สศก. ชี้จีดีพีเกษตรครึ่งปีแรกหด5.1 %
จีดีพี เกษตรครึ่งปีแรก หดตัว 5.1 % เหตุแล้ง หวังปริมาณฝนดี ความต้องการอาหารทั้งด้านมั่นคงและปลอดภัยช่วยดัน จีดีพีทั้งปีดีขึ้น รับยังไม่พ้นปากเหวคาดหดตัวที่1.2 %
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีเกษตร) ในครึ่งแรกปี 2563 อยู่ที่ติดลบ 5.1 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เป็นผลมาจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2562ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2563 ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชหลักๆ ได้อย่างเต็มที่เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน รวมทั้งยังมีการระบาดของโรคพืชหลายชนิด และมีปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การส่งออกหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด ส่งผลให้ ผู้บริโภคหันมาใส่ใจด้านอาหารปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการผลิตอาหารปลอดภัย ที่จะผลักดันให้เป็นวาระของชาติต่อไป ประกอบกับสังคมนิวนอร์มอล ทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้วิธีการสั่งซื้อทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ภาคเกษตรฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
“ความกังวลเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารของโลก จะเป็นโอกาสของไทยในด้านการส่งออกสินค้าเกษตร แต่ต้องเป็นสินค้าที่ปลอดภัยเท่านั้น ในขณะที่ช่องทางการตลาด เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นจากการส่งสินค้าออนไลน์ “
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสศก. กล่าวว่า จากความต้องการสินค้าอาหารปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับฤดูฝนในปีนี้ดี คาดว่าผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญในช่วงครึ่งปีหลังจะออกสู่ตลาดได้ตามเป้าหมาย และได้ราคาที่ดีตามนโยบายตลาดนำการผลิต รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯได้จับมือกับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มช่องทางการขายทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ จะผลักดันจีดีพีเกษตรในครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ติดลบ 2.3-1.3%
อีกทั้งจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564 แต่ทั้งนี้ต้องดูปริมาณฝนในฤดูแล้ง 63/64มาประกอบกันด้วย ซึ่งจะมีตัวเลขการกักเก็บน้ำที่ชัดเจนในช่วงเดือน พ.ย. 2563 ปัจจุบันที่เป็นฤดูฝน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างช่วยกันเก็บน้ำไว้ใช้ให้มากที่สุด จะเป็นผลให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเกษตรในช่วงแล้งได้
ทั้งนี้ จีดีพี ครึ่งปีแรก ที่ติดลบ 5.1 % เมื่อแยกรายกลุ่ม พบว่า สาขาพืชหดตัวมากที่สุด ที่ 7.0% เนื่องจากภัยแล้งไม่สามารถปลูกพืชหลักๆได้เช่น ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน เป็นต้น ส่วนสาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 5.5 % เนื่องจากไทยมีระบบการจัดการที่ดี และไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)