เปิดคำให้การ 'ชาญศิลป์-ปิยสวัสดิ์' มั่นใจฟื้นฟูการบินไทยสำเร็จ

เปิดคำให้การ 'ชาญศิลป์-ปิยสวัสดิ์' มั่นใจฟื้นฟูการบินไทยสำเร็จ

“ศาลล้มละลาย” ไต่สวนฟื้นฟูกิจการบินไทยนัดแรก เจ้าหนี้ค้าน 16 ราย ห่วง “อีวาย” ไม่มีประสบการณ์ธุรกิจการบิน “ชาญศิลป์” ชี้คัดเลือกที่ปรึกษาโปร่งใส ศาลนัดอีกครั้ง 20 ส.ค.นี้ “ปิยสวัสดิ์” แจงลุยเจรจาแบงก์พร้อมหนุนเงินทุน มั่นใจแผนฟื้นฟูสำเร็จ

ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งแรกไปแล้วและมีกำหนดนัดไต่สวนอีกครั้งวันที่ 20 ส.ค.นี้ หลังจากการบินไทยเสนอให้มีการไต่สวนพยานเพิ่ม 2 ราย

การไต่สวนของศาลล้มละลายกลางวานนี้ (17 ส.ค.) มีผู้ยื่นคัดค้าน 16 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.เจ้าหนี้ถือบัตรโดยสาร

2.เจ้าหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด

3.เจ้าหนี้จากบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยส่วนใหญ่ยื่นคัดค้านคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยเสนอ ซึ่งได้ซักถามถึงรายละเอียดการจัดทำแผนต่อการชำระหนี้

ทั้งนี้ การบินไทยกำหนดพยานฝ่ายลูกหนี้ขึ้นเบิกความ 3 ราย คือ

1.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย

2.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการการบินไทย

3.บริษัทอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด

เจ้าหนี้ 16 ราย ที่ยื่นคัดค้านได้ส่งตัวแทนซักถามพยานฝ่ายลูกหนี้ โดยประเด็นที่ถูกสอบถามมาก คือ การตั้งบริษัทอีวายฯ เป็นคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเพราะไม่มีประสบการณ์การทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทและต้องมาทำแผนฟื้นฟูกิจการธุรกิจระดับแสนล้านบาท รวมทั้งเป็นคนละบริษัทกับบริษัทอีวาย ผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า บริษัทอีวายฯ ผ่านการคัดเลือกตามกระบวนการที่โปร่งใส แต่แต่งตั้งก่อนที่จะมาเป็นรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย และยืนยันว่ายังไม่ได้จ่ายเงินให้บริษัทอีวายฯ ส่วนข้อซักถามกรณีแต่งตั้งผู้ทำแผนแล้วบริษัทอีวายฯ ต้องร่วมลงนามในแผนด้วยหรือไม่นั้นไม่ทราบ

นอกจากนี้ ในประเด็นกรณีการฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จจะขอขยายเวลาฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ในประเด็นนี้เห็นว่ากระบวนการฟื้นฟูมีขั้นตอนตามกฎหมาย และถ้ากฎหมายให้ยืดเวลาได้ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนประเด็นแหล่งที่มาของเงินในช่วงฟื้นฟูกิจการนั้น นายชาญศิลป์ ระบุว่า ปัจจุบันแหล่งที่มาของเงินชำระหนี้ยังไม่มี แต่อนาคตต้องมี

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการการบินไทย ชี้แจงประเด็นการคัดเลือกบริษัทอีวายฯ ว่า ได้รับรายงานการคัดเลือกบริษัทอีวายฯ เป็นคณะผู้ทำแผน ส่วนประเด็นการเป็นคนละบริษัทอีวาย ผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลกนั้น ยอมรับว่าทราบข้อมูล

ส่วนประเด็นบริษัทอีวายฯ มีประสบการณ์ทำแผนฟื้นฟูกิจการ 3 บริษัท เช่น บริษัทสหฟาร์มแต่ยังไม่สำเร็จนั้น นายปิยสวัสดิ์ ระบุว่ารับทราบ แต่เรื่องดังกล่าวอยู่กระบวนการชำระหนี้ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ

นายปิยสวัสดิ์ ชี้แจงประเด็นค่าตอบแทนบริษัทอีวายฯ ว่า ในฐานะกรรมการการบินไทยได้ทราบข้อมูลว่าจะจ่ายผลตอบแทนหรือค่าทำแผน 22 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นงวดตามสัญญา และค่าดำเนินการ 15 ล้านบาทต่อเดือน ตั้งแต่ศาลแต่งตั้งเป็นผู้ทำแผนจนกว่าศาลจะเห็นชอบแผน แต่ยอมรับว่ารายละเอียดส่วนนี้ไม่ได้ระบุในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เพราะต้องรอให้ศาลพิจารณาอนุมัติแผนก่อน และปัจจุบันยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างแต่อย่างใด

