'วรพล'แนะกลยุทธ์ 3T ใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทฟื้นเศรษฐกิจประเทศ
"วรพล” แนะกลยุทธ์ 3 Tใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทแก้เศรษฐกิจ ระบุต้องทันเวลา ตรงเป้าหมาย และส่งผลดีเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เน้นโครงสร้างพื้นฐานขนาดกลาง เช่น การสร้างแหล่งน้ำชุมชนช่วยจ้างงานได้จำนวนมาก เพิ่มจ้างงานกระจายความช่วยเหลือทุกภาคส่วน
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต) และ อดีตประธานคณะกรรมการกำกับตลาดทุนกล่าวว่าการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนของวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและกลั่นกรองโครงการที่จะลงระบบเศรษฐกิจว่าโจทย์สำคัญของรัฐบาลก็คือต้องเปลี่ยนวงเงินในส่วนนี้เป็นโครงการที่ไปสู่การจ้างงานให้ได้โดยเร็วที่สุด
โดยเฉพาะการเพิ่มโครงการขนาดกลางให้ได้โดยเร็วที่สุดเพราะโครงการขนาดใหญ่จะใช้เวลามากและกว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจะใช้ระยะเวลานานเกินไป และการจ้างงานจะเกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับการว่างงานที่เกิิดขึ้น โดยโครงการขนาดกลางจะรวมถึงโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดกลางจะดีที่สุด ซึ่งเหมาะกับสถานการครั้งนี้ที่ต้องการความคล่องตัวอนุมัติได้รวดเร็ว สามารถทำให้เกิดการจ้างงานได้รวดเร็ว
ทั้งนี้งบ 4 แสนล้านต้องตอบโจทย์ที่สำคัญได้แก่ 1.ตรงเป้าหมาย (Targeted)คือตรงเป้าที่สุดคือลงไปในท้องถิ่น ชุมชน ลงไปยังผู้ที่ประสบปัญหา และลงไปในโครงการที่จำเป็น 2.ต้องเป็นโครงการที่ทันต่อเวลา และเหมาะสม (Timely)เพื่อช่วยเหลือคนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน
และ 3.ต้องเป็นโครงการที่เกิดในลักษณะที่เกิดแรงผลักดันให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่นๆ (Twin Action) เช่นการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงมีผลต่อเนื่องทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลที่ยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ เช่น การพัฒนาระบบน้ำ ป้องกันระบบน้ำท่วม และภัยแล้ง โดยการทำธนาคารน้ำ ซึ่งการทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สามารถที่จะทำเป็นโครงการขนาดกลางที่ก่อให้เกิดการจ้างงานในหลายพื้นที่ ควบคู่กับการพัฒนาระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่หรือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กที่ใช้พืชพลังงานเป็นตัวช่วย และให้วิสาหกิจชุมชนถือหุ้นในโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งจะทำให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้นจากการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งจะสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนในระยะยาวอย่างยั่งยืน
“การใช้เงินในเงินกู้ 4 แสนล้านนี้ควรดูให้มีการครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคขนส่ง อุตสาหกรรมแปรรูป ต้องกระจายอย่างกว้างขวางเพื่อให้เกิดการลงทุนในทุกภาคส่วน โดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเสนอและคัดเลือกโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อท้องถิ่นได้มากที่สุด เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของคนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง”นาย วรพลกล่าว