'บีแลนด์-อิมแพ็ค-ไมเนอร์’ ดาวเด่นปลดล็อกเฟส6
“ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมอย่างมากว่าสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี หลังไม่พบผู้ป่วยใหม่ติดเชื้อในประเทศมานาน 2 เดือนแล้ว นำมาสู่การปลดล็อกดาวน์ให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตกันได้ตามปกติ
ล่าสุด ที่ประชุมใหญ่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) มีมติผ่อนปรนระยะที่ 6 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ
นับตั้งแต่มีการประกาศปิดน่านฟ้าเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาแล้วยังคงต้องกักตัว 14 วัน ในสถานที่ที่รัฐบาลกำหนด
โดย ศบค. อนุญาตทั้งหมด 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ชาวต่างชาติที่เข้ามาจัดแสดงสินค้าในราชอาณาจักร เป็นกลุ่มที่มีกำหนดการแน่นอน เข้ามาในวันและเวลาที่กำหนด ซึ่งในเดือน ก.ย. จะมีการจัดงาน 1 งาน จำนวน 680 คน, ต.ค. มี 8 งาน 400 กว่าคน, พ.ย. มี 4 งาน 4,000 กว่าคน และ ธ.ค. มีงานนานาชาติอีก 2 งาน รวมกว่า 1,100 คน
2. กองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติที่จะเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งจะต้องตรวจหาเชื้อมาก่อน มีใบรับรองแพทย์ มีประกันสุขภาพ ต้องพักในสถานกักตัวที่รัฐกำหนด และมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามไปด้วย 3. กลุ่ม Medical and Wellness ที่เข้ามารักษาพยาบาล ดูแลสุขภาพ เสริมความงาม ปรึกษาเรื่องการมีบุตรยาก ทันตกรรม ในประเทศไทย ซึ่งสามารถพักและกักตัวในโรงพยาบาลได้เลย 14 วัน หลังจากนั้นถึงจะเดินทางไปที่อื่นได้
และ 4. แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ซึ่งขณะนี้มีแรงงานที่ต้องการกลับเข้ามา 69,235 คน ส่วนกลุ่มที่ยังไม่มีใบอนุญาตและนายจ้างยื่นติดต่อไว้อีก 42,168 คน รวมทั้งหมด 111,403 คน
ทั้งนี้ บริษัทต้นสังกัดต้องจัดพื้นที่สำหรับการกักตัวคนกลุ่มนี้ (Organizational Quarantine) และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคอยตรวจสอบดูแลเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ ศบค. กำหนด
หากพิจารณาดูแล้วน่าจะมีหุ้นอยู่หลายตัวที่ได้รับประโยชน์จากการคลายล็อกในเฟสที่ 6 นี้ เริ่มจากกลุ่มจัดแสดงสินค้า บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND ของตระกูล “กาญจนพาสน์” เจ้าของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ซึ่งมีพื้นที่การจัดแสดงมากที่สุดในประเทศไทยและอาเซียนกว่า 1.4 แสนตารางเมตร
ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบเต็มๆ จากโควิด ทำให้งานแสดงสินค้า อีเวนท์ คอนเสิร์ตต่างๆ ถูกเลื่อนออกไปหมด และต้องปิดทำการมาตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. โดยเพิ่งกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งแบบมีข้อจำกัดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา
แน่นอนว่าหลังรัฐบาลไฟเขียวเปิดให้ต่างชาติกลับมาจัดงานแสดงสินค้า “อิมแพ็ค” จะเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ หนุนอัตราการเช่าใช้พื้นที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และส่งผลบวกไปถึงทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็คโกรท (IMPACT) ซึ่งลงทุนในกรรมสิทธิ์ (freehold) ในที่ดิน และอาคารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานีจำนวน 4 อาคาร รวมถึงระบบสาธารณูปโภคและอุปกรณ์ต่างๆ ของอาคารดังกล่าว
ส่วนการเปิดให้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยจะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและขนส่งไล่มาตั้งแต่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และกลุ่มโรงแรมเพราะต้องกักตัวตามเงื่อนไข 14 วัน ที่น่าสนใจ คือ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เพราะมีโรงแรมภายใต้แบรนด์ “อนันตรา” ถึง 4 แห่ง ในกรุงเทพและภูเก็ต เข้าร่วมเป็นสถานกักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine) สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย
กลุ่มโรงพยาบาลมี บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS และ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ซึ่งมีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติสูงถึง 30% และ 66% ตามลำดับ ซึ่งนอกจากคนไข้จะสามารถกักตัวในโรงพยาบาลตามข้อกำหนด 14 วันแล้ว แต่ละแห่งยังร่วมกับ Alternative State Quarantine ส่งเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ คอยดูแลผู้ที่กักตัว
ขณะที่แรงงานต่างด้าวที่เตรียมจะกลับไทยอีกกว่า 1 แสนคน น่าจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารและรับเหมาก่อสร้างที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน กลับมาเดินเครื่องได้เต็มศักยภาพมากขึ้น