เปิด 4 เคสทางรอด 'ภูเก็ต' ช่วยกันกู้วิกฤติให้ภาคท่องเที่ยวไปต่อ

เปิด 4 เคสทางรอด 'ภูเก็ต' ช่วยกันกู้วิกฤติให้ภาคท่องเที่ยวไปต่อ

ส่องทางรอด "ภูเก็ต" เมื่อโควิด-19 ทำพิษจนเจ็บหนัก จากเดิมที่เคยมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 10-20 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ 4 แสนล้านบาทต่อปี แต่มาปีนี้ภาพรวมรายได้ "ภูเก็ต" ตกวูบ นักท่องเที่ยวเงียบหาย ซึ่งทุกภาคส่วนต่างพยายามกู้วิกฤติครั้งนี้ให้ได้

รู้หรือไม่? “ภูเก็ต” เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่สร้างรายได้เข้าประเทศไทยมากถึง 4 แสนล้านต่อปี แต่วันนี้ “ภูเก็ต” ต้องเจ็บหนักจากพิษ “โควิด-19”  ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักลดจำนวนลงไปมากอย่างน่าตกใจ พูดได้ว่าเศรษฐกิจของเมืองภูเก็ตเข้าขั้นเป็น "อัมพาต" อยู่หลายเดือนทีเดียว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคนไทยไปเที่ยว  “ภูเก็ต” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมมาดูว่าผู้ประกอบการนำเที่ยว โรงแรม และร้านอาหารต่างๆ ในภูเก็ต พวกเขามีการปรับตัวยังไง? เพื่อให้ประคองตัวอยู่ได้และช่วยกู้วิกฤติเศรษฐกิจเมืองภูเก็ตให้กลับมาฟื้นตัว

เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา หอการค้าภูเก็ตและทางการจังหวัดภูเก็ตเคยให้ข้อมูลในรายงานข่าว ระบุถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวเมื่อปี 2561 เอาไว้ว่า จังหวัดภูเก็ต ช่วงเดือน ม.ค.- ก.ย. 2561 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 10-14 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวในห้วงเวลาดังกล่าวประมาณ 344 ล้านบาท

ส่วนในปี 2562 มีข้อมูลจากรายงานสถิติด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ต ปี 2562 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ภูเก็ตมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ภูเก็ต แต่ยอดนักท่องเที่ยวโดยรวมก็ยังสูงอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  

159731054361

  • พิษโควิด-19 ทำ "ภูเก็ต" เจ็บหนัก!

แต่พอมาถึงปี 2563 เมื่อเกิดวิกฤติการแพร่ระบาด “โควิด-19” ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  “ภูเก็ต” ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะภูเก็ตอาศัยรายได้หลักจากการท่องเที่ยวมากถึง 80-90% ของรายได้ทั้งหมด  มีรายงานข่าวระบุว่าภูเก็ตได้รับเสียหายกว่า 160,000 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ลดลงเหลือประมาณ 5 ล้านคน 

ในช่วงเดือน ก.พ. - มี.ค. 2563 คณะกรรมการร่วมองค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ต ได้ออกแถลงการณ์เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตว่าพบเสียหายโดยตรงเป็นเงินรวมกว่า 54,200 ล้านบาท   ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบไปยังประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต อย่างเช่นนักท่องเที่ยวแถบ “ยุโรป” จึงส่งผลให้เกิดการชะลอตัวการเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อสถาณการณ์ภาพรวมของ “ภูเก็ต”  ย่ำแย่ขนาดนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนในภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจนำเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ จะมีวิธีรับมือและกู้วิกฤติครั้งนี้อย่างไรบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปหาคำตอบเรื่องนี้กัน

159731736692

  • ทางรอดธุรกิจโรงแรมในภูเก็ต :  ลดราคา 50%

พูดถึงรายได้จากการท่องเที่ยว เสียงสะท้อนที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าภูเก็ตซบเซาลงอย่างหนักคงหนีไม่พ้นกลุ่มธุรกิจกลุ่มโรงแรมในภูเก็ต ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ไปเต็มๆ 

