เมื่อ 'เศรษฐกิจ' ติด COVID อาการหนักแค่ไหน และเมื่อไรจะฟื้น?
วิกฤติโควิด-19 สถานการณ์โรคระบาดที่ไม่มีคาดคิด ส่งผลกระทบทั่วโลก รวมถึงไทย วันนี้บาดแผลของ "เศรษฐกิจไทย" ที่เกิดขึ้นครั้งนี้รุนแรงแค่ไหน? อาการหนักหนากว่าวิกฤติอื่นในอดีตหรือไม่? และฝังรอยแผลเป็นนี้ไว้อีกยาวนานแค่ไหน? ติดตามอ่านได้จากบทวิเคราะห์นี้
ทันทีที่แบงก์ชาติ (ธปท.) ประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ล่าสุด ที่ติดลบ 8.1% สร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดการเงินและนักลงทุนพอควร เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์และหนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง สะท้อนผลกระทบที่รุนแรงของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง และหลายฝ่ายยังไม่มีคำตอบว่าการระบาดของโรคจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
ต้นตอของวิกฤติครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมา ซึ่งมักมีสาเหตุจากภาคการเงินหรือภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ครั้งนี้จุดเริ่มต้นมาจากโรคระบาดที่ลุกลามไปทั่วโลก จนต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ส่งผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว ก่อให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก ถ้าเปรียบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเป็นนักวิ่งที่กำลังวิ่งแข่งกันอยู่ล่ะก็ COVID-19 จะเปรียบเสมือนก้อนหินที่ทำให้นักวิ่งทุกรายสะดุดล้มลงกะทันหัน สร้างบาดแผลกันอย่างถ้วนหน้า
คำถามที่ตามมาคือ แล้วแผลของเศรษฐกิจไทยรุนแรงแค่ไหน? อาการจากแผลในครั้งนี้จะหนักหนากว่าวิกฤตการณ์อื่นๆ ในอดีตหรือไม่?
คำตอบแรก คือ ขนาดแผลครั้งนี้ถือว่าทั้งใหญ่และลึก ที่ว่าใหญ่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นลุกลามเป็นวงกว้าง จากประชาชนที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ และธุรกิจทั้งภาคบริการและอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาอุปสงค์ลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่เดิมก็ไม่ได้เข้มแข็งอยู่แล้ว ส่วนที่ว่าลึกคือ การหดตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก
สำหรับคำถามที่ว่า อาการของแผลสาหัสกว่าอดีตหรือไม่ คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับ 1) สุขภาพเศรษฐกิจไทยก่อนที่จะเกิดบาดแผล และ 2) วิธีการรักษาบาดแผลทางเศรษฐกิจ
1) เช็กสุขภาพเศรษฐกิจไทย ต้องถือว่าสุขภาพของนักวิ่งไทยก่อนสะดุดก้อนหิน มีความเข้มแข็ง และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทำให้โอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนมีน้อยลง โดยไทยมีความเข้มแข็ง ทั้งด้านภาคสถาบันการเงินที่ธนาคารของไทยมีประสบการณ์จากวิกฤติต้มยำกุ้ง พิจารณาจากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด ทำให้สามารถออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และเติมสภาพคล่องให้กับกิจการที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ไม่มีรายได้ และให้สินเชื่อกับภาคธุรกิจในช่วงที่ฟื้นฟูกิจการ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาหนี้เสียจนลุกลามเป็นวิกฤติการเงิน
ภาคธุรกิจก็เข้มแข็งเช่นกัน มีการพึ่งพาหนี้ต่างประเทศน้อยลง และส่วนใหญ่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และภาครัฐบาลที่รักษาวินัยทางการคลังอย่างต่อเนื่อง ระดับหนี้สาธารณะยังต่ำกว่าเกณฑ์สากล ทำให้ยังมี space ในการช่วยเหลือ ผ่านการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดบาดแผลลึก และมาตรการฟื้นฟูในระยะข้างหน้าเมื่อบาดแผลทางเศรษฐกิจทุเลาลง
ขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง พิจารณาจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูงต่อเนื่องหลายปี ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง ทำให้ ธปท. สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในภาวะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศผันผวนสูง หรือกล่าวคือไทยมีภูมิคุ้มกันสูงในเกือบทุกด้าน
2) วิธีรักษาบาดแผลทางเศรษฐกิจ สำหรับด้านสาธารณสุขของไทย ต้องนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ก็ส่งผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายส่วนต้องหยุดชะงัก เกิดเป็นแผลลึก โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลึกสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งไทยได้ใช้ยาแรงในการรักษาเศรษฐกิจผ่านการสอดประสานของทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน
จากประสบการณ์ในอดีต ทำให้ผู้ดำเนินนโยบายหรือหมอผ่าตัดรู้ว่า การยื้อชีพจรคนไข้ในช่วงต้นของวิกฤติการณ์ผ่านมาตรการการเงินและการคลังที่แม้จะมีมูลค่ามหาศาล แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้คนไข้อาการหนักจนต้องปั๊มหัวใจเพื่อกู้ชีพจรกลับมา ซึ่งใช้ต้นทุนสูงกว่ามากในระยะยาว
ปัจจุบัน ไทยไม่พบผู้ป่วยใหม่ในประเทศเป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายวัน และได้รับคำชมเชยจากต่างชาติว่าเป็นประเทศที่รับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และภาคธุรกิจทยอยเปิดกิจการ จึงอาจจะกล่าวได้ว่า “The worst is over” หรือจุดที่แย่ที่สุดได้ผ่านไปแล้ว
ในระยะถัดไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาการของบาดแผลทางเศรษฐกิจน่าจะบรรเทาลง เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทั้งในไทยและหลายประเทศมีแนวโน้มคลี่คลายลง หากแต่ยังคงต้องเฝ้าระวังการกลับมาระบาดรอบ 2 สำหรับวิธีการรักษาเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้คงจะต้องเน้นไปที่ “ยาบำรุง” โดยเฉพาะเม็ดเงินจากโครงการกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้วางนโยบายให้ตรงจุด
ผนวกกับการ “ออกกำลังกาย” ของคนไข้ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงานทั้งการ upskill และ reskill ให้สอดคล้องกับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากนี้ หรือที่เรียกกันว่า New Normal โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนอยู่ในประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. ที่มองว่าปี 2564 จะกลับมาขยายตัวได้ถึง 5.0%
วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ ไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดีเกือบทุกด้าน แม้แผลจะลึก แต่ไม่ติดเชื้อและไม่เกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ให้กับเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากการหดตัวที่ลึกสุดในไตรมาส 2 ซึ่งได้ผ่านไปแล้ว และจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจนสามารถกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยาทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ การใช้มาตรการทางการคลังซึ่งเปรียบเสมือนยาบำรุงที่ตรงจุด ผ่านการจ้างงาน การพัฒนาทักษะแรงงาน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สอดรับกับวิถีโลกใหม่ในอนาคต