กอนช.เร่งแผนผันน้ำลงเขื่อนจี้ศึกษาภูมิพลเลือกรับน้ำยวม-สาระวิน
กอนช.หาทางเพิ่มประสิทธิภาพน้ำไหลลงอ่างฯ ดึงอ่างฯ น้ำน้อยสุด ปูทางโครงการนำร่องรับฝนตกหนัก ส.ค.-ก.ย. นี้ พร้อมศึกษาแผนผันน้ำลงภูมิพล ดูความคุ้มค่า ความมั่นคง กรณีสร้างเขื่อนกั้นยวม หรือซื้อจากสารวิน
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง“แนวทางและวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพปริมาณน้ำไหลลงอ่าง”ว่าในระยะที่ผ่านมาแม้จะมีฝนตก แต่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ยังมีน้อย โดยปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศในขณะนี้มีจำนวน33,829ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)หรือคิดเป็น41%เป็นปริมาณน้ำใช้การเพียง10,036ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 17% เท่านั้น
ซึ่งพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)ได้สั่งให้สทนช.ให้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์สาเหตุปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงอ่างฯ ได้ หรือมีการสูญหายไประหว่างทาง โดยเฉพาะแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนบรรเทาปัญหาภัยแล้งและรองรับสถานการณ์ฝนที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)ได้มีการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูฝนนี้ว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่นและตกหนักในหลายพื้นที่ในระหว่างเดือนส.ค.- ก.ย.2563 รวมถึงมีโอกาส ที่อาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านด้วย
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อยลง เช่น ความชื้นในดิน ปริมาณน้ำฝนเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯลฯเป็นต้น ซึ่งแนวทางและวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพปริมาณน้ำไหลลงอ่าง เช่น ระบบการส่งน้ำ ระบบการผันน้ำ ด้วยแรงโน้มถ่วงหรือการสูบน้ำ และปริมาณน้ำขั้นต่ำที่ต้องการนำมาเติมอ่างเก็บน้ำโดยการกำหนดพื้นที่เป้าหมายปรับปรุงประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในระยะเร่งด่วน
โดยจะมีการคัดเลือกอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยที่สุดหรือคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอในฤดูแล้งถัดไปเพื่อมาเป็นโครงการนำร่องรองรับปริมาณน้ำฝนที่คาดการณ์ไว้ในช่วงเดือนส.ค.- ก.ย. นี้ก่อนจะขยายผลไปสู่อ่างเก็บน้ำแห่งอื่น ๆ ต่อไปในการสำรองน้ำต้นทุนให้เพียงพอในอนาคต
ทั้งนี้ ในเดือน ก.ย. ทุกหน่วยงานต้องประเมินสถานการณ์น้ำที่กักเก็บไว้ใช้ในช่วงแล้งปี 64 (พ.ย.63- เม.ย. 64 ให้ชัดเจนเพื่อวางแผนการใช้น้ำ โดยเฉพาะในเขตภาคกลาง หากน้ำมีน้อย ก็อาจต้องวางแผนการทำนาปรัง ซึ่งมีความเป็นไปด้ที่ต้องงด หรือจัดพื้นที่ให้เหมาะสม
ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออก ในขณะนี้พบว่า มีฝนตกแม้จะมีปริมาณฯไหลลงอ่างได้ตามเป้าหมายแต่พบว่ายังมีน้ำท่า หรือน้ำท้ายเขื่อนอีกจำนวนมาก ดังนั้น กรมชลประทานและบริษัทอีสวอเตอร์ ได้เร่งสูบน้ำลงอ่าง เพื่อเก็บไว้ใช้ช่วงแล้งให้มากที่สุด โดยการเก็บน้ำในเขื่อนประแสร์ และหนองปลาไหล อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
สำหรับภาคเหนือ มีน้ำไหลงอ่างน้อยที่สุด แต่พื้นที่ทั่วไปมีความชุ่มน้ำเต็มที่แล้ว ดังนั้นหากมีฝนและพายุเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.-ส.ค. นี้ คาดว่าสถานกาณณ์จะดีขึ้น. อย่างไรก็ตาม พื้นที่เก็บน้ำในเขื่อนภูมิพลยังเหลืออีกจำนวนมาก ดังนั้นสทนช.ยังมีมีแผนผันน้ำเข้าเขื่อน ซึ่งอย่าระหว่างการพิจารณา โดยการสร้างจุดผันน้ำจากแม่น้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน และผันจากสาระวินแม่น้ำของพม่า
ทั้งนี้ ในส่วนของสาระวินนั้น ทางจีนพร้อมจะเข้ามาสร้างเขื่อนเพื่อขายไฟฟ้าให้กับไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา ในขณะที่การสร้างจุดผันน้ำยวมของไทยอยู่ระหว่างการศึกษา ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเบื้องต้นต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำ แต่ไม่สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้เพราะความสูงไม่พอ ในขณะที่ต้องใช้พลังงานในการสูบน้ำยกสูงขึ้นเพื่อให้น้ำไหลเข้าเขื่อน กรณีนี้ต้องใช้พลังงาน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต อยู่ระหว่างศึกษาแหล่งการใช้พลังงาน
“ทั้ง 2 แนวทางการพิจารณานอกจากต้องดูความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้วต้องดูผลกระทบด้านความมั่นคงด้วย แต่ในภาพรวมแล้ว เขื่อนภูมิพล ต้องผันน้ำมาลงให้ได้ รวมทั้งน้ำในภาคอีสาน ต้องเดินหน้าโครงการโขง เลย ชี มูลให้แล้วเสร็จเพราะจะเพิ่มพื้นที่ภาคการเกษตรได้อีกมาก"