ค้าปลีกโหมกลยุทธ์ราคาปลุกซื้อ หวังแรงส่งหนุนไฮซีซันคึกคัก
บรรยากาศการจับจ่ายในห้างร้านค้าปลีกอยู่ในภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด ส่งผลต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจไทยหดตัวแรง
ผู้คนต่างเผชิญภาวะการว่างงาน พร้อมๆ กับปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นสูง การใช้จ่ายระมัดระวังมากขึ้นเพราะไม่มั่นใจต่อความมั่นคงของรายได้ในอนาคต และสถานการณ์ไม่แน่นอนทางการเมืองมีผลต่อความเชื่อมั่น ขณะที่อำนาจซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเคยเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ของธุรกิจวูบหายจากตลาด! ไม่ฟื้นกลับมาในเร็ววัน ภายใต้การเฝ้าระวังและความวิตกกังวลต่อการระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด ล้วนเป็นปัจจัยลบที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องมองหากลยุทธ์ใหม่! ทำให้ลูกค้ายอมควักกระเป๋าจ่าย
สเตฟาน จูเบิร์ท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบริหารสินค้า และรักษาการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า โรบินสัน มุ่งขับเคลื่อนกลยุทธ์ "ลดภาระค่าใช้จ่าย" ของผู้บริโภคชาวไทยในระยะยาว ผ่านการสร้างประสบการณ์ "ความคุ้มค่าใหม่” ของการชอปปิง ภายใต้แนวคิด “เงินเพิ่มค่า มาโรบินสัน” ทั้งห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ 50 สาขาทั่ว
“หนึ่งในแผนธุรกิจที่สำคัญของโรบินสันในปัจจุบัน คือการมุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายของคนไทย ซึ่งกลยุทธ์ความคุ้มค่าใหม่ จะตอบโจทย์ความต้องการในสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งช่วยสร้างความต่างอย่างมีเอกลักษณ์รับมือการแข่งขันรุนแรงในตลาดค้าปลีก"
ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า กลยุทธ์ “ราคา” จะถูกสร้างการรับรู้ สื่อสาร และสร้างการจดจำ “เงินเพิ่มค่า มาโรบินสัน” ด้วยราคาเหมาะสม จับต้องได้ โดยจะตรึงที่ราคาเดียว ไม่มีการปรับราคาขึ้น หรือ ลดลง พร้อมมีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนสินค้าอื่นๆ ที่น่าสนใจในแต่ละกลุ่มสินค้า มานำเสนออย่างต่อเนื่องผ่านแคมเปญหลากหลาย เช่น "หมดแล้ว หมดเลย ช็อกไพรซ์" เงินเพิ่มค่าในสินค้าที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้นๆ ยกเว้นกลุ่มเครื่องสำอาง นาฬิกา และเครื่องประดับ ซึ่งสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนตามกระแสนิยม
“สินค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มสินค้าที่กระตุ้นให้นักช้อปเกิดการตัดสินใจซื้อที่รวดเร็วเพราะสินค้ามีจำนวนจำกัด และอาจหมดได้ในระยะเวลารวดเร็ว”
นอกจากนี้ ยังมี “ซื้อมากลดมาก BUY MORE SAVE MORE” จัดดีลพิเศษที่ซื้อในจำนวนที่มากกว่า 1 ชิ้น จะจ่ายเงินถูกลงกว่าเดิมแน่นอน ตอบโจทย์นักช้อปกลุ่มครอบครัวที่เน้นการชอปปิงเชิงปริมาณ และต้องการราคาที่คุ้มค่าที่สุด
“Only@Robinson” เงินเพิ่มค่า ด้วยสินค้าลิมิเต็ดอิดิชั่น ภายใต้ร่วมมือกับพันธมิตรแบรนด์สินค้าในทุกกลุ่มสินค้า เพื่อสร้าง “เอกลักษณ์” ที่ไม่ซ้ำใคร เป็น “มัส แฮฟ ไอเทม” ของนักช้อปที่หาไม่ได้จากคู่แข่ง!
อรวรรณ ทิพย์สุวรรณพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารสินค้า กล่าวเสริมว่า ขณะนี้โรบินสันมีพันธมิตรแบรนด์สินค้าและสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ กว่า 100 แบรนด์ ร่วมโปรเจค เงินเพิ่มค่า รวมกว่า 10,000 รายการ ประกอบกลุ่มสินค้าเสื้อผ้า แครื่องแต่งกาย เครื่องครัว ของใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก ของใช้และของเล่นเด็ก กลุ่มสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟและกลุ่มสินค้านวัตรรม
โรบินสัน ยังเร่งสร้างการรับรู้ จดจำประสบการณ์ “ความคุ้มค่าใหม่” แบบ 360 องศา ในแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ทั้งสื่อออฟไลน์ ผ่านภาพยนตร์โฆษณาในสื่อโทรทัศน์ และสปอตวิทยุ สื่อออนไลน์ดิจิทัล มีการทำจิงเกิ้ลเพลง “เงินเพิ่มค่า มาโรบินสัน” พร้อมท่าเต้นน่ารักๆ จากพนักงาน เพื่อให้กลยุทธ์นี้ เป็นที่จดจำ เข้าถึง และขยายไปยังกลุ่มนักช้อปในวงกว้างมากที่สุด เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นบรรยากาศจับจ่ายของตลาดค้าปลีกไทยให้คึกคักขึ้น
ทางด้าน สุธาวดี ศิริธนชัย รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ กล่าวว่า หลังผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้ตลาดค้าปลีกเริ่มกลับมาคึกคักขึ้นตามลำดับ โดยหลังปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์ ดิ เอ็มโพเรี่ยม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ มีลูกค้าชาวไทย และชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยในเมืองไทย (Expat) กลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้จึงหันมาช้อปในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นในกลุ่มไฮเอนด์ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง นับเป็นโอกาสในการกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้ากลุ่มนี้”
โดย ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม ดิ เอ็มควอเทียร์ กระตุ้นการใช้จ่ายของลูกค้าต่อเนื่องด้วย 2 แคมเปญใหญ่ แฟชั่น ออฟ นาว (Fashion Of Now) ต้อนรับเทรนด์แฟชั่นรับฤดูหนาว และเทส ออฟ นาว (Taste Of Now) ร่วมกับผู้ประกอบการร้านอาหาร
เกมรุกต่อเนื่องหวังจะเป็นแรงส่งต่อธุรกิจไฮซีซันไต่ระดับฟื้นตัว