์สจะศึกษาการย้ายฐานการบิน 100% จากสนามบินสุวรรณภูมิมาสนามบินอู่ตะเภาในอนาคต โดยจะคำนึงถึงการสร้างเครือข่ายทางการบินเชื่อมต่อกับสายการบินพันธมิตร

"บีทีเอส"เตรียมลุยพื้นที่เชิงพาณิชย์

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.Commercial Gateway 269 ไร่ หรือ 4.3 แสนตารางเมตร จะพัฒนาเป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ ช็อปปิ้ง โรงแรม และลักชัวรี่ เอาท์เลต

2.Airport City 654 ไร่ หรือ 1 ล้านตารางเมตร จะพัฒนาเป็นพื้นที่ธุรกิจ Innovation Park, Exhibition area และเมดิคคัล ฮับ รวมถึงพื้นที่สำนักงาน

3.Cargo zone and FTZ (ฟรีเทรดโซน) 262 ไร่ หรือ 4.19 แสนตารางเมตร จะพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้า รองรับการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร ทั้งนี้กองทัพเรือมีกำหนดส่งมอบพื้นที่ให้บีบีเอสภายในเวลา 18 เดือน จึงจะเริ่มก่อสร้าง

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กองทัพเรือจะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าพื้นที่ (NTP) ภายใน 180 วันหลังจากลงนามสัญญา โดยระหว่างนี้จะเตรียมพร้อมศึกษารายละเอียดการออกแบบ อีกทั้งกองทัพเรือเตรียมเปิดประมูลงานก่อสร้างรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา งบประมาณ 1.3–1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ โดยจะเปิดประมูลก่อนออกหนังสือ NTP โครงการเมืองการบิน โดยกลุ่มบีบีเอสจะเข้าไปร่วมประมูลก่อสร้าง