'กูรู & เซียน' ลุ้นครึ่งหลังฟื้น SET INDEX ผ่าน 'จุดต่ำสุด' แล้ว !

'กูรู & เซียน' ลุ้นครึ่งหลังฟื้น SET INDEX ผ่าน 'จุดต่ำสุด' แล้ว !

'2 กูรู & 2 เซียน' วิพากษ์ SET INDEX ครึ่งหลังปี 2563 มีโอกาสฟื้นตัว 3 เดือนสุดท้าย ! หลังรับรู้วิกฤติโควิด-19 ผ่าน 'จุดต่ำสุด' ช่วงไตรมาส 2 ไปแล้ว หวังมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง กระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก เข้ามาเปลี่ยนทิศทางดัชนีขยับอีกครั้ง...!

พลันที...! การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) รุนแรงและขยายวงกว้างออกนอกประเทศจีน (ต้นกำเนิดโรค) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 'ความกังวล' (Panic) ของทั่วโลกก็ปะทุขึ้นทันที ผลกระทบแรกที่ชัดเจน คือ ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกปั่นป่วน เม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์ที่มี 'ความเสี่ยงสูง' เช่น ตลาดหุ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหว และย้ายเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย หรือ Safe Haven คือ 'ทองคำ-ดอลลาร์'

สะท้อนผ่าน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker) 30 นาที ถือเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 11 ปี (27 ต.ค.2551) ซึ่งในครึ่งปีแรก 2563 ตลาดต้องงัดมาตรการ Circuit Breaker ไป 3 ครั้ง ! ซึ่งดัชนี SET INDEX ปรับตัวขึ้น 'จุดสูงสุด' (New High) อยู่ที่ 1,600.48 จุด (17 ม.ค. 2563) และ 'ต่ำสุด' (New Low) อยู่ที่ 969.08 จุด (13 มี.ค.2563)

'การลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ผกผันอย่างสุดขั้ว จากการปรับฐานแรงของหลายสินทรัพย์ทั่วโลกเนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 และราคาน้ำมันดิบตกต่ำ'

ด้านราคา 'ทองคำ' ดีดตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 7 ปี ! หลังล่าสุด ณ วันที่ 9 มี.ค. 2563 ราคาทองคำขึ้นมาทดสอบ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็น New High เมื่อเดือน ธ.ค. 2555

159317215783

กราฟดัชนี SET INDEX ต้นปี-26 มิ.ย.2563 

ก่อนที่ตลาดหุ้นจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบตั้งตัวแทบไม่ทัน! โดยเฉพาะตลาดหุ้นหลายภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นบางแห่งกลับเข้ามาใกล้ระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ด้วยความเร็วของการฟื้นตัว สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอย่างมากของนักลงทุน และหนุนจาก 'สภาพคล่อง' ที่เข้ามาท่วมท้น หลังประเทศมหาอำนาจใหญ่ทั้งสหรัฐ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ล้วนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว ทั้งการลดดอกเบี้ยและการเข้าซื้อสินทรัพย์มูลค่ามหาศาล ซึ่งขณะนี้สามารถบรรเทาความตึงเครียดด้านสภาพคล่องในตลาด

ไล่เรียงตัวเลขเม็ดเงินที่อัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศพี่ใหญ่ของโลกอย่าง 'สหรัฐ' กระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 62 ล้านล้านบาท) นับเป็นมาตรการฉุกเฉินที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ขณะที่ ก่อนหน้า 'ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด' ได้ประกาศมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 1ล้านล้านดอลลาร์ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเช่นกัน

ขณะที่ ประเทศอังกฤษ ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 3 แสน 3 หมื่นล้านปอนด์ (หรือประมาณ 13 ล้านล้านบาท) ด้านรัฐบาลเยอรมนีเผยมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจสูงถึง 7 แสน 5 หมื่นล้านยูโร (หรือประมาณ 26 ล้านล้านบาท) เพื่อสนับสนุนเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจ

ฟากรัฐบาลฝรั่งเศสอนุมัติมาตรการช่วยเหลื่อธุรกิจขนาดย่อมและลูกจ้างที่ตกงานมูลค่า 4 หมื่น 5 พันล้านยูโร (หรือประมาณ 1 ล้าน 6 แสนล้านบาท) และโครงการรับประกันเงินกู้อีก 3 แสนล้านยูโร (10 ล้านล้านบาท)

ข้ามมาดูที่ที่ฝั่งเอเชียกันบ้าง เริ่มต้นที่ 'จีน' ซึ่งเป็นต้นตอและศูนย์กลางการแพร่ระบาดได้ออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ 116 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 500 ล้านล้านบาท) ส่วน 'ญี่ปุ่น' ประกาศ Emergency response มูลค่าประมาณ 16 ล้านล้านเยน และธนาคารกลางญี่ปุ่นเสนอซื้อพันธบัตร 200,000 ล้านเยน (1,900 ล้านดอลลาร์)

