กูรูจัดพอร์ตรับมือ ‘โค้ง3’ ลดน้ำหนักหุ้น-เพิ่มถือเงินสด

 กูรูจัดพอร์ตรับมือ ‘โค้ง3’  ลดน้ำหนักหุ้น-เพิ่มถือเงินสด

หลังก้าวเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ 20% และหากมองการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดที่ 969 จุด ไปถึงจุดสูงสุดที่ 1,454 จุด หุ้นไทยพุ่งขึ้นมาถึง 50% ภายในเวลา 3 เดือน

แต่เมื่อลองพิจารณาสถานการณ์โดยรวมกันดูแล้ว ปัจจัยลบต่างๆ ที่เราเผชิญกันมาก่อนหน้านี้ ดูเหมือนจะยังไม่ได้หมดไป ทั้งเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แม้ว่าจะ ‘ผ่อนคลายลง’ (เฉพาะในประเทศ) แต่ภาพรวมยังคงอยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็เริ่มสะท้อนออกมาให้เห็นกันมากขึ้น อย่างเรื่องหนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงิน หรือตัวเลขจีดีพีที่ติดลบหนัก

สถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไปนี้ ทั้งพัฒนาการในเชิงเศรษฐกิจ และมูลค่าของสินทรัพย์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้นักลงทุนอาจจะต้องทบทวนหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนกันอีกครั้ง

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ได้แนะนำการจัดสรรเงินลงทุนสำหรับสินทรัพย์ต่างๆ แบ่งเป็น หุ้น 40% โดยลงในหุ้นไทย 20% และหุ้นต่างประเทศ 20% ตราสารหนี้ 20% ลงในไทยและต่างประเทศอย่างละ 10% กองรีท 15% ทองคำ 5% และเงินสด 20%

ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ คือ หุ้นไทยฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดย ณ 23 ก.ค. 2563 อยู่ที่ประมาณ 1,360 จุด แต่การฟื้นตัวในรอบนี้อยู่บนความคาดหวังค่อนข้างมากของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ ณ ราคาระดับนี้ หุ้นไทยยังไม่มีแรงหนุนที่จะขึ้นไปต่อได้ และราคาค่อนข้างแพงแล้วแม้จะอิงกับคาดการณ์กำไรของตลาดในปี 2564

โดยรวมจึงแนะนำนักลงทุนลดสัดส่วนของหุ้นไทยลงเหลือ 10% จาก 20% ในเดือน มี.ค. ส่วนอีก 20% แนะนำลงหุ้นต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นตลาดประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่อย่างละ 10% ในส่วนของตลาดประเทศพัฒนาแล้ว แนะนำลงทุนในยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งราคายังไม่แพงนัก ส่วนตลาดเกิดใหม่แนะนำลงทุนในกองทุนอิงดัชนี MSCI Emerging market ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี

สำหรับเงินลงทุนที่ลดน้ำหนักออกจากหุ้นไทย แนะนำให้ถือเป็นเงินสด ทำให้น้ำหนักของเงินสดเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30% ขณะที่ตราสารหนี้ยังแนะนำคงสัดส่วน 20% แบ่งเป็นในไทยและต่างประเทศ เช่นเดียวกับทองคำที่แนะนำคงสัดส่วน 5% ของพอร์ต ซึ่งในระยะยาวยังเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ดี จากการเป็นสินทรัพย์ที่แปรผกผันกับหุ้น

ในส่วนของกองรีท ยังคงแนะนำให้คงสัดส่วน 15% เช่นกัน โดยให้น้ำหนัก 10% สำหรับลงทุนกองรีทต่างประเทศ ซึ่งมีการกระจายการลงทุนได้ดีกว่า นอกจากในส่วนของโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ยังมีส่วนของดาต้า เซ็นเตอร์ และคลังสินค้า ขณะที่กองรีทของไทยส่วนมากแล้วจะลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่า

ในส่วนของปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่ามี 5 ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยแรก คือ ท่าทีของผู้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นการอัดฉีดเม็ดเงินต่อเนื่อง จากนี้ต้องติดตามดูว่าการอัดฉีดจะลดลงหรือไม่ ซึ่งหากลดลงเร็วอาจกระทบต่อราคาสินทรัพย์ต่างๆ

ปัจจัยที่สอง คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงกำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 หากยังไม่เห็นการฟื้นตัว หรือแย่ลงอีก ตลาดอาจจะปรับฐานรุนแรง เพราะที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นมาด้วยความคาดหวังว่าจะดีขึ้น

ปัจจัยที่สามคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ช่วงเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งจะกระทบต่อการกำหนดนโยบายต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ปัจจัยที่สี่คือ มาตรการช่วยเหลือในไทย ทั้งเรื่องการพักชำระหนี้ที่จะหมดลงในไตรมาส 3 นี้ รวมถึงมาตรการ uptick rule ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าไม่มีการต่ออายุ ก็น่าจะเห็นแรงขายชอร์ตกลับเข้ามามากขึ้น

ปัจจัยสุดท้าย คือ การตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค หากหมดลงและความต้องการเพิ่มขึ้นไม่ทัน น่าจะเห็นราคาน้ำมันปรับตัวลงอีกครั้ง