ปั้น 'ถุงมือยางไทย' บุกตลาดโลก 'ศรีตรังโกลฟส์'
ขยายตลาด 'ถุงมือยาง' ในและนอกประเทศ ! ขึ้นแท่น 1 ใน 3 กำลังผลิตโลก 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ 'ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย)' เตรียมระดมทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 2 ก.ค. นี้ 'จริญญา จิโรจน์กุล' นายหญิง ส่งซิกโรคโควิด-19 ทำออเดอร์ล้นไปถึงปีหน้า
การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) แรงผลักดันให้ 'ธุรกิจถุงมือยาง' มีอัตราการเติบโต 'ก้าวกระโดด' ทันที สัญญาณดังกล่าว บ่งชี้ว่าในอนาคตการดูแลด้านสุขอนามัยถือเป็นเรื่องสำคัญของทั่วโลก ! และกระจายเข้าไปในหลากหลายอุตสาหกรรมไม่เพียงแค่วงการแพทย์เท่านั้น สะท้อนผ่านความต้องการ (ดีมานด์) เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 'สองหลัก'
สัญญาณบวกดังกล่าวกำลังส่งผลดีต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่ ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวนไม่เกิน 444,780,000 หุ้น เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในวันที่ 2 ก.ค. 2563 นี้ ในราคาหุ้นละ 34 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาท โดยกำหนดราคาเสนอขายผ่านการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Bookbuilding) โดยราคา IPO คิดเป็นอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น(P/E) อยู่ที่ 54 เท่า
สำหรับการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้ จะนำเงินไปใช้ขยายกำลังการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ติดตั้งระบบ SAP ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ ทำให้มีเงินลงทุนสามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจได้อย่างเต็มที่ในอนาคต
'จริญญา จิโรจน์กุล' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางไนไตรล์ เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ตัดสินใจเข้าตลาดหุ้น เพราะต้องการสร้างการเติบโตในอนาคต ด้วยการ 'ขยายกำลังผลิต' ถุงมือยาง หลังจากช่วงที่ผ่านมาไม่มีการขยายกำลังการผลิตมานาน
โดยปัจจุบัน STGT ถือเป็นผู้ผลิตถุงมือยาง 'เบอร์ 3' ของโลก โดย 5 อันดับแรกของโลกมีชื่อบริษัทและกำลังผลิต ดังนี้ 1. Top Glove กำลังผลิต 73,400 ล้านชิ้นต่อปี 2.Hartalega กำลังผลิต 36,600 ล้านชิ้นต่อปี 3.STGT กำลังผลิต 32,619 ล้านชิ้นต่อปี 4.Kossan กำลัง 28,000 ล้านชิ้นต่อปี และ5.Supermax 24,000 ล้านชิ้นต่อปี
ดังนั้น ถือว่า STGT เป็นบริษัทที่มีศักยภาพ และมีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีกมากในอนาคต จากความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ
บ่งชี้ผ่านปัจจุบัน 'ยอดคำสั่งซื้อ' (ออร์เดอร์) ถุงมือยางของลูกค้าสั่งซื้อเข้ามากับบริษัท ตอนนี้มียอดออร์เดอร์ล่วงหน้าในปีนี้เต็มปีแล้ว และมีออร์เดอร์ล้นยาวไปถึงปี 2564 ซึ่งมองว่าปัจจัยโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเร่งผลักดันการพัฒนาบริการทางการแพทย์ ส่งผลบวกต่อภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้และในปีต่อๆ ไปด้วย
โดยในช่วงปี 2559-2562 ความต้องการใช้ถุงมือยางมีการเติบโตเฉลี่ย 12.2% ต่อปี หรือจากระดับ 2.12 แสนล้านชิ้น มาอยู่ที่ 3 แสนล้านชิ้น และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การดูแลด้านสุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งส่งผลบวกต่อธุรกิจของ STGT ที่มียอดออร์เดอร์ถุงมือยางเข้ามามากขึ้น ทำให้เห็นภาพการเติบโตในอนาคตได้อย่างชัดเจน
'ความต้องการถุงมือยางยังมีแนวโน้มเติบโตดี จากกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนามีความต้องการถุงมือเพิ่มมากขึ้น และฐานการเติบโตยังอยู่ระดับต่ำ เช่น ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา แอฟริกาใต้'
สะท้อนผ่าน แผนธุรกิจที่บริษัทวางแผนขยายกำลังการผลิตถุงมือยางอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายในการรักษาการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะเน้นเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางธรรมชาติและรักษาสัดส่วนผลิตถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้น้ำยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบอย่างเหมาะสม รวมถึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ภายในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต
เธอ บอกต่อว่า เบื้องต้นบริษัทได้วางแผนการขยายกำลังผลิตถุงมือยางเพิ่มเฉลี่ย 4,000-5,000 ล้านชิ้นต่อปี โดยในช่วงปี 2563-2571 บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ขยายกำลังการผลิตให้เพิ่มเป็น 7 หมื่นล้านชิ้นต่อปี และเพิ่มเป็น 1 แสนล้านชิ้นต่อปีในปี 2575 หรือในอีก 12 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 3.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการเพิ่มช่องทางการขายใหม่ในกลุ่มประเทศที่ยังไม่เคยเข้าไปทำตลาด ซึ่งจะเน้นถุงมือยางธรรมชาติเป็นหลัก มีสัดส่วน 65% และอีก 35% เป็นถุงมือยางสังเคราะห์ ซึ่งบริษัทมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% และ 60%
ทั้งนี้ หลังจากได้รับเงินจากการเสนอขาย IPO มาแล้วบริษัทจะนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตถุงมือยางในจังหวัด สงขลา ตรัง และสุราษฎร์ธานี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้รองรับกับความต้องการใช้ถุงมือยางที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการใช้ถุงมือยางจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการสนับสนุนด้านการยกระดับบริการสาธารณสุขจากภาครัฐมากขึ้น เช่น ประเทศ จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา
