โควิดฉุด 'โรงแรม-ศูนย์การค้า' เร่งรายได้ 'ดิลิเวอรี่' ลดต้นทุน
ผลกระทบโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก จากมาตรการเข้มข้นควบคุมการระบาด โดยได้เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนมี.ค.ไปจนถึงเดือนเม.ย. ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือ โรงแรม ศูนย์การค้า
ผลกระทบโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก จากมาตรการเข้มข้นควบคุมการระบาด โดยได้เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนมี.ค.ไปจนถึงเดือนเม.ย. ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ล่าสุดได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ ติดลบ 7.5-7.8% โดยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือ โรงแรม ศูนย์การค้า
สุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบมาจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้จากคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเมืองไทยจำนวน 40 ล้านคน ปรับลดเป้าลงเหลือ 7-8 ล้านคน ส่งผลให้อัตราการเข้าพักในโรงแรมลดลงเหลือ 10% จากก่อนหน้าคาดว่าจะมีอัตราการเข้าพัก 75% และในช่วงไฮซีซันอัตราการเข้าพักสูงถึง 85-95% ทำให้ปีนี้คงไม่ถึงตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับธุรกิจศูนย์การค้าที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก
“ผลกระทบของภาคโรงแรมและศูนย์การค้า ยังคงเกิดขึ้นจนกว่าภาครัฐจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังในประเทศไทยได้ โดยธุรกิจโรงแรมจะกลับไปสู่ภาวะปกติได้นั้นต้องรอลุ้น เรื่องวัคซีน รวมทั้งการออกมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่ออกมาช่วยกระตุ้นความต้องการในประเทศ แม้จะไม่สามารถชดเชยได้ 100% ยังดีกว่าไม่ทำอะไร”
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ประเทศไทยได้เผชิญหลายวิกฤติ ตลาดอสังหาฯมีแรงต้านมาก แต่ยังสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลารวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือวิกฤติซับไพรม์ ในปี 2550 ภายใน2-3 ปีสามารถฟื้นตัว
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า โควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้สามารถคาดเดาได้ว่าจะยุติเมื่อไร หรือจะฟื้นตัวได้เมื่อไร ซึ่งเรามีปัจจัยที่ต้องคำนึงคือ การพัฒนาวัคซีน หากพัฒนาและใช้ได้จริง ก็สร้างความเชื่อมั่น แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างมั่นใจอย่างน้อย 6 เดือน
ทั้งนี้คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว เพราะการจะกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ซึ่งต่อจากนี้อาจจะยังไม่เห็นกรุ๊ปทัวร์กลับมาแต่จะเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มครอบครัวแทน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งจีดีพีของประเทศมาจากการท่องเที่ยว15-20%
สุพินท์ ยังกล่าวว่า ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่า ธุรกิจโรงแรมที่จะอยู่รอดได้ต้องปรับตัว อาทิ การหารายได้ ด้วยการเปิดให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านระบบดิลิเวอรี่ เปิดลองสเตย์ พร้อมกับลดต้นทุนต่างๆ เพื่อให้สามารถประคองตัวอยู่รอด ซึ่งโรงแรมขนาดกลางและเล็กจะสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า โรงแรมขนาดใหญ่แต่การที่ปิดโรงแรมยาวไปจะมีผลต่อการดำเนินการในอนาคต ถือเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังของโรงแรมและศูนย์การค้าที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นคนต่างชาติ
ส่วนตลาดคอนโดในกลุ่มระดับลักชัวร์รี่ ตามแนวรถไฟฟ้า ทำเล สุขุมวิท หลังสวน เพลินจิต วิทยุ ได้รับผลกระทบน้อยเพราะมีซัพพลายน้อย และผู้ประกอบการ ออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในตลาดลักชัวรี่ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ได้รับการตอบรับที่ดี
ในส่วนตลาดคอนโดภาพรวมจะเป็นการปรับตัวตามดีมานด์-ซัพพลายในแต่ละพื้นที่ ขณะที่ตลาดอาคารสำนักงาน ได้รับผลกระทบน้อยสุด แม้ว่าจะมีการปรับตัวในการทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีกลุ่มลูกค้าที่ยังคงต้องการใช้พื้นที่สำนักงาน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตในช่วงโควิด อาทิ ธุรกิจอี คอมเมิร์ซ เทคโนโลยี ไอที โลจิสติกส์
กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลในไตรมาสสองปีนี้พบว่า ดัชนีราคาคอนโดลดลง4%จากไตรมาสแรก และลดลงมากถึง9%ในรอบ1ปี บ้านเดี่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้น3%ทาวน์เฮ้าส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% ขณะที่ซัพพลายลดลง15 % ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตลาดอสังหาฯที่กลับมาสู่จุดสมดุล เพราะผู้ประกอบการปรับตัวด้วยการลดราคา โปรโมชั่นในช่วงไตรมาสสอง เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้าทั้งคอนโด และแนวราบที่เพิ่มขึ้นหลังจากโควิดทำให้คนหันมาใส่ใจกับการมีที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่มากขึ้น รองรับกับไลฟ์การใช้ชิวิตใหม่ ที่มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น
“ปัจจุบันแนวคิดในการเลือกซื้ออสังหาฯเปลี่ยนไป ต้องการพื้นที่มากขึ้น สามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา มีพื้นที่ส่วนกลางที่มีความเป็นส่วน ตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องปรับแนวคิดในการออกแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโควิดจะมีสัญญาณคลี่คลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในเอเซีย เช่นเดียวกับไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงอย่างมากจนเริ่มมีสีญญาณที่เปิดสายการบินระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันแผนการดังกล่าวต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจาก หลายประเทศที่มีการคลายล็อกดาวน์ไปก่อนหน้านี้ เช่น จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีที่มีการระบาดระลอกสอง ซึ่งสะท้อนว่าสถานการณ์แพรระบาดยังคงมีอยู่จนกว่าจะคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จ