ธุรกิจที่จะเติบโต ในยุคหลัง COVID-19
ส่องธุรกิจ 5 ประเภท ที่คาดว่าจะขยายตัวขึ้นในยุคหลัง COVID-19 ซึ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นทุกธุรกิจจะต้องเริ่มต้นคิดใหม่ วางแผนใหม่ ปรับรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับความปกติใหม่ที่จะเกิดขึ้น
จากวงจรโควิด-19 ที่ผมได้คาดการณ์ไว้ ภาคธุรกิจจะต้องใช้เวลาเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความปกติใหม่ ในมุมมองของผม ความปกติใหม่นี้ เป็นภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น น่าจะเกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น แต่อาจใช่หรือไม่ใช่ภาพอนาคตที่ต้องการหรือภาพอนาคตที่พึงประสงค์ (preferable future) ก็ได้ โดยผมได้วิเคราะห์ประเภทของธุรกิจที่คาดว่าจะขยายตัวขึ้นยุคหลัง COVID-19 ไว้ดังนี้
(1) ธุรกิจออนไลน์/ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (Online Business/E-Business)
มาตรการปิดเมืองการทำงานจากบ้าน และการรักษาระยะห่างทางสังคม (Lockdown, Work from Home andSocial Distancing) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั้งผู้บริโภคหันไปทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น จนกลายเป็นความคุ้นชิน ในขณะที่ธุรกิจต้องปรับตัวสู่การขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์เพื่อความอยู่รอด
ธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 จึงมีแนวโน้มพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น โดยทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจจะอยู่บนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ทั้งการผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยน การจำหน่ายสินค้าและบริการ และการพัฒนาระบบสำนักงานที่เชื่อมโยงข้อมูลตลอดกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจ ตั้งแต่การสั่งซื้อ การผลิต สต็อกสินค้าและวัตถุดิบ การส่งมอบสินค้า การชำระเงิน การรับประกันสินค้า การบริการหลังการขาย การทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการให้บริการผ่านออนไลน์ เช่น การศึกษา บริการสุขภาพทางไกล (Telemedicine) การชมภาพยนตร์ คอนเสิร์ต การท่องเที่ยว เป็นต้น
(2) ธุรกิจจัดส่ง (Delivery Business)
วิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจจัดส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคไม่ต้องการออกจากบ้านเพื่อลดการสัมผัสและพบเจอกับคนจำนวนมาก ทำให้มีพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งซื้อและจัดส่งอาหารปรุงสุก (food delivery) วิกฤติโควิดยังทำให้ธุรกิจจัดส่งและโลจิสติกส์ในต่างประเทศมีการพัฒนามากขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้มากขึ้น อาทิ เทคโนโลยีอัตโนมัติในการจำแนกพัสดุที่จะทำการจัดส่งการใช้ยานพาหนะขนส่งอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles: AVs)เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจัดส่งในพื้นที่แออัดและพื้นที่ห่างไกล และทำให้มีระบบไร้สัมผัส (touchless system)เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไวรัส เป็นต้น
(3) ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare Business)
สินค้าและบริการด้านสุขภาพจะมีความต้องการและจำเป็นมากขึ้นในอนาคตทำให้ธุรกิจสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะได้รับความสนใจในการลงทุนมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการคิดวัคซีนและยารักษาโรค ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เป็นต้น และอุปกรณ์วัดและประมวลผลสุขภาพ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ ชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง นาฬิกาดิจิทัลที่วัดผลด้านสุขภาพ เป็นต้น