นายปิยสวัสดิ์ ชี้แจงประเด็นแหล่งเงินทุนในการฟื้นฟูกิจการนั้น ได้หารือสถาบันการเงินไทยหลายแห่งและได้คำตอบที่ดี โดยสถาบันการเงินหลายแห่งพร้อมสนับสนุน โดยถ้าศาลและเจ้าหนี้เห็นชอบแผนฟื้นฟูครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่การบินไทยจะได้รับโอกาสจากสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการเดินหน้าธุรกิจช่วงวิกฤติโควิดด้วย

ส่วนประเด็นหากฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จจะขอต่อการฟื้นฟูหรือไม่ว่า หากแผนฟื้นฟูได้รับการเห็นชอบจะเดินหน้าตามแผนและช่วยลดต้นทุน รวมทั้งจะทำให้การบินไทยเดินหน้าเจรจาชำระหนี้ ซึ่งทำให้หาเงินเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจ โดยมั่นใจว่าแผนจะสำเร็จ รวมทั้งมองว่าการฟื้นฟูกิจการไม่ได้เป็นเพียงการยืดชำระหนี้ แต่เป็นโอกาสปรับโครงสร้างองค์กร ลดค่าใช้จ่ายลง ปรับเส้นทางบินใหม่ให้เหมาะสม จะเป็นผลต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาในอนาคต

นางสาวชุติมา ปัญจโภคากิจ กรรมการบริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด พยานรายสุดท้ายของการไต่สวนครั้งนี้ขึ้นชี้แจงว่า มีการติดต่อจากการบินไทยให้เข้าไปเสนอแผนการเป็นที่ปรึกษาและการทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีบริษัทอีกรายเข้ามาเสนอด้วย แต่บริษัทอีวายฯ ได้รับคัดเลือก โดยงานหลักจะเป็นผู้ทำแผนและเสนองานที่จะต้องทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน

ทั้งนี้ หากบริษัทอีวายฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ทำแผนจะต้องบริหารทรัพย์สินของลูกหนี้ และบริหารกิจการของลูกหนี้ตามกฎหมาย โดยยอมรับว่าบริษัทอีวายฯ ไม่มีประสบการณ์บริหารธุรกิจระดับแสนล้านมาก่อน เพราะบริษัทระดับนี้ไม่ได้ยื่นฟื้นฟูกิจการบ่อยครั้ง แต่บริษัทอีวายฯ จะเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูและบริหารแผนร่วมกับคณะกรรมการอยู่ตลอด

ส่วนประเด็นผลตอบแทนนั้น แบ่งการว่าจ้างออกเป็นค่าทำแผน 22 ล้านบาท และค่าดำเนินการรายเดือน 15 ล้านบาท โดยยังไม่ได้รับค่าจ้างเพราะยังไม่ถูกแต่งตั้งเป็นผู้ทำแผน

ศาลไต่สวนพยานเพิ่ม 2 นัด

นายชาญศิลป์ กล่าวหลังการไต่สวนของศาลล้มละลายกลาง ว่า ศาลนัดไต่สวนคำร้องเพิ่มเติมอีก 2 วัน คือ วันที่ 20 ส.ค.นี้ และวันที่ 25 ส.ค.นี้ ซึ่งการบินไทยจะนำพยานเข้าเบิกความต่อศาลเพิ่ม โดยคาดว่าการพิจารณาอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์จึงจะทราบผลแต่ขึ้นกับดุลยพินิจศาล โดยหากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนจะเชิญเจ้าหนี้มารับฟังการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 1-2 เดือนนับจากวันที่มีประกาศคำสั่งตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูในราชกิจจานุเบกษา

สำหรับประเด็นที่การบินไทยเสนอศาลล้มละลายกลางพิจารณามี 2 ประเด็น คือ ควรสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูตามที่เสนอมาหรือไม่ ซึ่งการบินไทยเสนอชื่อผู้ทำแผน คือ

1.พล.อ.อ.เอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 5.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 6.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร 7.บริษัท อีวาย คอร์ปอเรทแอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด

ทั้งนี้ กระบวนการไต่สวนครั้งนี้ราบรื่น โดยประเด็นที่ยื่นคัดค้านไม่มีน่าหนักใจเพราะการบินไทยชี้แจงได้ รวมทั้งขณะนี้มีเจ้าหนี้รายใหญ่กว่า 100 ราย รวมทั้งกระทรวงการคลังลงนามสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการคิดเป็นหนี้มากกว่า 50% ของจำนวนหนี้ตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ซึ่งมีราว 3 แสนล้านบาท ส่วนการอนุมัติตั้งคณะผู้ทำแผนขึ้นกับศาลล้มละลายกลาง

“หากศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนในระยะเวลาอันใกล้จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเจ้าหนี้ทุกราย เพราะการฟื้นฟูกิจการจะไม่ล่าช้าและการบินไทยจะเริ่มต้นแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินได้เร็ว”