บีอีซี กลับคืนรัง ‘มาลีนนท์’ ภายใต้แรงกดดันมหาศาล
จากเทคโนโลยีดีสรัปจนมาสู่ชีวิตนิวนอร์มอล ทำให้หลายธุรกิจปรับแผนตั้งรับแทบไม่ทัน ซึ่งในธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลที่เผชิญแรงกดดันเดิมที่มีปัญหาอยู่แล้วต้องเดินรุกไปยังสื่อใหม่ๆ มากขึ้นไปโดยปริยาย
‘ช่อง 3’ บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ปรับคอนเทนต์ที่แข็งแกร่งและเป็นจุดขาย ‘ ความบันเทิง ‘ และ ‘ละคร ‘ เข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลไปแล้ว ที่สิ่งที่ยังเขย่าและปรับอยู่ตลอดเวลาจนไม่หยุดนิ่ง คือ ‘แม่ทัพ’ องค์กร ที่มีทั้งคนในและคนนอกเข้ามาบริหารงานสลับไปมาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
คนในกลุ่มตระกูล ‘มาลีนนท์ ‘ผู้บุกเบิกตั้งแต่ เจ้าสัววิชัย มาลีนนท์ ก่อตั้งสถานนี้แห่งนี้ขึ้นมาและส่งไม้ต่อไปยังรุ่นที่ 2 ทั้งหมด 8 คน (ชาย 4 หญิง 4) ซึ่งตลอดที่ผ่านมาลูกชายเข้ามารับตำแหน่งแม่ทัพออกหน้าผ่านสายตาสื่อมวลชนมาตลอด
ตั้งแต่ ‘ประวิทย์ มาลีนนท์ ‘ ซึ่งถูกเรียกว่า ‘นาย’ ของพนักงานในองค์กร และนั่งแท่นบริหารงานมาอย่างยาวนานจากยุคอนาล็อกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการประมูลซื้อใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัลมาไว้ในมือถึง 3 ช่อง (ช่อง 33 ช่อง 28 และ ช่อง 13 )
หากแต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมทีวีจากการแข่งขันที่รุนแรงและการเข้ามาของแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่ง BEC กระทบไม่น้อยจนมีการดึงคนนอกเข้ามาบริหารงานเป็นครั้งแรก หลังจากปี 2559 ‘ประวิทย์ ‘ลาออกจากตำแหน่งและทยอยลดการถือหุ้น BEC ลงและดึง ‘สมประสงค์ บุญยะชัย ‘ เข้ามาบริหารงานพร้อมทีมผู้บริหารของเอไอเอสที่เข้ามาร่วมทีม ก่อนจะลาออกไปในปี 2561 ท่ามกลางความกังขาถึงการบริหารงานที่เข้ากับกลุ่มมาลีนนท์ไม่ได้
ช่วงนี้ ‘ประชา มาลีนนท์’ ที่ขึ้นมาคุม BEC แทน ‘ประวิทย์’ ลาออก และ ‘ประสาร มาลีนนท์’ ที่เสียชีวิตกะทันหัน ซึ่งเป็นน้องชายคนสุดท้องในพี่น้องทั้ง 8 คน และเป็นบุคคลที่ประกาศพา ช่อง 3 เข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลเต็มรูปแบบด้วยจุดแข็งและคอนเทนต์เป็นต่อ
ท่ามกลางปัญหาการเงินที่รุมเร้าอย่างหนักในรอบ 48 ปี ถึงขั้นขาดทุนสิ้นปี 2561 รายงานรายได้ 10,504 ล้านบาท พลิกขาดทุนสุทธิ 330 ล้านบาท จากรายได้หลักถึง 80 % คือการขายโฆษณาลดลง 10.2 % มาอยู่ที่ 8,800 ล้านบาท และยังมีรายได้จัดคอนเสิร์ตและแสดงโชว์ ลดลง 18.9 % ส่วนปี 2562 รายงานรายได้ 8,779 ล้านบาท ขาดทุน 397.17 ล้านบาท จากรายได้โฆษณาเหลือ 6,744 ล้านบาท หรือลดลง 22 %
ดังนั้นจึงมีการตัดสินใจดึงคนนอกตระกูลเข้ามาบริหารงานอีกครั้ง ปรากฏ ชื่อ ‘อริยะ พนมพงค์ ‘ ในปี 2562 พร้อมเป้าหมายการกลับมามีกำไรและทวงคืนบัลลังก์ให้กับ BEC ด้วยแพลตฟอร์มออลไลน์ทุกรูปแบบ สุดท้ายมีการประกาศลาออกอีกครั้งปี 2563 ซึ่งมีผลสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ พร้อมกับการลาออกจากตำแหน่งบริหารของ ‘ประชา’ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ซึ่งบัลลังก์ที่ว่างลงล้วนแต่ต้องการแม่ทัพยิ่งในช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจขณะนี้ จึงทำให้ช่วงเวลาบังคับให้ 4 สาวพี่น้องที่เหลือของกลุ่มต้องขึ้นมาอยู่ฉากหน้าแทนผู้อยู่เบื้องหลังอย่างที่ผ่านมาและคุมบังเหียนองค์กร
รอบนี้ ‘รัตนา มาลีนนท์’ ขึ้นมาดูแลงานด้านสนับสนุนทั้งหมด จากก่อนหน้านี้เคยรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการเงิน (CFO) ‘อัมพร มาลีนนท์’ มาดูแล งานผลิตข่าว รายการ ‘รัชนี นิพัทธกุศล’ ดูแลงานการขายและตลาด และ ‘นิภา มาลีนนท์ ‘ รั้งตำแหน่งกรรมการ
สัญญาณที่ชัดเจนคือการเข้ามาซื้อหุ้นเข้าพอร์ตอย่างหนักทั้ง 3 ราย ในช่วงเดียวกัน รวมเป็นเม็ดเงินแล้ว 105 ล้านบาท และการขึ้นมามีสัดส่วนถือหุ้นใน BEC ใน 5 อันดับแรก และยังมีนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้น ‘ทวีฉัตร จุฬางกรู ‘ ที่เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ที่ 11.51 %
นอกจากปัดไม่สนใจบริการจากคนนอกเข้ามาบริหารงานแล้ว ยังมีการดึงลูกหม้อคนเก่าของ ช่อง 3 ให้กลับคืนรัง ซึ่งมีชื่อ ‘สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ‘ ได้ลาออกจาก ช่องพีพีทีวี มีผล 30 มิ.ย. จะเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งมีการมองว่าเตรียมพร้อมปูทางให้การทำงานของ 3 นายหญิง ช่อง 3 ราบรื่นและมีขุนศึกที่รู้จะเพราะเคยร่วมงานกันมานานถึง 12 ปี ตั้งแต่ ประวิทย์ยังนั่งแท่นบริหารงาน
BEC ในมือของ 3 นางหงษ์ จากนี้น่าติดตามไม่น้อยว่าจะฝ่ามรสุมลูกใหญ่ไปได้อย่างไร