สมบัติ อติเศรษฐ์ ประธานบริหารโรงแรมในเครือกะตะธานี คอลเลคชั่น และเจ้าของโรงแรมเดอะชอว์ กะตะธานี (โรงแรมหรูหราระดับ 6 ดาว โรงแรมเก่าแก่ของภูเก็ตที่เปิดบริการมานาน 15 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548) เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมีโรวิด-19 ระบาด โรงแรมในเครือเคยที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพักจำนวนมากทุกปี ปริมาณการเข้าพักมากถึง 90%-95% ในช่วงไฮซีซัน (มีนักท่องเที่ยวไทย 5%) โรงแรมเน้นทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก

159731861741        สมบัติ อติเศรษฐ์ ประธานบริหารโรงแรมในเครือกะตะธานี

แต่พอมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงแรมต้องปิดตัวไปหลายเดือน ตามมาตรการของสาธารณสุข จนถึงตอนนี้แม้จะกลับมาเปิดให้บริการได้ประมาณ 1 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพักในช่วงนี้ได้ จึงต้องหันมาเจาะตลาดนักท่องเที่ยวไทยแทน

สำหรับการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมเครือกะตะธานีนั้น ประธานบริหารฯ บอกว่าเน้นทำการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวไทยทราบว่าตอนนี้โรงแรมในภูเก็ตทุกแห่งต่างก็ลดราคาลงมาเยอะมาก อย่างที่เดอะชอว์ก็ลดราคาเช่นกัน แต่เดิมห้องพักพูลวิลลามีราคาสูงถึง 30,000-40,000 กว่าบาทต่อคืน แต่ช่วงนี้ลดราคาเหลือเพียง 13,000-15,000 เท่านั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเอื้อมถึง ในระยะนี้ยอมรับว่าโรงแรมขาดทุน แต่ยังประคับประคองไปต่อได้

เจ้าของโรงแรมเคือกะตะธานีเชื่อว่าในอนาคตเมื่อมีวัคซีนและยายารักษาโรคโควิด-19 แล้ว สถานการณ์โลกน่าจะดีขึ้น และธุรกิจโรงแรมก็น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เช่นกัน ภาพรวมของภูเก็ตก็ต้องกลับมาฟื้นตัวตามลำดับ ตอนนี้ทุกโรงแรมในภูเก็ตต้องจับมือกัน ต้องเข้าใจว่าโควิดมันเกิดได้มันก็ต้องหายไปได้ แต่ช่วงนี้ก็สู้ไปด้วยกัน

159731861342

159731861371

"นักท่องเที่ยวที่มองว่าภูเก็ตราคาแพง ผมอยากบอกว่าตอนนี้หลายๆ โรงแรมลดราคาลงมากอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน บวกกับมีมาตรการจากภาครัฐอย่าง เราเที่ยวด้วยกัน ก็จะทำให้เที่ยวได้ในราคาถูกลง ซึ่งเราก็อยากเชิญชวนให้พี่น้องคนไทยมาเที่ยวภูเก็ตในช่วงนี้เพราะราคาถูกจริงๆ ส่วนทางโรงแรมก็จะลดราคาค่าห้องพักมากถึง 50% นำเสนอให้คนไทยในช่วงโลว์ซีซันด้วย"

  • ทางรอดกลุ่มธุรกิจนำเที่ยว LOVE ANDAMAN : ปรับกลยุทธ์ขายทัวร์ใหม่

กลุ่มธุรกิจถัดมาที่โดนผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างหนักไม่แพ้กันก็คือ กลุ่มธุรกิจนำเที่ยว ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเคสธุรกิจนำเที่ยวอย่าง LOVE ANDAMAN ซึ่งเป็นธุรกิจนำเที่ยวเจ้าดังเจ้าใหญ่ในภาคใต้และจังหวัดภูเก็ต  ซึ่งพอเกิดวิกฤติครั้งนี้บริษัทเลิฟอันดามันก็เจ็บหนักอยู่ไม่น้อย ยืนยันได้จากพนักงานที่ทำงานกับบริษัทแห่งนี้มา 8 ปีอย่าง  ศริยา รัตนภูมิ ผู้จัดการแผนกบริการของเลิฟอันดามัน ได้เล่าให้ฟังว่า 

ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดโควิด  “ภูเก็ต”  มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเข้ามาเยอะ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่คึกคักมาก แต่พอมาเจอโควิดก็ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่ภูเก็ต แต่ทั่วโลกก็โดนกันหมด ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่โดนหนักสุดก็คือธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เพราะทุกคนไม่สามารถเดินทางไปมาได้ ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่มีใครมาใช้บริการด้านการท่องเที่ยว ทำให้ภูเก็ตซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด

ธุรกิจนำเที่ยวของ Love Andaman เองก็ค่อนข้างจะลำบากเหมือนกัน ธุรกิจนำเที่ยวทุกเจ้าในภูเก็ตก็โดนหนักหมดเลย แล้วไม่ใช่แค่เจ้าของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่ลูกจ้างหรือพนักงานในแต่ละบริษัทก็กระทบด้วย บางครอบครัวก็ตกงานพร้อมกันทั้งบ้าน ในฐานะที่ทำงานอยู่ในวงการธุรกิจท่องเที่ยว  ศริยายอมรับว่าโควิดครั้งนี้กระทบหนักมากจริงๆ ซึ่งบริษัทก็ประคับประคองพนักงานเท่าที่ทำได้

159731861566

"ยังดีที่ผู้บริหารของเลิฟอันดามัน มีความเห็นใจพนักงานโดยเข้ามาพูดคุยกับพนักงานตรงๆ ว่าเกิดวิกฤติหนักแบบนี้บริษัทต้องปรับตัว จากเดิมเคยจ่ายเงินเดือนให้เท่านี้ แต่ตอนนี้จ่ายเท่าเดิมไม่ได้แล้ว ต้องปรับลดเงินเดือนลง ซึ่งพนักงานทุกคนก็ยอมรับได้ และขอบคุณที่ทางบริษัทไม่ปลดพนักงานออก อีกทั้งให้ทางเลือกกับพนักงานว่าจะอยู่ต่อหรือไปหาโอกาสใหม่ๆ ถ้าสมัครใจลาออกบริษัทก็ให้การช่วยเหลือ   ถึงแม้ว่าบางช่วงบริษัทไม่มีรายได้เข้ามาเลย แต่ทางบริษัทก็ยังดูแลเราอยู่ นี่คือความน่ารักขององค์กร Love Andaman ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เขาไม่ทอดทิ้งพนักงาน"

ส่วนเรื่องการปรับตัวของธุรกิจทัวร์ Love Andaman ในวิกฤติครั้งนี้ ก็มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายทัวร์ใหม่ แต่เดิมจะขายทัวร์ท่องเที่ยวทางทะเลอย่างเดียว แต่ตอนนี้ปรับมาเป็นขายทัวร์รูปแบบอื่นๆ ด้วย เป็นตัวกลางทำเอเจนซี่ทริปท่องเที่ยวด้วย เช่น จับมือกับพันธมิตรทางการท่องเที่ยวอย่างโรงแรมต่างๆ  หากโรงแรมไหนมีส่วนลดค่าห้องพัก  Love Andaman ก็จะเป็นกระบอกเสียงกระจายข่าวพร้อมหาลูกค้าให้ โดยผูกเป็นทริปท่องเที่ยวร่วมกันในภูเก็ต

"ราคาห้องพักที่เราดีลมาได้จะมีราคาถูกกว่าการซื้อผ่าน OTA ทั่วไป อย่างลูกค้าขาประจำของจะรู้เลยว่าซื้อที่พักผ่านทาง  Love Andaman ก็คือจะได้ราคาถูกและคุ้มที่สุดแล้ว   ในอนาคตก็จะต่อยอดไปดีลกับร้านอาหารต่างๆ ในภูเก็ตด้วย เพื่อที่จะทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยมั่นใจว่า ถ้ามาเที่ยวภูเก็ตช่วงนี้จะสามารถเที่ยวได้ในราคาถูกและดีที่สุดเท่าที่เราจะบริการได้" ศริยาบอก

  • ทางรอดกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในภูเก็ต : ปรับการตลาดใหม่

ในขณะที่ทางด้านผู้ประกอบการร้านอาหารอย่าง “ร้านสำราญ” ของเชฟหน่อย-ธรรมศักดิ์ ชูทอง เซเลบริตี้เชฟแห่งเกาะภูเก็ต และเคยเป็นหนึ่งในทีมเชฟกระทะเหล็กอาหารยุโรปอีกด้วย เชฟหน่อยเล่าให้ฟังว่า ทำธุรกิจร้านอาหารชื่อ ร้านสวย มานาน 10 ปีซึ่งมีหลายสาขาในภูเก็ต และมีพนักงานร่วม 60 ชีวิต พอเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ธุรกิจร้านอาหารก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว พอนักท่องเที่ยวลดลง ร้านอาหารจึงรับกระทบตามไปด้วย

159731861225            เชฟหน่อย-ธรรมศักดิ์ ชูทอง เซเลบริตี้เชฟแห่งเกาะภูเก็ต     

เชฟหน่อยบอกอีกว่า แต่ธุรกิจร้านอาหารยังมีความโชคดีอยู่ ตรงที่สามารถปรับเปลี่ยนการตลาดได้ง่ายกว่า และเปลี่ยนได้เร็วกว่าธุรกิจโรงแรม จากเมื่อก่อนร้านสวยเน้นบริการอาหารแนวยุโรป ลูกค้าหลักๆ เป็นชาวต่างชาติ แต่พอมีวิกฤติตรงนี้ก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบร้าน และเปลี่ยนสไตล์อาหาร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้น

“ผมเปลี่ยนจากร้านสวยสาขานี้ (เมืองเก่าภูเก็ต) ให้กลายเป็นร้านสำราญ เปลี่ยนรูปแบบร้านใหม่เลย คือเป็นแนวสนุกสนาน เน้นดนตรีสด เน้นเบียร์สด มีบาร์เครื่องดื่ม และเปลี่ยนสไตล์อาหารในร้านทั้งหมดมาเป็นอาหารอีสานฟิวชั่นยุโรปและไทย ทำให้เข้าถึงตลาดคนไทยได้ง่ายขึ้น และปรับราคาอาหารลง เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงง่ายขึ้นเช่นกัน”

นอกจากนี้ก็ยังปรับกลยุทธ์การตลาด เปิดกว้างสู่การขายใหม่ๆ เช่น หันมาทำเดลิเวอรี่เพิ่มเติมด้วย เพื่อประคองให้ร้านอยู่รอด และให้พนักงานอยู่รอดไปด้วยกัน

159731861367

159731883732

  • ทางรอดและการฟื้นฟูภูเก็ต : นโยบายจากผู้ว่าฯ

อีกหนึ่งภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเมืองภูเก็ตก็คือทางภาครัฐ  ณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้อธิบายภาพรวมของภูเก็ตในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 พร้อมชี้แจงวิธีกู้วิกฤติเศรษฐกิจของภูเก็ตว่า    ภาพเก่าของภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีค่าใช้จ่ายสูง ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี สร้างรายได้เข้าประเทศมากถึง 4 แสนล้านบาทต่อปี

แต่ปีนี้เกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวลดฮวบ ภาพรวมเศรษฐกิจภูเก็ตก็ซบเซาอย่างหนัก เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคที่ยังไม่สงบ ยังไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยได้ ดังนั้นจึงต้องกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศก่อน

159731861328           ณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

สิ่งที่ทางการภูเก็ตต้องทำในตอนนี้คือ  หาแนวทางเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภูเก็ตโดยเร็ว เบื้องต้นในระยะแรกได้ประสานไปยังภาคธุรกิจนำเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรมที่พักต่างๆ ให้ช่วยลดราคาลง เพื่อเชิญชวนให้คนไทยเข้ามาเที่ยวในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐส่วนกลางที่เข้ามาช่วยอย่างโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และโครงการ “กำลังใจ” ที่จะสนับสนุนให้ อสม. อสส. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ออกทริปท่องเที่ยวกับบริษัททัวร์ ซึ่งเราก็ไปนำเสนอว่าให้ซื้อทัวร์จากภูเก็ตด้วย

