คมนาคม เทงบกว่า 3.9 หมื่นล้าน วางแผนปั้นทีโอดี “เมืองพัทยา” 

คมนาคม เทงบกว่า 3.9 หมื่นล้าน  วางแผนปั้นทีโอดี “เมืองพัทยา” 

“เมืองพัทยา” เป็นศูนย์กลางความเจริญมานานและเพื่อให้ศักยภาพนี้ยั่งยืนต่อไปการเพิ่มความน่าสนใจผ่านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆจึงเป็นสิ่งจำเป็น

จากการลงพื้นที่สัมมนาผู้ลงทุน (Market Sounding) โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง “TOD คมนาคม สร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้” จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา

เริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า นักลงทุนให้การตอบรับดี เนื่องจากจังหวัดชลบุรี มีศักยภาพและความพร้อมในการเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภูมิภาค และที่ตั้งอยู่บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาเมือง TOD จะพัฒนาโดยรอบสถานีรถไฟพัทยา จังหวัดชลบุรี เบื้องต้นกำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็น “เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ศูนย์กลางอีอีซี เมืองสภาพแวดล้อมดีสำหรับทุกคน” รวมทั้งมุ่งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ของพัทยา ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินผสมผสาน และสร้างสรรค์กิจกรรมภายในเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ ผสานความเป็นเมืองระดับโลกกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

159791997065

สำหรับแนวคิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณพื้นที่รอบสถานีรถไฟพัทยา เน้นเปิดศักยภาพของพื้นที่ มีสถานีรถไฟทางคู่และสถานีรถไฟความเร็วสูงเป็นศูนย์กลางการพัฒนา แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564-2565) เป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านพื้นที่ ระยะสั้น (ปี 2566 – 2570) พัฒนาพื้นที่รวม 686,000 ตารางเมตร ระยะกลาง (ปี 2571 – 2575) พื้นที่รวม 595,000 ตารางเมตร และระยะยาว (ปี 2576 – 2580) พื้นที่รวม 322,000 ตารางเมตร

โดยแบ่งพื้นที่พัฒนาตามแนวทางของ TOD เป็น 6 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 MICE City รองรับศูนย์กลางการค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้สถานี เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม และศูนย์การประชุมสัมมนา

โซนที่ 2 Creativity Economy อาคารสำนักงาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และบริการแบบครบวงจร ซึ่งในพื้นที่จะประกอบไปด้วย สำนักงานออฟฟิศ ร้านค้ารีเทล รวมไปถึงฟีดเดอร์รับส่งผู้โดยสาร

โซนที่ 3 Park Society เพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่นันทนาการ รองรับนักท่องเที่ยวที่มาประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) จะมีการพัฒนาสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนด้วย

โซนที่ 4 Active District พื้นที่พัฒนาย่านพาณิชยกรรมแบบผสมผสาน มีทั้งศูนย์การค้า ศูนย์ค้าปลีก รวมถึงธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ เช่น Start up ธุรกิจดิจิทัล รวมไปถึงศูนย์จัดประชุมสัมมนา

โซนที่ 5 Livable City พื้นที่การพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น อพาร์ตเมนต์ใช้เช่า คอนโดมิเนียม หรือบ้านจัดสรร ยังมีการพัฒนาตลาดและพื้นที่สีเขียวเพื่อรองรับการใช้ชีวิตด้วย

โซนที่ 6 Society District พื้นที่สนับสนุนกิจกรรมรวมถึงธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ เช่น ศูนย์การแพทย์และบริการด้านสาธารณสุข และศูนย์การเรียนรู้และการศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบของนวัตกรรมใหม่ที่จะส่งเสริมให้เมืองพัทยาน่าสนใจมากขึ้น

รายงานข่าวจาก สนข.เผยว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นประเมินว่าความต้องการเดินทางและปริมาณผู้โดยสาร เมื่อมีการพัฒนา TOD คาดว่าในปี 2580 จะมีประชากรที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ TOD ประมาณ 2.4 หมื่นคน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1 หมื่นตำแหน่ง ส่วนจำนวนผู้โดยสารสถานีรถไฟพัทยาในปี 2580 จะมีประมาณ 1.23 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่ TOD มีเส้นทางให้บริการระบบฟีดเดอร์ 6 เส้นทาง ครอบคลุมให้บริการประชาชนจำนวน 5.7 หมื่นคน คิดเป็น 60% ของประชากรในเมืองพัทยา

สำหรับโครงการจัดระบบเดินรถเพื่อให้บริการ TOD กับพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะพัฒนาระบบฟีดเดอร์ หรือขนส่งมวลชนรอง มีระยะเวลาดำเนินการ 24 เดือน และใช้งบประมาณลงทุนราว 1.35 พันล้านบาท อีกทั้งจะมีการก่อสร้างศูนย์กระจายระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง ฝั่งตะวันออกเพื่อรองรับระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง เชื่อมต่อกับ TOD และพื้นที่โดยรอบด้วย

ทั้งนี้ ภาพรวมข้อเสนอแนะเบื้องต้นด้านการลงทุนในโครงการ TOD ประเมินว่าจะต้องจัดใช้งบประมาณในเบื้องต้นกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท แบ่งรูปแบบการลงทุนออกเป็น ที่ดินและการจัดรูปที่ดิน จ่ายค่าชดเชยสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดิน ภาครัฐจะเป็นฝ่ายลงทุน

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ถนนและทางเท้า รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะและอื่นๆ ภาครัฐหรือเอกชนที่มีส่วนร่วมจากการได้สิทธิการพัฒนาพื้นที่ จะเป็นผู้ร่วมลงทุน โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะมีมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด 4,549 ล้านบาท อาทิ การก่อสร้างถนน ทางเท้า และงานระบบ งบลงทุนราว 2,199 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งรอง เป็นระบบขนส่งรองภายในเมือง เช่น รถไฟรางเบา หรือรถบัส เป็นต้น จะใช้รูปแบบการลงทุน โดยการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ผู้ลงทุนคือภาครัฐ และคนท้องถิ่นในพื้นที่ ประเมินวงเงินลงทุนราว 762 ล้านบาท อาทิ ค่าก่อสร้างงานโยธา 65 ล้านบาท ค่าลงทุนจัดหารถ 481 ล้านบาท เป็นต้น 

ด้านการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ โครงการประเภทที่อยู่อาศัย และโครงการเชิงพาณิชย์ เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับโครงการที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาเมือง TOD และการลดค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียม โดยแบ่งงบประมาณการลงทุนออกเป็น การลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ 13,634 ล้านบาท และการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย 20,105 ล้านบาท