MTC ภารกิจปั้น 'กำไร' โต พิชิตศรัทธาต่างชาติ !
ผลงาน 'โดดเด่น' ต่อเนื่อง ! นางกวักเรียกตังค์ในกระเป๋านักลงทุน 'ต่างชาติ & สถาบันในประเทศ' หลังพร้อมใจเพิ่มสัดส่วนถือหุ้น 'ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' นายใหญ่ 'เมืองไทย แคปปิตอล' โชว์พันธกิจครึ่งปีหลังเดินหน้าปล่อยสินเชื่อต่อ พร้อมการันตีรายได้เติบโต 20-25%
ผลกำไรสุทธิ 'New High' ติดต่อกันหลายไตรมาส ! สะท้อนผ่านล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2563 มี 'กำไรสุทธิ' จำนวน 1,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.09% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,021 ล้านบาท โดยมี 'ยอดสินเชื่อคงค้าง' 63,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 16.08 % เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 54,421 ล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 มีกำไรสุทธิ 2,503.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.57% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,026.14 ล้านบาท
เหตุผลสำคัญของการกำไรสุทธินิวไฮในครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามการปล่อยสินเชื่อที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท
'ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC เล่าให้ฟังในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Oportunity Day) ว่า ตั้งแต่ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง นักลงทุนสถาบันไทย และ กองทุนต่างชาติ ต่างพากัน 'เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น MTC' จากเดิมที่เคยถือ 6-7% ปัจจุบันต่างชาติถือหุ้น ผ่านใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย หรือ NVDR ในสัดส่วน 16.48%
ขณะเดียวกันกองทุนภายในประเทศ ถือสัดส่วน 11.20% (ตัวเลข ณ เดือน ส.ค.2563) ประกอบด้วย บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด , SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED , STATE STREET EUROPE LIMITED , CITI (NOMINEES) LIMITED-CITIBANK LONDON RE FUND 208 , กองทุนเปิด ไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทิสโก้มาสเตอร์ร่วมทุน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว สัดส่วนการลงทุน 5.33% , 2.51% , 2.30% , 1.34% , 0.68% และ 0.68% ตามลำดับ (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน 7 ก.ค.2563)
ส่วนตัวเชื่อว่า ผลงานที่โดดเด่นของ MTC ทำให้นักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศเชื่อมั่นใจธุรกิจมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวพอใจสัดส่วนต่างชาติถือหุ้นสัดส่วนดังกล่าวและจะพยายามรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ในระดับดังกล่าว ซึ่งกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ถือหุ้น MTC นั้น ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนที่ลงทุนในระยะยาว และจะทำให้ราคาหุ้น MTC มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
'ประธานกรรมการบริหาร' บอกต่อว่า สำหรับภาพรวมกำไรสุทธิปี 2563 เติบโตแตะ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากครึ่งปีแรกบริษัทสามารถทำได้แล้ว 2,503.9 ล้านบาท และในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจอีกด้วย
'หากลองคิดตามหลักคณิตศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ ในเมื่อครึ่งปีแรกเราทำกำไรสุทธิไปแล้ว 2,503 ล้านบาท และในครึ่งปีหลังแนวโน้มดีกว่าครึ่งแรก เพราะเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ ดังนั้นกำไรตามที่ตั้งเป้าไว้จะไม่เห็นได้ไง'
ขณะที่ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อในปี 2563 คาดว่าจะเติบโตได้ 20-25% โดยส่วนใหญ่บริษัทมีกลุ่มลูกค้าชั้นดี ทั้งนี้บริษัทมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 63,174 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นลูกค้าชั้นดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรประมาณ 90% ซึ่งกลุ่มนี้มีรายได้ประจำการเพาะปลูก ส่วนกลุ่มลูกค้าโรงงานประมาณ 10% ซึ่งก่อนหน้านี้อาจได้รับผลกระทบชำระหนี้ล่าช้า จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) แต่ปัจจุบันสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติประมาณ 80% แล้ว
ขณะที่ สถานการณ์ภัยแล้งเมืองไทยเริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว ทำให้เกษตรกรกลับมาใช้จ่ายด้านการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงโรงเรียนและมหาลัยเริ่มกลับมาเปิดภาคเรียนเป็นปกติจากก่อนหน้านี้หยุดจากเหตุการณ์โควิด-19 คาดว่าปัจจัยบวกดังกล่าวจะหนุนยอดการปล่อยสินเชื่อช่วงครึ่งปีหลังยังคงเติบโต
โดยบริษัทจะเน้นคุม 'หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)' ไว้ไม่เกิน 'ระดับ 2%' ทั้งนี้บริษัทมีรายได้หลักจากดอกเบี้ยรับประมาณ 94%
'หลังรัฐบาลได้ปลดล็อกให้ทุกธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติแล้ว ทำให้มีการจ้างงาน และช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ลูกค้าในภาคเกษตรกรมีความต้องเงินมาลงทุนเพื่อทำการเพาะปลูกรอบใหม่ รวมถึงโรงเรียนเปิดเทอม ผู้ปกครอง มีความจำเป็นต้องใช้เงินมาใช้จ่ายเป็นจำนวนมากขึ้น ทำให้บริษัทเชื่อมั่นว่ายอดปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 3 ปี 2563 จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้'
สำหรับกลยุทธ์การเปิดสาขาใหม่นั้น ในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายการเปิดสาขาใหม่ประมาณ 600 สาขา หรือปลายปี 2563 จะมีสาขาทั้งหมด 4,700 สาขา โดยในช่วงที่เหลือปีนี้จะขยายสาขาอีกประมาณกว่า 100 สาขา หลังไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทขยายสาขาแล้วแตะระดับ 4,568 สาขา ซึ่งใช้งบลงทุนตามขนาดในแต่ละแห่ง แบ่งเป็นขนาดใหญ่ 8 แสนบาทต่อสาขา , ขนาดกลาง 4 แสนบาทต่อสาขา และขนาดเล็ก 2.5 แสนบาทต่อสาขา
