เกษตรฯ วาง 6 มาตรการปฏิรูปยางพารา

เกษตรฯ วาง 6 มาตรการปฏิรูปยางพารา

กระทรวงเกษตรฯ รุกปฏิรูปยางพารา วาง 6 มาตรการ รายได้ชาวสวนยาง เน้นลงทุนแปรรูปส่งเสริมวิจัยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ต่อยอดรับเบอร์ซิตี้ ปรับกลยุทธ์การขายเจาะจีนทุกมณฑล เร่งตั้งตลาดยาง “ไทยคอม” ลดพื้นที่สวนยาง 2 ล้านไร่ เพิ่มใช้ยางในประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราและรักษาเสถียรภาพราคายาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ว่าตามที่มีการประชุมคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราและรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 3/2563 ไดรับทราบถึงสถานการณ์ผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มเติบโต ในอัตรา 3 – 4 % ต่อปี

จากพื้นที่เพาะปลูกใหม่ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดหลังจากเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงปี 2547- 2555 โดยเฉพาะผลผลิตของจีนที่ปลูกในกลุ่มประเทศ CLMV ในขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราของโลกคาดว่าจะขยายตัว 4 - 5% ต่อปี ส่งผลให้ยังคงมีผลผลิตยางพาราส่วนเกินเฉลี่ยกว่า 3.5 - 4.5 แสนตันต่อปี และจะมีผลให้ค่าคาดการณ์สต็อกยางพาราโลกสูงกว่า 4 ล้านตันในช่วงปี 2562- 2563 ซึ่งจะกดดันให้ราคายางพาราในตลาดโลกในช่วงปี 2563 - 2564 มี แนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากปลายปี 2561 ทั้งยังเผชิญวิกฤติโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลต่อการผลิต ตลาดและราคาทั่วโลก

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ปัญหาทั้งในเชิงโอกาสในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลกด้วยมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท และส่งออกยางรถยนต์อันดับ 4 ของโลกส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก จึงมีมติกำหนด 6 มาตรการ ปฏิรูปยางพาราชุดแรกเพื่อตอบโจทย์ยุคนิวนอร์ มอลจากผลกระทบของโควิด 19 โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ชาวสวนยางและสถาบันยางพร้อมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและแก้ไขปัญหาราคาทำให้เกิดเสถียรภาพราคายางพาราทั้งระยะสั้นและรายะยาว พบว่า

มาตรการตลาดและราคา (Market & Price) เนื่องจากตลาดซื้อขายล่วงหน้ามีอิทธิพลต่อราคาอ้างอิงในตลาดซื้อขายจริงโดยเฉพาะตลาดซื้อขายล่วงหน้า 4 ตลาดหลักคือตลาดเซี่ยงไฮ้ โตเกียว สิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดผู้ซื้อในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกและเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกแต่มีบทบาทน้อยมากต่อการกำหนดราคาซื้อขายยางพารา

จึงเห็นควรให้เร่งศึกษาหาข้อสรุปการจัดตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริง (Physical Forward Market) ของยางพาราที่เรียกว่า “ตลาดไทยคอม” (ThaiCom) ซึ่งเป็นตลาดลูกผสมแบบ ไฮบริด (Hybrid) ระหว่างตลาดซื้อขายจริง (Spot Market) กับตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Future Market) โดยดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของการยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) โดยให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่ประกอบไปด้วยผู้เขี่ยวชาญศึกษาจัดทำรายงานเสนอภายใน 90 วัน

ระหว่างนี้ให้ กยท. เสนอรายงานแนวคิดเบื้องต้น (Concept paper) เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อรับทราบแนวทางนโยบาย หากเห็นชอบในหลักการให้คณะทำงานจัดทำรายงานขั้นสุดท้ายเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาก่อนเสนอต่อคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

159299800359

มาตรการการบริหารด้านอุปทาน (Supply Side Management) กำหนดให้ลดพื้นที่สวนยาง 2 ล้านไร่โดยลดพื้นที่สวนยางปีละ 2 แสนไร่ เป็นเวลา 10 ปีเพื่อลดปริมาณการผลิตโดยขอการสนับสนุนไร่ละ 10,000 บาทจากรัฐบาลเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน นอกจากนี้ ให้เร่งขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานภาครัฐเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศและมอบหมาย กยท. เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราตามความต้องการของภาครัฐและตลาดทั้งในและต่างประเทศ

มาตรการการบริหารด้านอุปสงค์ (Demand Side Management) เร่งขยายตลาดในจีนโดยให้ขยายการค้ายางพาราให้ครอบคลุมในทุกมณฑลของประเทศจีน เพื่อเพิ่มช่องทางการขายยางพาราต่อยอดจากในอดีตที่การค้ายางกระจุกตัวอยู่ในบางมณฑลรวมทั้งการขยายตลาดหลักอื่นๆ และเปิดตลาดใหม่ๆ โดยให้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการค้ายางพารากับจีนและตลาดหลักเป็นการเร่งด่วนเพื่อกำหนดแนวทางการตลาดและการขายเชิงรุกทั้งรูปแบบการค้าออนไลน์และออฟไลน์รวมทั้งการสร้างมาตรฐานของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ยางพาราตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรมยางพาราของไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า

นอกจากนี้ยังมีมติให้ กยท. จัดงาน “ยางพาราเอ็กซ์โปบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเสมือนจริง (Virtual Platform) เพื่อเพิ่มช่องทางการค้าและการจับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศ

 มาตรการส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เร่งส่งเสริมการลงทุนโรงงานผลิตถุงมือยางรวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ในยุคนิวนอร์มอล (New Normal) จากผลกระทบของโควิด 19 โดยเร่งเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนในรับเบอร์ซิตี้ (Rubber City) และพื้นที่ใกล้แหล่งผลิตยางพาราพร้อมกับเร่งศึกษาโครงการรับเบอร์คอมเพล็กซ์ (Rubber Complex) ที่นครศรีธรรมราช และให้ กยท. จัดโครงการประกวดนวัตกรรมการแปรรูปยางโดยเชื่อมโยงกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับชาวสวนยางและสถาบันยาง

159299802830

มาตรการลดสต็อกยางพารา ให้ กยท. เสนอแนวทางการบริหารจัดการสต็อกยางพาราที่คงค้างกว่า 1 แสนตัน โดยให้เสนอต่อคณะกรรมการในการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 9 ก.ค. ทั้งนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้ส่งผลกระทบด้านราคา

มาตรการเพิ่มรายได้ มอบหมายให้ กยท. ขยายการส่งเสริมเกษตรผสมผสานเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวสวนยางและสถาบันยางพารา ซึ่งเดิมพึ่งพารายได้จากยางพาราเพียงด้านเดียวและส่งเสริมการปลูกพืชที่มีอนาคตด้านตลาดและไม้เศรษฐกิจเพื่อทดแทนสวนยางพาราที่ถึงกำหนดต้องตัดทิ้งตามนโยบายลดพื้นที่สวนยางพารา

“มาตรการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและระบบยางพาราทั้ง 6 แนวทางเป็นมาตรการชุดแรกที่จะตอบโจทย์ยุคนิวนอร์มอลพุ่งเป้าไปที่การสร้างกลไกและกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการรักษาเสถียรภาพราคาและเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง โดยเน้นย้ำให้ กยท. ดำเนินการบริหารจัดการแบบภาวะวิกฤต (Crisis management) ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดและราคายางพาราทั่วโลกเพื่อความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ในการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”