'ไทยแอร์เอเชีย' ดิ้นอัดแคมเปญตั๋วบินบุฟเฟต์ดันรายได้
“ไทยแอร์เอเชีย” ดิ้นอัดแคมเปญดันรายได้ เข็นโปรฯตั๋วถูกบินแบบบุฟเฟต์ครั้งแรก ราคา 2,999 บาท จำกัด 1 แสนสิทธิ์ กระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยเร่งตัดสินใจซื้อออกเดินทางช่วงครึ่งปีหลัง
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ไทยแอร์เอเชียพร้อมให้บริการเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศมากขึ้น โดยในเดือน ก.ค.นี้จะกลับมาให้บริการครบ 23 จุดหมายปลายทาง รวมถึงเส้นทางบินข้ามภาค รวมทั้งสิ้น 25 เส้นทาง มีจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการต่อวันเป็น 140 เที่ยวบิน เพิ่มจาก 80 เที่ยวบินต่อวันในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ไทยแอร์เอเชียได้เดินหน้าสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค ด้วยการเปิดตัวแคมเปญโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินแบบบุฟเฟต์ “บินทั่วไทยไม่อั้น” (AirAsia Unlimited Pass) เป็นครั้งเเรก ราคาเพียง 2,999 บาท ในจำนวนจำกัด 1 แสนสิทธิ์ สำหรับการเดินทางทุกเส้นทางภายในประเทศ เริ่มจำหน่ายวันที่ 29 มิ.ย.-5 ก.ค.นี้ ระยะเวลาแลกเที่ยวบินตั้งเเต่วันที่ 29 มิ.ย.-26 พ.ย.นี้ เพื่อเดินทางตั้งเเต่วันที่ 20 ก.ค.-17 ธ.ค.นี้
“ระหว่างรอประกาศชัดเจนเกี่ยวกับแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาลที่มีด้วยกัน 3 โครงการ ซึ่งธุรกิจสายการบินมีส่วนร่วมขายตั๋วบินผ่านโครงการเที่ยวปันสุข ไทยแอร์เอเชียจึงจัดโปรโมชั่นตั๋วบินบุฟเฟต์เพื่อช่วยกระตุ้นการตัดสินใจออกเดินทางและใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังนี้”
โดยปัจจุบันไทยแอร์เอเชียมีอัตราขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60-70% แล้ว เมื่อแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวของรัฐบาลเริ่มคิกออฟ น่าจะมีส่วนหนุนโหลดแฟคเตอร์ของไทยแอร์เอเชียไปได้ถึง 80%
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะแผนการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายภายในประเทศยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เราจึงต้องทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อให้ภาคท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวกลับมาได้เร็วภายในปีนี้”
ซีอีโอไทยแอร์เอเชีย กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังคงรอทางกระทรวงการคลังพิจารณาข้อเสนอมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ระยะยาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน แม้ว่าในส่วนของไทยแอร์เอเชียขณะนี้จะยังอยู่ได้ แต่ก็ต้องการซอฟต์โลนมาเสริมสภาพคล่อง เพราะยังต้องรักษาคนและเครื่องบินเอาไว้รอวันกลับมาขยายธุรกิจเพื่อรุกทำตลาดต่างประเทศอีกครั้งเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ โดยยังคงคาดหวังว่ารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือสายการบินซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคท่องเที่ยวไทยให้กลับมาแข็งแรงโดยเร็ว
ด้านกรณีสายการบินนกสกู๊ต หนึ่งในผู้เล่นของตลาดสายการบินในไทย ได้ประกาศเลิกกิจการเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในฐานะผู้ประกอบการที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเดียวกัน ไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก แต่ก็ยากที่จะคาดการณ์ว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกหรือไม่ ทั้งนี้มองว่าปัญหาที่ทำให้สายการบินหนึ่งๆ ปิดตัวลงมีหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว อาจมีปัญหาภายในของแต่ละสายการบินที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ เช่น ความเห็นของผู้ถือหุ้นที่ไม่ตรงกันก็อาจนำไปสู่มติปิดกิจการได้เหมือนกัน