ส่วน 'สิงคโปร์' แจกเงินสดให้ประชาชนทุกคน อายุ 21 ปีขึ้นไป ระหว่าง 100-300 ดอลลาร์สิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ ด้าน 'ฮ่องกง' แจกเงินให้กับคนในประเทศ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (40,500 บาท) ปิดท้ายที่ 'รัฐบาลไทย' ก็แจกเงินให้กลุ่มคนตกงานเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงินคนละ 1.5 หมื่นบาท ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย อัดฉีดสภาพคล่อง รวม 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตลาดเงิน ตลาดทุนไทย

ทว่าทิศทางดัชนี SET INDEX จะไปทางใด! 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ให้เหล่า 'กูรู & เซียน' วิเคราะห์ตลาดหุ้นครึ่งปีหลัง 2563 ให้ฟัง..

'สุโชติ ถิรวรรณรัตน์' ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI เล่าว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง 2563 คาดช่วง 1-2 เดือนแรก (ก.ค.-ส.ค.) 'ผันผวนหนัก!' และหลังจากนั้นจะเป็นลักษณะตลาดหุ้น 'ไซด์เวย์' (Sideway) คือจะเป็นการขึ้นแบบค่อยๆ ขึ้นจะไม่เห็นภาพการ “ปรับตัวขึ้น” รวดเร็วเหมือนช่วงครึ่งแรก แต่ตลาดหุ้น 'ร่วงหนัก' เช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่บอกเช่นนั้น เพราะว่าตลาดหุ้นไม่เหมือนช่วงเกิดโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ปัจจุบันตลาดหุ้นมีสภาพคล่องในตลาดสูงมาก และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ! เนื่องจากประเทศมหาอำนาจต่างๆ ต่างอัดเม็ดเงินเข้ามาในตลาด 'มหาศาล' ฉะนั้น เมื่อเม็ดเงินลงทุนในตลาดสูง ตามหลักแล้วเงินลงทุนจะต้องวิ่งไปหาสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลกำไรได้ดี !

นั่นคือ ตลาดหุ้น เนื่องจากจะนำไปฝากธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งตราสารหนี้ที่เดิมเคยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแต่อัตราดอกเบี้ยก็ต่ำ

'ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ตลาดหุ้นไทยน่าจะใกล้จบการพักฐานแล้ว และมีโอกาสที่จะเริ่มเข้าสู่การ Sideway จึงเป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานดีที่ Valuation ไม่แพง เพื่อคาดหวังถึงการฟื้นตัวในปีหน้า'

ทั้งนี้ มองว่า เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกในไตรมาส 2 ปี 2563 จะเป็น 'จุดต่ำสุด' และค่อยๆ ฟื้นตัวในครึ่งปีหลังของปี 2563 เนื่องจากหลายประเทศเริ่มมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว และคาดว่าน่าจะไม่เห็นการกลับไปใช้มาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) เหมือนเช่นเดิมอีก

ประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ในปี 2563 และ 2564 อยู่ที่ ติดลบ 8.4% และ บวก 8.0% ตามลำดับ ดังนั้น ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ในปี 2563 ที่ชะลอตัวลง คาดว่าจะกลับฟื้นตัวได้ในปีหน้า ดังนั้นการพิจารณาในมุมของ PE ปี 2563 เพียงปีเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้ตัดสินใจลงทุน ส่วนการพิจารณาถึง PE ปี 2564 ก็อาจจะเร็วเกินไป เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นระลอกที่ 2 (Second wave)

แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศสหรัฐ กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกในหลายมลรัฐอีกครั้ง ! รวมทั้งสถานการณ์ในประเทศบราซิลและอินเดียก็ยังน่าเป็นห่วง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าในแต่ละประเทศจะมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดของตัวเอง

159317225254

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์

'ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์' ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS บอกว่า ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังน่าเป็นลักษณะ 'ไซด์เวย์' เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามาสนับสนุนตลาดหุ้นให้ปรับตัวขึ้น ฉะนั้น หากดัชนีปรับตัวลดลงมาระดับ 1,200 จุด เป็นจังหวะเข้า 'ซื้อ' และดัชนีปรับตัวขึ้นไประดับ 1,400 จุด เป็นจังหวะ 'ขาย'

'ตลาดหุ้นปี 2563 ต้องใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบสลับตัวเล่น ได้รีเทิร์น 10-20% ก็ควรขายและเปลี่ยนตัวเล่นใหม่ จะมารอให้ได้รีเทิร์น 30-40% เหมือนในอดีตคงจะยาก เพราะว่าตลาดหุ้นปีนี้ไม่ใช่ตลาดขาขึ้น'