และธุรกิจการบริการทำความสะอาดสถานที่ และฆ่าเชื้อโรคด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น บริษัท Keenon Robotics ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ได้คิดค้นหุ่นยนต์สำหรับใช้ในโรงพยาบาลที่สามารถฆ่าเชื้อด้วยแสง UV และพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้พร้อมกัน ทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลระหว่างฆ่าเชื้อเพื่อนำมาวิเคราะห์ในการฆ่าเชื้อครั้งต่อไปได้ เป็นต้น
(4) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล (Data Related Business)
สถานการณ์โควิด-19 บ่งชี้ให้เห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยติดตามประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และติดตามจุดจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย รวมถึงการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า เพื่อนำเสนอสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้อย่างครบถ้วนและเหมาะสมกับแต่ละบุคคล
เพราะฉะนั้นธุรกิจที่จะเติบโตขึ้นหลังยุคโควิดจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูล อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดเก็บข้อมูลเวลาจริงและการวิเคราะห์ข้อมูล (Real Time Data Infrastructure and Data Analytics)การเฝ้าระวังการเข้ารหัสความเป็นส่วนตัว (Privacy Encoding State Surveillance) เป็นต้น
(5) ธุรกิจเพื่อประโยชน์สังคม (Philanthropic Business Practice)
ในภาวะวิกฤติโควิด ทำให้แทบทุกองค์กรและทุกคนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า วิกฤติโควิดจึงเป็นโอกาสในการแสดงตัวตน ปรัชญา แนวคิด และค่านิยมของผู้ประกอบการและธุรกิจ และเป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าและภาพลักษณ์ของธุรกิจในมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งลูกค้า คู่ค้า ซัพพลายเออร์ ชุมชน และประชาชน เช่น การไม่ค้ากำไรเกินควร การไม่ขายสินค้าคุณภาพต่ำการจ่ายค่าสินค้าตรงเวลา การพยายามรักษาการจ้างงานอย่างถึงที่สุด การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการช่วยเหลือสังคม เป็นต้นทั้งนี้การที่ธุรกิจแสดงความรับผิดชอบและยื่นมือไปช่วยเหลือผู้อื่น แม้ในยามที่ธุรกิจเองก็มีความยากลำบากจะทำให้เกิดทุนความดีและทุนด้านชื่อเสียง ที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจในอนาคต
ธุรกิจหลังยุคโควิด-19 จึงมีแนวโน้มเป็นธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โดยจะก้าวไปไกลกว่าการทำกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเพียงเพื่อจะได้รับภาพลักษณ์ที่ดีเท่านั้น แต่จะเป็นธุรกิจที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและมีส่วนในการสร้างชาติ
ตามแนวคิด Dr. Dan’s Corporate Mission Spectrum ของผมที่ได้อธิบายประเภทของธุรกิจตามระดับการมีส่วนร่วมสร้างชาติไว้ดังนี้
CSR 0.0: Profit Makers = CPM (Corporate Profit Making)àสร้างผลกำไร
CSR1.0: Donators = CSR (Corporate Social Responsibility)àทำกิจกรรมเพื่อสังคม
CSR2.0: Avoiders = CGG (Corporate Good Governance) àมีธรรมาภิบาล
CSR3.0: Creators = CSV (Corporate Social Value) àสร้างคุณค่าต่อสังคม
CSR4.0: Co-creators = CNB (Corporate Nation-Building) à สร้างชาติ
การทำธุรกิจบนความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เป็นการสร้างความเลอค่าให้กับธุรกิจเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคตจะให้คุณค่าและยอมจ่ายราคากับสิ่งอื่น ที่นอกเหนือจากคุณสมบัติของสินค้าและบริการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าที่ธุรกิจได้มอบให้แก่สังคมและประเทศชาติ
ภาคธุรกิจหลังยุคโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทุกธุรกิจจะต้องเริ่มต้นคิดใหม่ วางแผนใหม่ ปรับรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับความปกติใหม่หลังยุคโควิด-19 เพื่อที่จะสามารถมองหาโอกาสและความเป็นไปได้ โดยการประเมินและวิเคราะห์ภาพคาดการณ์อนาคตทั้งภาพที่พึงประสงค์และภาพที่แย่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อันนำไปสู่การตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจและต่อสังคมได้