ลด 'ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง' ปีแรก 90% เน้นฐานภาษีเป็นสำคัญ
"ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562" ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ทำให้ ครม.มีมติเลื่อนการชำระภาษีจากเดือนเมษายน เป็นสิงหาคม 2563 และลดอัตราภาษีลง 90% มาดูรายละเอียดกันที่ดินแต่ละประเภทจะคำนวณภาษีอย่างไรบ้าง?
ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) ให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย และที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ สำหรับปีภาษี พ.ศ.2563
พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ได้มีการประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2562 และได้กำหนดให้เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 แต่ด้วยปัญหาในทางปฏิบัติจึงมีการขยายระยะเวลาสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี พ.ศ.2563 จากเดิมที่ต้องชำระภาษีภายในเดือน เม.ย. เป็นเดือน ส.ค. แต่ใช้เฉพาะปี 2563 นี้เท่านั้น ส่วนในปี 2564 เจ้าของที่ดินจะต้องจ่ายภาษีอัตราเดิมภายในเดือน เม.ย.
การเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งไทยหดตัวลงอย่างรุนแรง กระทบต่อคนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง จึงมีการเสนอให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภทตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และที่รกร้างว่างเปล่า โดยอัตราภาษีจะเป็นรูปแบบของขั้นบันไดที่เพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษีที่ดิน
การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% โดยไม่เลื่อนหรือยกเลิกการจัดเก็บภาษี ก็เพื่อให้ทราบว่าใครบ้างต้องเสียภาษี หรือฐานภาษีมีใครบ้าง แม้จะส่งผลกระทบต่อรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยคาดว่าจะเก็บได้เพียง 3,900 ล้านบาท จากที่คาดไว้ 39,420 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงเวลานี้ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบอื่นๆ ส่งผลให้ประชาชน เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับการลดภาษี 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ เช่น
กรณีที่ดินประกอบการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563-2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี แต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.01 หากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท คิดเป็นค่าภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดภาษี 90% แล้ว จะชำระภาษีเพียง 50 บาท
กรณีที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน สำหรับบ้านหลังอื่น หากมูลค่าประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษี 90% แล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า รวมถึงกรณีที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม หากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.3 คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดภาษี 90% แล้ว จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท
ในระยะสั้น การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คงไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยมากนัก เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับการซื้อขาย ดังเช่นการลดค่าธรรมเนียมการโอน-การจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ขณะที่ทางด้านผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่ดินไม่ใช่ต้นทุนหลักและมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนการก่อสร้างและราคาที่ดิน อย่างไรก็ตาม
ในระยะยาว การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เนื่องจากผู้มีทรัพย์สินมูลค่าสูงจะมีภาระต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ จึงช่วยกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังขึ้นอยู่กับความต้องการและอุปทานที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
หมายเหตุ : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2563 มีมติเห็นชอบการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90