สอศ.ขอพันล้านสร้างคน ร่วมดันอุตฯเป้าหมายในอีอีซี
แนวทางการผลิตบุคลากรอาชีวศึกษา เพื่อรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ ปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ก็คือการมีบุคลากรทักษะชั้นสูง ที่จะต้องมีเพียงพอในการขับเคลื่อนอุตฯ
ณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า สอศ. จึงได้ปรับแผนการสร้างบุคลากรด้านอาชีวะที่จะต้องมีจำนวนที่เพียงพอ และมีคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของเอกชน โดยเฉพาะในพื้นที่ อีอีซี โดยได้เข้าไปทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน ทั้งในเรื่องการพัฒนาหลักสูตร และการฝึกงานในโรงงาน รวมทั้งการสนับสนุนเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อผลิตบุคลากรให้มีจำนวนและคุณภาพตามที่ต้องการ
โดยจากการประเมินพบว่าภายใน 5 ปี ในพื้นที่ อีอีซี จะมีความต้องการแรงงานประมาณ 4.75 แสนคน แบ่งเป็นระดับอาชีวะศึกษา 2.53 แสนคน ปริญญาตรี 2.13 แสนคน และปริญญาโท-เอก 8,610 คน โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายแบ่งเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 5.3 หมื่นคน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5.8 หมื่นคน ท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้ดี 1.7 หมื่นคน หุ่นยนต์ 3.6 หมื่นคน การบิน 3.2 หมื่นคน ดิจิทัล 1.16 แสนคน การแพทย์ครบวงจร 1.1 หมื่นคน ระบบรางรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง 2.4 หมื่นคน พาณิชย์นาวี 1.4 หมื่นคน และโลจิสติกส์ 1 แสนคน
โดยแนวทางในการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการที่กล่าวมาขั้นตัน สอศ. ได้ปรับสถาบันอาชีวศึกษาในพื้นที่ อีอีซี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้
รับผิดชอบในการผลิตบุคลากรรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยในกลุ่ม First S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีสถานศึกษาที่รับผลิดชอบ 10 แห่ง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 6 แห่ง การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี 5 แห่ง อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 3 แห่ง แปรรูปอาหาร 5 แห่ง
ส่วนอุตสาหกรรม S-Curve ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 7 แห่ง อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 5 แห่ง อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและชีวภาพ 3 แห่ง อุตสาหกรรมดิจิทัล 8 แห่ง และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 5 แห่ง
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้จังหวัดโดยรอบพื้นที่ อีอีซี ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.จันทบุรี จ.สระแก้ว จ.ตราด จ.ปราจีนบุรี และจ.นครนายก ผลิตบุคลากรใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใน อีอีซี แบ่งเป็น ยานยนต์สมัยใหม่ 7 แห่ง อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3 แห่ง การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี 4 แห่ง แปรรูปอาหาร 3 แห่ง หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 5 แห่ง การบินและโลจิสติกส์ 2 แห่ง และดิจิทัล 3 แห่ง
นอกจากนี้ ยังได้ผลิตครูและบุคลากร เพื่อรองรับการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพให้กับ อีอีซี โดยการเพิ่มขีดความสามารถอาจารย์ บุคลากรการศึกษา และครูฝึกในสถานประกอบการ รองรับการจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับการพัฒนาทักษะให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยให้ครูไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพจริงในสถานประกอบการ เพื่อรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มาถ่ายทอดให้กับผู้เรียน รวมทั้งให้ครูพิเศษหรือผู้เชี่ยวชาญในสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สอศ. จำนวน 370 คน มาช่วยสอนในบางสาขาที่ยังไม่มีครูสายตรง เช่น อากาศยาน และระบบราง เป็นต้น
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่การสร้างบุคลากรรองรับในพื้นที่อีอีซี สอศ. ยังได้พัฒนาสถาบันอาชีวศึกษาที่มีความพร้อมยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellent Center)วิทยาลัยเทคนิคเฉพาะทาง และอาชีวะพรีเมี่ยม ทั้งในพื้นที่อีอีซี และจังหวัดต่างๆ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนเฉพาะทางทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมชั้นสูง โดยมีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือประจำศูนย์ฯที่มีมาตรฐาน โดยในขณะนี้มีทั้งสิ้น 92 แห่ง โดยมีสาขาสำคัญ เช่น สาขาช่างอากาศยาน , ระบบราง , ปิโตรเคมี , ผลิตไฟฟ้า , พาณิชย์นาวี , สมาร์ทฟาร์มเมอร์ , แมคคาทรอนิกส์ , หุ่นยนต์ , ดิจิทัล , ยานยนต์สมัยใหม่ , ธุรกิจการบิน เป็นต้น
ในช่วงของวิกฤติโควิด-19 สอศ. ยังได้เสนอของบจากโครงการตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท จัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพกำลังคนตอบสนองการพัฒนาใน อีอีซี จำนวน 1,132 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายภายใน 3 ปี จะพัฒนาแรงงานใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ จะส่งเสริมในสถาบันอาชีวะ 17 แห่ง
“โครงการนี้ใช่งบประมาณเพียง 1.1 พันล้านบาท แต่สามารถพัฒนาครูที่มีอยู่เดิมและเพิ่มจำนวนครูได้ทั้งสิ้น 2,490 คน พัฒนาผู้เรียนทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรีได้ 65,570 คน พัฒนาประชาชนผ่านหลักสูตรระยะสั้นได้ถึง 20,750 คน ซึ่งจะเป็นการสร้างทรัพยากรคนสาขาสำคัญในการสร้างประเทศ ที่จะเกิดมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องอย่างมหาศาล”
นอกจากนี้ จะตั้งศูนย์ภาษานานาชาติ เน้นภาษาอังกฤษและจีน งบก่อสร้าง 120 ล้านบาท รองรับผู้เรียนได้กว่า 7 แสนคน ศูนย์ฝึกประสบการณ์ทวิภาคี เพื่อเพิ่มทักษะการปฏิบัติงานจริงในโรงงานและสถานประกอบการ ใช้งบก่อสร้าง 540 ล้านบาท รองรับผู้เรียนได้ 25,742 คน ศูนย์พัฒนาอาชีพและฝึกประสบการณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 จะใช้งบในการตั้งศูนย์ปฏิบัติการอาชีพธุรกิจด้านการบริการ ใช้งบก่อสร้าง 700 ล้านบาท รองรับผู้เรียนและประชาชนได้ 3 แสนคน
สอศ. ยังได้พัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้สถานประกอบการในการจับคู่จ้างงานนักศึกษาที่จบอาชีวศึกษาทั้งประเทศที่มีจำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยจะมีข้อมูลประวัติผู้ที่จบการศึกษาอย่างละเอียดในทุกสาขา และความสามารถพิเศษต่างๆ ช่วยให้นายจ้างได้คัดเลือกบุคลากรที่ตรงกับความต้องการ