อีกทั้งจะมีการจัดงานโร้ดโชว์ท่องเที่ยวภูเก็ตที่กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอ “แพ็คเกจท่องเที่ยวราคาพิเศษ” คนไทยจะได้เห็นว่าจากนี้ภาพลักษณ์ของเมืองภูเก็ตจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวราคาแพง แต่จะถูกลงและคุ้มค่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย

ส่วนมาตรการการท่องเที่ยวแบบ New Normal ผู้ว่าณรงค์บอกว่า จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันโรคโควิดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจภูเก็ตให้ไปต่อได้พร้อมๆ กัน โดยเร็วๆนี้ ก็จะเริ่มเปิดตลาดถนนคนเดิน เปิดให้นักกีฬาเข้ามาแข่งขันกีฬาทางน้ำ และในช่วงตุลาคมก็จะเป็ฯเทศกาลกินผัก ซึ่งในทุกๆ กิจกรรมเหล่านี้เราก็จะต้องประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และให้มีการเว้นระยะห่าง Social Distancing ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหาร และโรงแรมต่างๆ ในภูเก็ตก็ต้องมีมาตรการให้พร้อม ตั้งจุดบริการเจลล้างมือ เว้นระยะห่าง และมีสัญลักษณ์ SHA จาก ททท. การันตีความปลอดภัย

159731861560

159731861314

ผู้ว่าฯ ภูเก็ตบอกอีกว่า ในระยะถัดไปจะเน้นโปรโมต “ภูเก็ต” ในฐานะที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีแลนด์มาร์คด้าน “อาหาร” ที่มีลักษณะเฉพาะตัว การันตีจากการที่ภูเก็ตได้รับยกย่องจาก “ยูเนสโก” ให้เป็น 1 ใน 18 เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร (Gastronomy) ของโลก ซึ่งเป็นเมืองแรกในไทยและอาเซียน นอกจากนี้ภูเก็ตก็มีจุดเด่นมากมาย ได้แก่ ธรรมชาติสวยงามทั้งทะเลและภูเขา รวมถึงมีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น

“ผมอยากนำเสนอว่า ถ้าอยากเที่ยวภูเก็ตท่านต้องมาเที่ยวช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพราะราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ ถูกลงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และคนไม่เยอะ ไม่ต้องแย่งกันกินแย่งกันเที่ยว ส่วนเรื่องโควิดก็ไม่ต้องกังวล มั่นใจได้ว่าปลอดภัย จากการระบาดช่วงคต้นปีที่ผ่านมา ภูเก็ตรับมือได้อย่างดี ยอดผู้ติดเชื้อในเกาะภูเก็ตน้อยมาก เมื่อพบก็รักษาได้เร็ว ดังนั้นภูเก็ตเรามีศักยภาพที่จะจัดการได้”

159731861314_1

ส่วนในระยะยาว “ภูเก็ต” จะพัฒนาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Health Plaza ถ้ามาเที่ยวภูเก็ตมั่นใจได้ว่าปลอดภัย หรือถ้าป่วยมาเราก็มีทีมแพทย์ฝีมือดีที่ให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในภูเก็ตหลายแห่งที่จะมาร่วมมือกันผลักดันโปรเจคนี้ให้เกิดขึ้น รวมถึงพัฒนาด้านการศึกษาให้มีโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวหรือคนทั่วไปมาอยู่ในพื้นที่ได้ในระยะยาว

หากภูเก็ตร่วมมือกันทุกภาคส่วน และสามารถทำได้ตามโร้ดแมพนี้จริง เชื่อว่าอีกไม่นานเมืองภูเก็ตต้องกลับมาฟื้นตัวได้ในเร็ววันแน่นอน.