ธปท.เร่งพัฒนา‘ดิจิทัลบาท’ ศึกษาใช้กับ‘รายย่อย’
‘แบงก์ชาติ’ เดินหน้าพัฒนา ‘ดิจิทัลบาท’ หวังช่วยลดต้นทุน ‘โอน-ชำระเงิน’ ล่าสุดเร่งทดสอบร่วมกับภาคเอกชน พร้อมลุยศึกษาแผนการนำมาใช้กับ ‘รายย่อย’ ย้ำต้องศึกษารอบคอบ หวั่นกระทบระบบการเงิน-แบงก์ ด้าน ‘กรุงศรี’ มั่นใจไร้ผลกระทบ เชื่อส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล(Digital Currency) ที่ออกโดยธนาคารกลาง(Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) ภายใต้โครงการ “อินทนนท์” ปัจจุบันได้ดำเนินการมาถึงระยะที่ 3 แล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบโดยการนำเงินดิจิทัลใช้โอนระหว่างธนาคารกับธนาคาร รวมไปถึงการใช้ซื้อขายพันธบัตร และเตรียมขยายความร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกงเพื่อทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยไม่ผ่อนตัวกลาง คาดว่าจะประกาศความร่วมมือราวเดือนก.ย.นี้
สำหรับระยะถัดไป ธปท. จะทดลองใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ Corporate มากขึ้น จากก่อนหน้านี้ได้ทดลองใช้กับเอกชนบางรายแล้ว ดังนั้นคาดว่า การใช้ CBDC กับภาคธุรกิจรายใหญ่ น่าจะมีความชัดเจนได้ภายในปีนี้
ทั้งนี้ เมื่อทดสอบ และศึกษา ใช้เงินดิจิทัลกับธุรกิจรายใหญ่แล้ว ในอนาคตอาจต่อยอดไปใช้กับประชาชนรายย่อยด้วย แต่การใช้เงินดิจิทัลกับรายย่อยจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งข้อดี-ข้อเสีย ว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและสถาบันการเงินหรือไม่อย่างไร ซึ่งธปท.ไม่ต้องการไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นการนำมาใช้กับประชาชนรายย่อยจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำการศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะจะดีสรัประบบการเงินพอสมควร
“การต่อยอด การใช้เงินดิจิทัลไปสู่รีเทล(รายย่อย) ต้องดูให้ดีถึงข้อดีข้อเสีย และอยู่ที่การดีไซด์ด้วย อย่างจีนที่ทำ ก็เพื่อทดแทนการใช้ธนบัตร แต่ระบบต่างๆไม่ได้เปลี่ยน ระบบแบงก์ก็ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม แค่เปลี่ยนจากการที่ประชาชนถือธนบัตร มาใช้เป็นโทเคนมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังเป็นวุ้นๆอยู่ที่เราต้องออกแบบและศึกษาเพิ่ม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่เราต้องศึกษาคู่ขนาดกับไปกับ การใช้เงินดิจิทัลกับธุรกิจรายใหญ่ แต่ไม่ได้บอกว่าเราจะคิกออฟเลย”
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต การชำระเงินด้วยเงินดิจิทัลต้องทำผ่าน Wallet ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆสามารถคล่องตัวมากขึ้น ขณะเดียวกัน มองว่า การใช้เงินดิจิทัลดังกล่าว จะแตกต่างกับบิทคอยน์ เพราะเงินดิจิทัลที่อยู่ในรูปแบบเงินบาท จะมีลักษณะเป็น Stable coin คือ มีสินทรัพย์อ้างอิง มีความมั่นคง ปลอดภัย และใช้เป็นสื่อกลางได้ รวมถึงมีความน่าเชื่อถือ และราคาไม่ผันผวน ไม่เปลี่ยนแปลง ต่างกับบิดคอยน์
ส่วนกรณีที่ เฟสบุ๊ป จะออก ‘ลิบรา คอยน์’ โดยเปิดให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เข้ามาสร้างเงินดิจิทัลได้นั้น กรณีนี้ถือว่ามีความเป็นไปได้น้อยเพราะลิบราไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งมีกฏเกณฑ์เงื่อนไขระดับหนึ่ง จึงน่าจะเป็นเรื่องยากในการนำมาใช้ในอนาคต
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า หากมีการนำเงินดิจิทัลมาใช้กับรายย่อยจริง เชื่อว่า น่าจะเป็นเรื่องดี ซึ่งจะสามารถช่วยลดการใช้ธนบัตรได้ และจะเป็นการเปิดกว้าง ในการพัฒนาระบบการชำระเงิน ทั้ง mobile banking และ e-wallet ต่างๆ ในแพร่หลายมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถแหล่งที่มาที่ไปของเงินได้
"ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลว่าจะกระทบต่อธุรกิจธนาคารหรือไม่ เพราะทุกวันนี้การชำระเงิน โอนเงินต่างๆ ก็มีการออกจากระบบแบงก์ไปอยู่บน Wallet บ้างแล้ว สิ่งที่ต้องติดตาม คือ ระบบหลังบ้าน ต้องดูว่าจะมีระบบกลางมาและมีคนบริหารจัดการดูแลอย่างไร"