นอกจากนี้บริษัทยังไม่มีความกังวลด้านรีไฟแนนซ์ โดยในอีก 12 เดือนข้างหน้า บริษัทจะมีเงินกู้ครบกำหนดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทยังมีเครดิตวงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์อีกประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ถือว่าเพียงพอไม่น่าเป็นห่วง นอกจากนี้บริษัทพยายามขยายเครดิตวงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
ทั้งนี้ สำหรับกลยุทธ์ในครึ่งปีหลังของ MTC จะมุ่งเน้นไปที่ '3 ประเด็นหลัก' ประกอบด้วย 1.การจัดการต้นทุนทางการเงิน ซึ่งจะช่วยรักษา Spread ให้คงที่ โดยเงินทุนใหม่ของบริษัทบางส่วนมาจากเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และบางส่วนมาจากการออกหุ้นกู้มีต้นทุนที่ถูกลงกว่าหุ้นกู้เดิมที่จะถึงกำหนดชำระในครึ่งปีหลัง ทำให้บริษัทฯคาดหวังว่า ต้นทุนทางการเงินในครึ่งปีหลังจะต่ำลงอีกเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก
2.การคุมคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงการตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 9(TFRS9) ให้เหมาะสม และเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ โดยจะคุมหนี้เสียไว้ไม่เกินระดับ 2% ตามเป้าที่วางไว้ก่อนหน้านี้
และ 3.การผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับ Customer Experience เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะยาวและเพื่อสร้าง Competitive Edge เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ท้ายสุด 'ชูชาติ' ทิ้งท้ายไว้ว่า ยื่นยันว่าผลงานครึ่งปีหลังคาดว่าจะมากกว่าครึ่งปีแรกอย่างแน่นอนตาม Nature ธุรกิจ ดังนั้น กำไรที่ตั้งเป้าไว้จึงเป็นระดับที่เห็นได้อยู่แล้ว รวมทั้งบริษัทยังเดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
'กำไร & พอร์ตสินเชื่อ' ยังแข็งแรง !
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) บอกว่า กำไรสุทธิทำ New High และคุณภาพพอร์ตสินเชื่อยังแข็งแรง สะท้อนผ่านไตรมาส 2 ปี 2563 ที่รายงานตัวเลขกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,267 ล้านบาท เติบโต 24.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยทำ 'สถิติสูงสุดใหม่รายไตรมาสครั้งใหม่' (ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด) โดยแม้มีผลกระทบจากการเข้าสู่ล็อคดาวน์และมีต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นกว่า 23.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จน Cost to Income ratio เพิ่มขึ้นแตะ 48.7% จากเพียง 45.5% ในไตรมาส 2 ปี 2562 เนื่องจากต้องรับรู้ค่าเสื่อมของสิทธิ์การใช้สินทรัพย์เพิ่มเข้ามาตาม TFRS16 และมีการเพิ่มพนักงานสาขาเข้ามามากขึ้น แต่บริษัทยังสามารถบริหาร Operation ได้ดี
ส่งผลให้ ข้อ 1.รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิเพิ่มขึ้น 17.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อที่ 16.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังมีการขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นเป็น 4,568 สาขา เพิ่มขึ้น 829 สาขา จากไตรมาส 2 ปี 2562 กลบแรงกดดันจาก NIM ที่แคบลงเล็กน้อยเหลือ 18.7% จาก 19% ในไตรมาส 2 ปี 2562 หลังบริษัทมีการปรับลดดอกเบี้ยลงให้กับลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือทางการเงินบางส่วน ส่งผลให้ Asset Yield ปรับตัวลง
ข้อ 2. ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองลดลงกว่า 87% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีเงินสำรองอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว สะท้อนได้จาก Coverage Ratio ที่ 211.7% บวกกับบริษัทอยู่ระหว่างการใช้สิทธิผ่อนผันการปรับ Stage ของลูกหนี้ตามมาตรการของ ธปท. ทำให้มีลูกหนี้ที่ตกชั้นเป็น NPL น้อยลงมาก อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาลูกหนี้ของบริษัทส่วนมากได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐฯ ทำให้มีการชำระคืนเงินค่อนข้างดี โดยปัจจุบันบริษัทมี NPL (ลูกหนี้ Stage 3) เพียง 1.04% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ 1.09%
อย่างไรก็ตาม มองว่า MTC เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีศักยภาพทำกำไรแข็งแกร่ง กำไรสามารถเติบโตได้ทั้งช่วงเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อน แม้ได้รับผลจากการเข้าสู่ล็อคดาวน์ในเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนช่วงครึ่งปีหลัง 2563 คาดมีโอกาสที่ผลดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นคืนกลับมาหลังปลดล็อคดาวน์ และคาดเห็นพอร์ตสินเชื่อขยายตัวได้ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากเข้าสู่ช่วง High Season ทำให้มีความต้องการใช้เงินด่วนทั้งเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดเทอมของนักเรียน, การเริ่มการเพาะปลูก และการเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจของ SME
นอกจากนี้บริษัทยังสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางการตลาดได้มากขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองคาดจะไม่เพิ่มขึ้นมาก เพราะลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงได้เข้าโครงการช่วยเหลือทางการเงินไปแล้ว (ลดดอกเบี้ย+ปรับโครงสร้างหนี้) และยังอยู่ระหว่างการผ่อนผันการปรับชั้นลูกหนี้ รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 ทำให้คงคาด MTC จะมีกำไรสุทธิปีนี้ราว 4,899 ล้านบาท เติบโต 15.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน