ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาล รธน.ฟัน ‘สมชาย’ พ้น สว. พันคดีซื้อเสียง

คำวินิจฉัยฉบับเต็ม! ศาล รธน.ฟัน ‘สมชาย เล่งหลัก’ พ้นเก้าอี้ สว. ทุกข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น ปมเคยถูกศาลฎีกาให้ ‘ใบแดง’ 10 ปี คดีหนุนซื้อเสียงเมื่อครั้งสมัคร สส.ภูมิใจไทย
เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2568 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 38/2563 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาของนายสมชาย เล่งหลัก สว. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5) หรือไม่
โดยวันนี้ฝ่ายผู้ร้อง (กกต.) ส่งตัวแทนจากสำนักกฎหมายมาศาล ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้อง (นายสมชาย เล่งหลัก เดินทางมาศาลเพื่อรับฟังคำวินิจฉัย ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมอบหมายให้นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายปัญญา อุดชาชน 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญ ไล่เลียงข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ สส. และ สว. ซึ่งเกี่ยวพันกันในรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5) โดยระบุว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย กำหนดให้การดำรงตำแหน่ง สว. มีหลักประกันว่า สว.ต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนภายใต้อาณัติพรรคการเมืองใดๆ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
โดยบุคคลดำรงตำแหน่ง สว. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครเลือกตั้ง สส. เพราะหากบุคคลได้รับการเลือกเป็น สว. รัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการควบคุมดำรงตำแหน่ง เพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้าม ให้ได้คนมีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้าม หรือมีมลทินมัวหมอง ไม่เสื่อมเสียเกียรติแก่ สว.
ทั้งนี้มาตรา 98 (5) บัญญัติขึ้น เพื่อให้ กกต.ระงับสิทธิเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นมาตรามีตัดสิทธิบุคคล ทำให้การเลือกตั้ง ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม การที่ สว.กระทำผิด โดยศาลมีคำสั่งเพิกถอน อันต้องด้วยลักษณะต้องห้ามตามกำหนด 108 ข ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 แล้ว สว. ผู้นั้นไม่อาจอยู่ในฐานะ ไว้วางใจสุจริต ไม่สมควรเข้ามามีอำนาจทางการเมือง
- เคยถูกศาลฎีกา พิพากษาให้ “ใบแดง” เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2567 มี พ.ร.ฎ.เลือก สว. ผู้ถูกร้องสมัครับเลือกกลุ่ม 19 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ต่อมา ผู้ร้องมีประกาศ กกต. ลงวันที่ 10 ก.ค.2567 ประกาศผลการเลือก สว. ประกาศรายชื่อผู้ถูกร้องได้รับเลือกเป็น สว. กลุ่ม 19 ลำดับ 7 ภายหลังประกาศผลการเลือก สว. ผู้ร้องมีมติวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องต้องคำวินิจฉัยศาลฎีกาเมื่อ ต.ค.2567 โดยผู้ถูกร้องสนับสนุน ให้บุคคลอื่นจัดเตรียมให้ทรัพย์สิน อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จูงใจลงคะแนนแก่ผู้ถูกร้อง ฝ่าฝืน พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา
ทำให้ผู้ถูกร้อง เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) เนื่องจากเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิตาม 98 (5) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สว. สิ้นสุดลงตาม 110 (4) ดังนั้น มีมูลกรณีศาลต้องวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สว. ด้วยเหตุอยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 110 (4) ประกอบ 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และ 98 (5) หรือไม่
- เปิดข้อโต้แย้ง “สมชาย” 3 ปม ฟังไม่ขึ้นทั้งหมด
ข้อโต้แย้งผู้ถูกร้องที่ว่า คำพิพากษาศาลฎีกา เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา พิจารณาคดีโดยไม่ใช้ระบบไต่สวน ใช้ระบบกล่าวหา การรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 188 วรรคหนึ่ง การพิจารณาอรรถคดีเป็นอำนาจศาล ดำเนินการตามกฎหมาย และอยู่ในพระปรมาภิไธย วรรคสอง ผู้พิพากษามีอิสระพิพากษาคดี ให้รวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติ การที่ผู้ถูกร้องไม่เห็นด้วยคำพิพากษา โต้แย้งอรรถคดี เป็นการใช้อำนาจตุลาการศาลฎีกา ผู้พิพากษามีอิสระตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย ต้องพิจารณารวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติ
ประกอบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา วินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 2561 ในหลายข้อกำหนดว่า การไต่สวนหมายความว่าการตรวจพยานหลักฐาน การสืบพยาน กระบวนพิจารณาใดๆ ของศาล ให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงของศาล การพิจารณาของศาล นำสำนวนการไต่สวนเป็นหลักในการพิจารณา เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยสามารถไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้คู่ความตรวจพยานบุคคล พยานหลักฐาน คัดสำเนาคู่ความอีกฝ่าย รวมถึงให้คู่ความเสนอแนวทางแก่ศาล และยอมรับพยานหลักฐานแต่ละฝ่าย ทั้งนี้คดีใดมีพยานหลักฐานเพียงพอ ให้พิจารณาวินิจฉัยได้
เห็นได้ว่า เมื่อมีกรณีวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ศาลพิจารณาสำนวนจาก กกต.เป็นหลักว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอลงโทษผู้ถูกร้องหรือไม่ เพื่อประโยชน์ ศาลไต่สวนข้อเท็จจริง และรับฟังพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ หากอ้างตนเอง พยานหลักฐานอื่น ย่อมทำได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน เป็นการเปิดโอกาสคู่ความ 2 ฝ่ายต่อสู้เต็มที่
หากศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอวินิจฉัยได้ ศาลงดไต่สวนก็ได้ คดีของศาลฎีกาดังกล่าว คู่ความแถลงข้อเท็จจริงรับพยานหลักฐานของกลาง เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลฎีกา ใช้ระบบไต่สวน วิธีพิจารณาแตกต่างกับระบบกล่าวหา ที่ศาลยุติธรรมใช้คดีทั่วไป ศาลฎีกาต้องใช้วิธีตามรัฐธรรมนูญ และศาลฎีการับฟังผู้ร้องนำสืบได้ หากประสงค์โต้แย้ง ใช้สิทธิโต้แย้งระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อศาลฎีกาพิพากษาคดีผู้ถูกร้องถึงที่สุด คำพิพากษามีผลผูกพัน บังคับเด็ดขาดทางกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจตรวจสอบคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น
ข้อโต้แย้งต่อมา ผู้ร้องไม่มีอำนาจส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพ สว.สิ้นสุดลง เนื่องจาก กกต.ต้องดำเนินการตามที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่วินิจฉัยสมัครรับเลือกตั้ง การดำเนินการเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส. เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจกรณี กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพ สส. หรือ สว.คนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลง ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า กกต.มีมติเมื่อ 16 ต.ค.2567 ตรวจสอบแล้วได้ความว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาดังกล่าว ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้ถูกร้อง 10 ปี ผู้ถูกร้องจึงเป็นบุคคลถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้ สมาชิกภาพ สว. สิ้นสุดลง จึงเป็นกรณีผู้ร้องเห็นว่า สมาชิกภาพ สว.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ประกอบระเบียบดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติศาลฎีกากำหนดขึ้น เพื่อใช้พิจารณาคดี บริหารงานภายในศาลฎีกา การที่ผู้ถูกร้องโต้แย้ง ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ สว.ของผู้ถูกร้อง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องตามหลักเกณฑ์ การยื่นคำร้องจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า กรณีผู้ถูกร้องไม่อยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5) เนื่องจากตอนสมัครรับเลือก สว. ได้รับเลือกเป็น สว.และประกาศให้เป็น สว.นั้น ผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ตามมาตรา 98 (5) ซึ่งมาตรา 98 (5) บัญญัติห้ามมิให้ใช้สิทธิรับเลือกตั้ง สส.ไว้เป็นการเฉพาะ ไม่ได้บัญญัติห้ามสมัคร สว. และเวลาดังกล่าวผู้ถูกร้องไม่ได้เป็น สส. แต่อย่างใด
ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สว. เป็นสภาแห่งการตรวจสอบ เป็นองค์กรที่ประสานความคิดจากประชาชนที่มีความรู้ ประสบการณ์ มีความหลากหลายทางอาชีพ วิถีชีวิต ความสนใจ ให้การตรากฎหมาย พิจารณาทุกแง่มุม กลั่นกรองกฎหมายที่ สส.เห็นชอบ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรสำคัญตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ สว.ไว้ เพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งมีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นหลักประกันว่า ผู้ได้รับเลือก ปฏิบัติหน้าที่ซื่อสัตย์สุจริต มีความเห็นเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่อยู่ใต้อาณัติพรรคการเมือง มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
การกำหนดลักษณะต้องห้าม แตกต่างจากคุณสมบัติ กล่าวคือในมาตรา 108 กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ สว. โดยคุณสมบัติใช้บังคับก่อนวันสมัครรับเลือก คุณสมบัติเหล่านี้ต้องครบถ้วนก่อน หากผู้สมัครมีคุณสมบัติไม่ครบตามกฎหมายกำหนดขณะนั้น ผู้นั้นไม่อาจใช้สิทธิสมัครเลือก สว.ได้
แต่ลักษณะต้องห้ามของ สว.นั้น ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนสมัครเลือก สว. ขณะเลือก สว. และหลังการเลือก สว.รวมทั้งการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง สว.แล้ว หากภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้สมัครรับเลือกมีลักษณะต้องห้ามเป็น สว. บุคคลนั้นย่อมถูกเพิกถอนให้พ้นตำแหน่งได้
เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5) เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สว.เห็นได้ว่า หาก สว.ผู้ใดมีเหตุตามมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5) ระหว่างการดำรงตำแหน่ง จะมีผลทำให้สมาชิกภาพ สว.ผู้นั้นสิ้นสุดลงระหว่างการดำรงตำแหน่งได้ มิใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้าม ก่อนหรือขณะใช้สิทธิสมัครเลือก สว.เท่านั้น แต่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตลอดเวลาดำรงตำแหน่ง
ประกอบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เอาลักษณะต้องห้ามผู้สมัคร สส.มาบังคับใช้กับลักษณะต้องห้าม สว.นั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า สส. และ สว.ต่างเป็นองค์กรใช้อำนาจนิติบัญญัติร่วมกัน แม้จะมีที่มา คุณสมบัติ หรืออำนาจหน้าที่ต่างกันออกไปบ้าง แต่การบัญญัติลักษณะต้องห้ามของการเข้าสู่ตำแหน่งทั้ง 2 ตำแหน่ง ย่อมต้องเป็นไปในทางเดียวกัน มิใช่บัญญัติต่างกัน หรือแยกกันชัดเจน จนไม่อาจใช้รวมกันได้ ดังนั้น ลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (5) ใช้บังคับกับกรณีผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็น สว.ด้วย ดังนั้นการพิจารณาปรับใช้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญบังคับเช่นนั้น ไม่ใช่บังคับใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายต่อผู้ถูกร้องแต่อย่างใด ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น
- โดน “ใบแดง” 10 ปี ต้องพ้นสมาชิกภาพ สว. ตั้งแต่วันถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็น สว. ตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก คือ 10 ก.ค. 2567 ต่อมาวันที่ 23 ก.ย.2567 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกร้อง 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา สมาชิกภาพ สว.ของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตาม มาตรา 110 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5)
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อสมาชิกภาพ สว.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามมาตรา 110 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5) แล้ว สมาชิกภาพ สว.นับแต่เมื่อใด เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่า สมาชิกผู้ถูกร้อง มีกรณีตามที่ผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยให้แจ้งประธานแห่งสภาที่รับคำร้อง กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สว.สิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบกิจการก่อนวันพ้นตำแหน่ง
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว บัญญัติการพ้นตำแหน่งของ สว.ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มิได้ให้อำนาจศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า 11 ธ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะวินิจฉัย ศาลจึงสั่งให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนับจากวันหยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นสมาชิกภาพ สว.ของผู้ถูกร้อง จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 82 วรรคสอง นับแต่ 11 ธ.ค. 2567 เป็นต้นไป
เมื่อสมาชิกภาพ สว.สิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่ง สว.ที่มาจากการเลือกว่างลง ประธานวุฒิสภา ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เลื่อนบุคคลบัญชีสำรอง สว.ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง สว.แทน ตามลำดับ ตาม พ.ร.ป.เลือก สว. มาตรา 45 โดยให้ถือว่า วันที่ตำแหน่ง สว.ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยแก่ผู้กรณีฟังโดยชอบ
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สว.ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่คือ 11 ธ.ค. 2567 และให้ถือว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในวันอ่านคือ 26 มี.ค.2568 เป็นวันที่ตำแหน่ง สว.ที่มาจากการเลือกว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.ป.เลือก สว. มาตรา 45
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องจากในการเลือกตั้งปี 2566 นายสมชาย ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.สงขลา เขต 9 พรรคภูมิใจไทย รู้เห็นสนับสนุนให้มีการแจกเงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจงใจให้ลงคะแนนให้แก่ตน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์