ทั้งนี้ มุมของ 'พื้นฐาน' ตลาดหุ้นครึ่งปีหลัง 2563 นั้น เชื่อว่าฟื้นตัวขึ้นจากครึ่งปีแรก เนื่องจากไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นจุดต่ำสุดแล้ว สะท้อนผ่านการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักทั้งหมด แต่ในแง่ของ 'ราคาหุ้น' นั้น มองว่าจะปรับตัวขึ้นไปมากแล้ว เพราะว่าราคาหุ้นขึ้นมามากแล้วในช่วงครึ่งปีแรก

สำหรับ 'หุ้นกลุ่มที่ยังลงทุนได้' แนะนำหุ้นใน 'กลุ่มสื่อสาร' เพราะว่ายังไงทุกคนก็ยังต้องใช้โทรศัพท์ 'กลุ่มโรงพยาบาล' โดยเน้นเป็นโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนคนไข้เป็นคนไทย และ 'กลุ่มสาธูปโภค' อย่าง ทางด่วน , รถไฟฟ้า , น้ำประปา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาพของตลาดหุ้นไทยมองว่าเป็นการแกว่งไซด์เวย์ เพราะการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนสินทรัพย์ในโลกที่เป็นลักษณะการลงทุนในระยะสั้นมากขึ้น ที่มีการซื้อเมื่อราคาปรับตัวลง และขายเมื่อราคาปรับตัวขึ้น ทำให้ตลาดมีความผันผวนค่อนข้างมาก และความไม่แน่นอนของโควิด-19 ทำให้สร้างความไม่มั่นใจในการลงทุน ทำให้การลงทุนเผชิญกับความเสี่ยงค่อนข้างมากในปีนี้

'ช่วงครึ่งปีหลัง ดัชนีหุ้นไทยยังไม่เห็นปัจจัยบวกหนุน ซึ่งถ้ามองตามเซคเตอร์ในตลาดหุ้น กลุ่มหุ้นที่ควรปรับตัวขึ้น ก็ได้ปรับตัวขึ้นไปเกือบเท่าที่เดิมแล้ว แต่หุ้นที่ยังไม่มีการปรับตัวขึ้น ต้องรอวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายเสียก่อน จึงมองว่าหากดัชนีผ่านช่วง 1,400 จุด เป็นจังหวะเหมาะสมที่ควรขาย'

ฟากฝั่ง 'นักลงทุนรายใหญ่' อย่าง 'ซัน-กระทรวง จารุศิระ' นักลงทุน และผู้ริเริ่มโครงการซุปเปอร์ เทรดเดอร์ ไทยแลนด์ (Super Trader Thai land) วิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง 2563 ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า เมื่อ 24 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ถือว่าตลาดหุ้นไทยมีเริ่มมีสัญญาณตลาดเป็น 'ขาลง' อีกครั้ง หลังกลับมาหลุดแนวรับสำคัญ จากเดิมที่ตลาดหุ้นเป็น 'ขาขึ้น' มาตลอดในช่วง 1-3 เดือนที่ผ่านมา บ่งชี้ผ่านตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาไม่ดี ทั้งตัวเลขจีดีพี , ตัวเลขคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่คาดว่าไตรมาส 2 ปี 2563 จะต่ำสุด

ฉะนั้น มองว่าครึ่งปีหลังตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือนแรก (ก.ค.-ก.ย.2563) จะเป็นลักษณะ 'ตลาดหุ้นซึมยาว' แต่จะไม่เลวร้ายถึงขั้นเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ก็จะยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติเหมือนเดิม เพราะว่าเศรษฐกิจจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว เนื่องจากสถานการณ์ไม่เหมือนเดิม หลังทุกประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมากันทุกช่องทาง เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของตัวเลข

'อย่างไรก็ตาม มองว่าดัชนี SET INDEX มีโอกาสจะปรับลงมาลึกสุดได้อีกราว 200 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,150 จุด ซึ่งไม่น่าจะลงไปลึกมากเหมือนช่วงครึ่งปีแรกที่ลงไปอยู่ที่ 969.08 จุด เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม หลังจากที่ธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกอัดเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจกัน'

สำหรับ 'กลยุทธ์' การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง 'กระทรวง' แนะนำให้ถือเงินสดไว้ รอเก็บของถูก ! ก่อน เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาไม่สวยเท่าไหร่ ประกอบกับให้รอดูผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ที่กำลังจะประกาศตัวเลขออกมาแล้วที่แนวโน้มคาดว่าจะผลการดำเนินงานที่ต่ำสุดแล้ว

