“เกษตร”ดึงจีนตั้งโรงงาน ผลิต“ถุงมือยาง”ภูมิภาค
“เฉลิมชัย” เปิดทางจีนลงทุนตั้งโรงงานถุงมือยาง 2 หมื่นไร่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสั่งกยท.เทสต็อกแสนตันให้หน่วยงานรัฐนำไปใช้ลดภาระงบประมาณเฉียดพันล้านบาท
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิดระบาดส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในขณะนี้จีนสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศไทย โดยรอสถานการณ์คลี่คลายก็พร้อมเข้ามาดำเนินการได้ทันที
ปัจจุบัน การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) อยู่ระหว่างหารือรูปแบบการจัดตั้ง ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการร่วมลงทุนและการเข้ามาลงทุนเอง 100% เบื้องต้นอยู่ระหว่างหารือเรื่องรายละเอียดและรูปแบบการลงทุน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ปรับเงื่อนไขให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุน แต่กำหนดให้ตั้งโรงงานที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ประมาณ20,000 ไร่ ตั้งเป้ากำลังการผลิต 1,800 ล้านชิ้นต่อปี
โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นของ กยท. การจัดตั้งโรงงานดังกล่าวอาจใช้วงเงินลงทุนไม่สูงมาก แต่จะช่วยดูดซับน้ำยางข้นในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างติดตามและศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานดังกล่าวเป็นศูนย์กลางยางพาราของประเทศ (รับเบอร์วัลเลย์) เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัตกรรมเกี่ยวกับยางพาราครบวงจร
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้มุ่งเน้นให้ใช้วัตถุดิบ สินค้าเกษตรในประเทศให้มากที่สุด นอกจากสนับสนุนให้ใช้น้ำยางจากเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังเพื่อเสถียรภาพราคายางรองรับสถานการณ์หลังผลผลิตยางพาราเป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากโควิด-19 โดยคาดว่าภายในเดือน ก.ค.นี้ จะมีการลงไปสำรวจพื้นที่ต่อไป
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ กยท.เร่งรัดแนวทางระบายยางในสต็อกรัฐ รวม 104,000 ตัน เนื่องจากแต่ละปีสูญเสียงบประมาณในการเช่าโกดังจำนวนมาก ดังนั้นจึงสั่งการให้กยท.พิจารณาความเหมาะสมของราคายางในตลาดเพื่อระบายยางให้มากที่สุด รวมถึงการนำยางในสต็อกไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐให้มากขึ้น
รายงานข่าวระบุ การประชุมนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่ผ่านมา ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการประเมินการจัดสรรงบประมาณเป็นค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย ค่าจ้างและผลิตยางและอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค. 2559 ถึงเดือนก.พ. 2563 เป็นเงิน 772 ล้านบาท และเห็นชอบจัดสรรงบประมาณเป็นค่าเช่าโกดัง และค่าประกันภัย ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563- มี.ค. 2564 เป็นเงิน 126 ล้านบาท รวมกว่า 898 ล้านบาท