'ช่วงปี 4-5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้ถุงมือยางมีการเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางการแพทย์ที่ในหลายๆประเทศต้องการพัฒนาคุณภาพบริการทางการแพทย์ให้ดีขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้ถุงมือยางที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง'
สำหรับสัดส่วนการขายถุงมือยางของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการส่งออกไปต่างประเทศ สัดส่วน 90% และขายในประเทศ 10% ซึ่งบริษัทมีการส่งออกถุงมือยางไปจำหน่ายใน 140 ประเทศทั่วโลก พร้อมวางแผนขยายตลาดใหม่ๆในกลุ่มประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น ทวีปเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ แอฟริกา อเมริกาใต้ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาระบบสาธารณสุขและสุขอนามัย
ดังนั้น อัตราการบริโภคถุงมือยางเฉลี่ยต่อคนต่อปีจึงมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยบริษัทจะใช้จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของโรงงานในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์การเพาะปลูกยางพาราและโรงงานผลิตน้ำยางข้นของกลุ่ม STA ที่เป็นวัตถุดิบหลักเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและซัพพลายเชน
'หญิงเก่ง STGT' บอกต่อว่า สำหรับปี 2563 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายจะเติบโต 40-45% เป็น 2.8-2.9 หมื่นล้านชิ้น และส่วนแบ่งตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 9-10% ของตลาดโลก
ทั้งนี้ สินค้าของบริษัทมีตลาดหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชีย 40% ประเทศกำลังพัฒนา 20% ยุโรป 20% และ สหรัฐอเมริกา 20% โดยมองโอกาสการเติบโตการใช้ถุงมือยางในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มเอเชียค่อนข้างสูง เพราะยังมีอัตราการใช้ต่ำเพียง 10 ชิ้นต่อต่อปี ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราการใช้ 100-150 ชิ้นต่อคนต่อปี
'ถุงมือยางธรรมชาติ ปัจจุบันบริษัทส่งออกไปขาย 140 ประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายจะขายไปทุกประเทศทั่วโลก อีกทั้งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น'
สำหรับ ภาพรวมของอุตสาหกรรมถุงมือยางในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 8-10% ต่อปี จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2562) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี และปัจจัยที่ผลักดันให้มีความต้องการเติบโตจากที่ประชากรสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของโรคที่จะเห็นว่าที่ผ่านมามีโรคระบาดเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น โรคโควิด-19 โรค H1N1 และโรคซาร์ เป็นต้น รวมถึงนโยบายของภาครัฐแต่ละประเทศที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึ
สำหรับ 'ความเสี่ยง' ของธุรกิจหลักของ STGT คืออัตราแลกเปลี่ยน ทั้งสกุลเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินริงกิตเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยหากค่าเงินบาทแข็งและค่าเงินริงกิตอ่อนค่าจะกระทบกับบริษัท
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าในปีนี้แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าไม่สูงมาก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวหายไป ส่วนรายได้จากการส่งออกยังมีอยู่ ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงด้านต้นทนการผลิต โดยเฉพาะน้ำยางดิบ คาดว่าราคาไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะสถานการณ์โควิดทำให้ความต้องการซื้อวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตยางรถยนต์ลดลง
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาท บริษัทมีประกันความเสี่ยงทั้งเรื่องวัตถุดิบและเครื่องจักรนำเข้า รวมถึงประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทไว้บางส่วนตามความเหมาะสม ซึ่งอยู่ในกรอบที่บริษัทสามารถควบคุมได้ ทั้งนี้บริษัทมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 90% รับรู้เป็นสกุลเงินดอลลาร์เกือบ 100%
ขณะที่ ภาพรวมการดำเนินงานปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3% และมีกำไรสุทธิ 613.91 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณการขายสินค้าเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ ประเทศในแถบลาตินอเมริกา และการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 มีรายได้รวม 3,873.28 ล้านบาท เติบโต 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 421.89 ล้านบาท เติบโต 184.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยมาจากการขยายกำลังการผลิต รวมไปถึงความต้องการใช้ถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทต้องเร่งการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ท้ายสุด 'จริญญา' ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ในอนาคตมีปริมาณการขายสินค้าถุงมือยางจะเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ ประเทศในแถบละตินอเมริกา ซึ่งยังเป็นตลาดที่สามารถสร้างยอดขายได้อีกมาก