'ช่วงนี้นักลงทุนควรเก็บเงินสดไว้นิ่งก่อน หากไม่อยากเจ็บตัว ซึ่งผมเปรียบการลงทุนช่วงนี้เหมือนเก็บเหรียญบาทตัดหน้ารถสิบล้อ'

'โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง' นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) มีมุมมองสอดคล้องกันว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง 2563 จะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยตลาดจะเป็นลักษณะ 'หุ้นขึ้นแบบสะสม' จะไม่ขึ้นรวดเร็วเหมือนช่วงครึ่งแรก แต่ก็ไม่น่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงและสร้างความวิตกกังวลมากเหมือนตอนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใหม่ แม้ว่าจะมีการระบาดระลอก 2 (Second wave) เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนรับรู้ปัจจัยลบในแง่ของโควิด-19 ไปมากแล้ว

'ตลาดหุ้นครึ่งปีหลังน่าจะเสถียรมากกว่าครึ่งแรก โดยคาดว่าปลายปีมีโอกาสเห็นดัชนี SET INDEX กลับไปใกล้เคียงกับดัชนีก่อนวิกฤติโควิด-19 อยู่ที่ 1,580 จุด จากตอนนี้ที่ผลตอบแทนตลาดติดลบราว 15% ภายใต้สถานการณ์ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย แม้ระหว่างทางดัชนีจะวนไปลงนรกมาบ้าง'

159317232275

โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง

+++++++++++++++++++

ตลท.เตือน 'หุ้นไทยแพง'

'ดร.ภากร ปีตธวัชชัย' กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บอกว่า ภาพรวมของมูลค่าตลาดหุ้นไทยในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับการประเมินรายได้หรือกำไรของบริษัทจดทะเบียน (Earning) ในปี 2564 ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน ประเมิน Forward P/E ในช่วง 1 ปีข้างหน้าสูงระดับ 20 เท่า ซึ่งมากกว่าตัวเลขระดับปกติ 16-17 เท่า นอกจากนี้ ยังมากกว่า Historical P/E ซึ่งอยู่ที่ 19 เท่า

ในขณะที่ภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2564 ยังคงต้องติดตาม เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว (Slow down) หากยังไม่มีข้อมูลใหม่ว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัว(Pick up) ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

'มูลค่าของหุ้นในตลท.ปัจจุบันขึ้นมาสูงมากเมื่อเทียบรายได้หรือ Earning ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า จะเห็นว่าค่าเฉลี่ย Forward P/E ที่ 20 เท่า เป็นตัวเลขที่สูงสุดตั้งแต่ผมทำงานมาปกติอยู่ที่ 16-17 เท่า'

ทั้งนี้ขอให้นักลงทุนติดตามดูข้อมูล และเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ ว่าแตกต่างหรือปรับตัวอย่างไรเพื่อเป็นปัจจัยตัดสินใจในการลงทุน

สำหรับตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงหนักสุดช่วงเดือนเมษายนถึง 37% แต่ปัจจุบันปรับตัว 'ลดลง' เหลือประมาณ 10% ด้านมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 69,000 ล้านบาทต่อวัน จากปีก่อนอยู่ที่ 53,000 ล้านบาทต่อวัน

ซึ่งภาพรวมนักลงทุนรายย่อยเพิ่มมากขึ้นมีสัดส่วน 43% จากเดิม 13% โดยในช่วงตลาดปรับตัวลดลงมีบัญชีเปิดถึง 100,000 บัญชี จากเดิมทั้งปีเปิดบัญชีประมาณ 150,000 บัญชี

++++++++++++++++++++++++++

ตัวเลขเศรษฐกิจ 'ทรุด' !

'ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส' ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดยประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้ม 'หดตัว' มากกว่าที่ประเมินไว้ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกรุนแรงกว่าที่คาด

จากผลกระทบโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดและรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก

นอกจากนี้ กนง. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยคาดว่าจะ 'ติดลบ' 8.1% จากเดิมคาดติดลบ 5.3% ขณะที่ในปี 2564 คาดเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ 5% จากเดิมคาด 3% ส่วน 'การส่งออก' ในปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 10.3% จากเดิมคาดติดลบ 8.8% ในปี 2564 คาดว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 4.5% จากเดิมคาด 0.2% ด้านการนำเข้าในปีนี้คาดติดลบ 16.2% จากเดิมคาดลบ 15% ส่วนปี 64 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.1% จากเดิมคาดลบ 0.4

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป มองว่าจะเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64 แต่อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ โดยกนง.มองว่า จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมทั้งมาตรการด้านการคลังต่างๆ จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

'เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 มีโอกาสติดลบลึกมาก และช่วงครึ่งหลังของปีจะค่อยๆ ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังจะเห็นจีดีพียังคงติดลบ แต่ติดลบน้อยลงเรื่อยๆ จนขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้'