'มาริษา เจียรวนนท์' หนุน 'เชฟแคร์ส์' ปรุงอาหารเพื่อความยั่งยืน

'มาริษา เจียรวนนท์' หนุน 'เชฟแคร์ส์' ปรุงอาหารเพื่อความยั่งยืน

“มาริษา เจียรวนนท์” ส่งแรงบันดาลใจตั้ง “มูลนิธิเชฟแคร์ส์" รวมเชฟจิตอาสาปรุงอาหารเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน

นางมาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการเชฟแคร์ส์ จัดงาน Chef Cares Appreciation Lunch & Award Ceremony เพื่อแสดงความขอบคุณเชฟทั้ง 73 ท่านที่ได้ร่วมมือกันด้วยจิตอาสา ผลักดันโครงการเชฟแคร์ส์ ผ่านการปรุงอาหารรสเลิศ และส่งมอบไปยังทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขในโรงพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะที่อุทิศตนให้การรักษาผู้ป่วย

ตลอดจนให้บริการแก่สังคม ในการต้านภัยจากไวรัสโควิด-19 ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย พร้อมแถลงความพร้อมในการจัดตั้ง "มูลนิธิเชฟแคร์ส์" เพื่อใช้อาหารเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือสังคมในระยะยาวต่อไป

นางมาริษา เจียรวนนท์ เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการเชฟแคร์ส์ ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา นับแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด- 19 เป็นต้นมา ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากเชฟจิตอาสาซึ่งล้วนเป็นเชฟที่เป็นที่รู้จักของเมืองไทยจำนวน 73 ท่าน สลับสับเปลี่ยนกันเข้ามาปรุงอาหารรสเลิศด้วยความประณีต จำนวนรวมกว่า 30,000 กล่อง เพื่อส่งมอบแทนกำลังใจและคำขอบคุณไปยังทีมแพทย์จำนวน 17 โรงพยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงซึ่งทำงานในพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่ประจำสถานีรถไฟฟ้า พนักงานทำความสะอาด ตำรวจและเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการตั้ง “มูลนิธิเชฟแคร์ส์” เพื่อใช้อาหารบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อช่วยเหลือสังคมในระยะยาวต่อไป

“รู้สึกดีใจที่ได้เห็นน้ำใจของเชฟทุกท่าน ซึ่งนำความเชี่ยวชาญของตนเองมาทำสิ่งดีๆ ด้วยหัวใจ เพื่อช่วยเหลือผู้คนและสังคม ทั้งๆที่ในขณะนั้นร้านอาหารของหลายท่านก็เดือดร้อน จึงอยากให้การรวมตัวกันทำสิ่งดีๆ แบบนี้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน เกิดเป็นแนวคิดที่จะตั้ง มูลนิธิเชฟแคร์ส์ ขึ้นมา" นางมาริษาเล่าถึงแรงบันดาลใจ

159585182170

สำหรับมูลนิธิเชฟแคร์ส์ มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมอาหารไทยออกสู่เวทีโลก ดังนี้ 
1.ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารในยามเกิดสภาวะวิกฤตต่างๆ ดังเช่น กรณีโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
2.สร้างแรงบันดาลใจ สนับสนุนทุนการศึกษา ให้การฝึกสอน พัฒนาการเรียนรู้ ให้คำปรึกษา ตลอดจนอุปถัมภ์เยาวชนให้ได้รับโอกาส ให้สามารถเป็นเชฟ หรือผู้ประกอบการอาหารได้อย่างยั่งยืน
3.ส่งเสริมวงการอาหารในประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย
4.เพื่ออนุรักษ์มรดกด้านวัฒนธรรมการกินอยู่และอาหารไทย ผ่านการบันทึกประวัติ จัดเก็บและจัดการข้อมูล เผยแพร่ สร้างการเรียนรู้ ปฏิบัติ และการออกศึกษาตามแหล่งวัฒนธรรมต่างๆ

“การจัดตั้งมูลนิธิเชฟแคร์ส์ จะเป็นรากฐานในการส่งเสริมศาสตร์แห่งอาหารไทยที่ปรุงขึ้นด้วยความใส่ใจอย่างพิถีพิถัน ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลก และจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนที่รักการปรุงอาหารได้เรียนรู้และเติบโตเป็นเชฟระดับแนวหน้าเช่นเดียวกับเชฟแคร์ส์ทุกท่าน ด้วยความหลากหลาย ความสร้างสรรค์และงดงาม ที่สุดจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะสนับสนุนวิถีอาหารไทยให้ทั่วโลกได้รู้จักในฐานะศูนย์รวมศาสตร์ของอาหารที่ดีที่สุดของเอเซีย” นางมาริษา กล่าว

มูลนิธิเชฟแคร์ส์ มีจุดเริ่มต้นมาจาก “โครงการ Chef Cares” ที่ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อส่งมอบความห่วงใยแทนคำขอบคุณให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านเมนูอาหารกลางวัน ที่รังสรรค์โดยเชฟยอดฝีมือระดับแถวหน้าของเมืองไทยซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเสิร์ฟเมนูแสนอร่อยและเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ สำหรับคุณหมอทุกท่าน

​โครงการนี้ได้เชิญชวนเชฟชื่อดังแถวหน้าของเมืองไทยมารวมตัวกัน ทั้งเชฟมิชลิน เชฟกระทะเหล็ก และเชฟจากอีกหลายเวที รวมถึงเชฟเจ้าของร้านอาหารชื่อดังมากมาย โดยเน้นไปที่คุณภาพอาหาร ทั้งรสชาติ ความคิดสร้างสรรค์ และวัตถุดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบคุณภาพจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เจียไต๋ฟาร์ม, ข้าวตราฉัตร, ไร่ชาอรักษ์ และใช้ครัวมาตรฐานสากลของโรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการคูลิเนอร์เป็นสถานที่ปรุงอาหาร 

เชฟจิตอาสาทุกท่านจะเป็นผู้ออกแบบเมนูที่ได้ทั้งรสชาติความอร่อย การจัดแพ็คเกจที่สวยงามน่ารับประทาน รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการที่สอดคล้องกับพลังงานของทีมแพทย์ที่ควรได้รับ โดยสลับหมุนเวียนกันมาจัดเตรียมอาหารในทุกเช้า เพื่อปรุงอาหารมื้อกลางวันอย่างพิถีพิถันจำนวน 300 ชุดต่อวัน และจัดส่งให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย “รถขนส่งควบคุมอุณหภูมิ”

ทั้งนี้ เพื่อให้คุณหมอได้รับประทานอาหารแสนอร่อยที่ปรุงเสร็จใหม่ๆแบบร้อนๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการเชฟแคร์ส์ ได้ส่งมอบข้าวกล่องกว่า 30,000 กล่อง ให้โรงพยาบาลของรัฐไปทั้งหมด 17 แห่ง ทั้งในกรุงเทพและภูเก็ต และต่อยอดมอบข้าวกล่องไปถึงเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงซึ่งทำงานในพื้นที่สาธารณะต่างๆ อีก 5 หน่วยงาน เช่น เจ้าหน้าที่ประจำสถานีรถไฟฟ้า พนักงานทำความสะอาด ตำรวจและเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง