อุตสาหกรรมสั่งศูนย์ITCทั่วประเทศดันเกษตรอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมสั่งศูนย์ITCทั่วประเทศดันเกษตรอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม สั่งการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม รวบรวมเครื่องจักรกลที่ทันสมัย รองรับความต้องการของผู้ประกอบการเกษตร โดยไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรที่มีราคาสูง เพื่อใช้ทดสอบตลาดให้ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

นายจุลพงษ์ ทวีศรี  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและการยกระดับภาคการเกษตรไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งพบว่าปัจจัยที่จำเป็น คือ เครื่องจักรกล ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอุปสรรค์ที่ภาคการเกษตรประสบปัญหา จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)  เร่งรัดการดำเนินงานศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center :ITC 4.0) ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัยรวบรวมเครื่องจักรกลที่ทันสมัย รองรับความต้องการของผู้ประกอบการเกษตร โดยไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรที่มีราคาสูง เพื่อใช้ศึกษาความเป็นไปได้และทดสอบตลาดให้ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ  

โดยพบว่าที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนมากสนใจเข้ามาทดลองใช้เครื่องจักรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยที่ศูนย์ฯ ที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัดจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจผลิตภัณฑ์ภายในชุมชน เพื่อคัดสรรสินค้าที่คาดว่าจะสามารถนำมาแปรรูปและพัฒนาเพิ่มมูลค่าได้  

"วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมหลายภาคส่วน แต่สำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เราเห็นว่ายังเป็นโอกาสที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี ซึ่งในปี 2564 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเดินหน้าสนับสนุนและพัฒนาต่อไป"

ในปัจจุบันศูนย์ ITC 4.0 ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการรวบรวมเครื่องจักรกลเพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการและเกษตรกร อาทิ เครื่องสกัดด่วน (Hi Speed Extractor) เครื่องระเหยเข้มข้น (Falling Film Evaporator) เครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) และเครื่องอบแห้งระบบปั้มความร้อน (Heat Pump Dryer) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Design Center) ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย สอดรับความต้องการของตลาดด้วย  

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา กสอ. โดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 ได้ดำเนินการให้คำแนะนำรวมทั้งสบันสนุนในด้านต่าง ๆ จนกระทั่งเกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในธุรกิจจนประสบความสำเร็จ อาทิ นางวิมล ฟักทอง ผู้ประกอบการบริษัท เห็ดดีไลท์ ไทยออร์แกนิค จำกัด อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ที่ได้แปรรูปเห็ดหูหนูผ่านเครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน เพื่ออบเห็ดให้แห้งและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเห็ดเจลลี่เฟรช ทำให้รายได้จากการจำหน่ายเห็ดหูหนูแห้งราคา กก.ละ 250 บาท เพิ่มเป็น กก.ละ 500 บาท ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 40,000 บาทต่อเดือน และ นางรัตนากร แก้วสายัณห์ ผู้ประกอบการผลิตจำหน่าย “กล้วยตากรัตนากร” อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ที่ได้นำหัวปลีมาทดลองแปรรูปเป็นหัวปลีผงอัดแคปซูล สำหรับบำรุงน้ำนมของแม่ลูกอ่อน ด้วยวิธี Spray Dryer เครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย ทำให้รายได้จากการจำหน่ายหัวปลีสดเดิม กก.ละ 7 บาท เป็น กก.ละ 850 บาท นายจุลพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย