เมล็ดพันธุ์น้ำดีวิถีพอเพียง ธุรกิจนิวเจนฟื้นสังคมยั่งยืน
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา แนวคิดยั่งยืนที่นำมาปรับใช้ได้กับทุกยุค โดยเฉพาะวิกฤติ ได้ถูกนำมาสานต่อ ผ่านแนวคิดสร้างสรรค์ ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ โดยมีเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชน สร้างเครือข่ายธุรกิจคิดยั่งยืน เกื้อกูล อยู่รอดไปด้วยกัน
หลังวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด -19) ทำให้เห็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่รุนแรงขึ้น เกิดกระแสผู้บริโภคไม่พึงพอใจ ต่อต้านธุรกิจผิดทำนองคลองธรรม มุ่งแสวงผลกำไร
โควิดจึงเป็นเหมือน “นาฬิกาปลุก” เตือนธุรกิจให้มองโครงสร้างของสังคมควบคู่การวางแผนธุรกิจ สอดคล้องกับหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ รู้จักประมาณตน มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน รวมถึงการมีเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม คือหลักยึดที่ถูกนำมาพูดถึงทุกครั้งเมื่อเกิดวกฤติ
“พอแล้วดี The Creator” เป็นโครงการปั้น “นักธุรกิจรุ่นใหม่ “ ทำธุรกิจด้วยการคำนึงถึงสังคม เรียนรู้ สานต่อ “ศาสตร์พระราชา” น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผนึกกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่คิดโมเดลธุรกิจคู่กับเกื้อกูลสังคม สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนปัจจุบัน
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ โครงการพอแล้วดีThe Creator ให้มุมมองหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศาสตร์ความยั่งยืน ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบไว้เป็น “มรดกของแผ่นดินไทย” ที่สามารถประยุกต์ใช้กับวิถีการทำธุรกิจยุคใหม่ จากที่ผ่านมามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มอง“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือความประหยัด มัธยัสถ์ หรือเกษตรกรรม แต่แท้จริงความหมายนั้นกว้างไกลและทันสมัย ไม่ว่าประกอบอาชีพอะไรหรือทำธุรกิจก็นำไปปรับใช้ในชีวิตได้ เป็นเครื่องมือไตร่ตรองบริหารจัดการสมดุลของชีวิต สร้างสรรค์ธุรกิจที่เติบโตควบคู่กับสังคมอย่างยั่งยืน
“เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องของทฤษฎีหรือหลักสมการ แต่เป็นปรัชญาที่นำไปปรับใช้ในบริบทธุรกิจที่แตกต่างกันได้ ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”
นี่คือหลักการของการสร้างเมล็ดพันธุ์นักธุรกิจรุ่นใหม่ ผ่านโครงการ “พอแล้วดี The Creator” ได้จัดการอบรมแล้ว 4 รุ่น สามารถปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่กว่า 80 แบรนด์ที่มีส่วนเกื้อกูลสังคมดี อาทิ ไร่สุขพ่วง จันทรโภชนา บ้านไร่ไออรุณ The Yard Hostel HOM Hostel & Cooking Club Hug Organic ข้าวธรรมชาติ ข้าวเพลงรัก ภูคราม Yano FolkCharm จึงได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 มีพันธมิตรร่วมอุดมการณ์สานต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่คนรุ่นใหม่ โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท บี. กริม ร่วมส่งเสริมพร้อมกันกับมีผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์ การตลาดเติมเต็มองค์ความรู้การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม ให้กับคนรุ่นใหม่
เป้าหมายโครงการไม่เพียงสร้าง“ธุรกิจให้เติบโต” แต่มุ่งสร้าง "ภูมิคุ้มกันให้กับสังคม” ผ่านการ“สร้างคน” เป็น “เมล็ดพันธุ์ธุรกิจน้ำดี” ปลูกสังคมฟื้นฟูสังคมไทยที่มีความเกื้อกูล คิดถึงความยั่งยืน
“การสร้างคนเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ถือเป็นเมล็ดพันธุ์ความดีปลูกสังคมไทย ชีวิตนี้น้อยนัก แต่สำคัญนัก ไม่ว่าธุรกิจจะเล็กขนาดไทยหากเข้าใจคุณค่าสังคมยั่งยืนได้ เมื่อคิดถึงผู้อื่น ทำด้วยหัวใจ ก็เป็นเดอะครีเอเตอร์ที่คิดใหญ่ในหัวใจได้ ทำให้อยู่รอด ให้คิดเสมอ หากเกื้อกูลกันผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ทุกชีวิตสัมพันธ์กัน นำความพอเพียง วิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทยทำให้ทุกคนอยู่รอดได้ เมื่อคนอื่นฟื้นตัวเราก็พื้น”
ผู้ที่จะเข้ารับการอบรม “พอแล้วดี เดอะ ครีเอเตอร์” นักธุรกิจเมล็ดพันธุ์ใหม่ จะต้องเป็น “นักสื่อสาร” บอกเล่าเรื่องราวของพระราชา ศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญเป็น “ผู้สานต่อ” ทำธุรกิจให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เช่น ธุรกิจไลฟ์สไตล์ แฟชั่น เครื่องสำอาง กาแฟ สิ่งสำคัญจะต้องการมีธุรกิจอยู่แล้ว เพื่อนำปรัชญามาใช้แก้โจทย์ปัญหาธุรกิจได้ อย่างเป็นรูปธรรม
“ก้าวแรกต้องภาคภูมิใจในศาสตร์พระราชา เป็นกระบอกบอกเสียงของความดีงาม บอกเล่าอธิบายความพอเพียง พอประมาณ ความสมดุลอยู่ตรงไหน และสามารถสะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้"
ด้านจุฑาทิพย์ เจริญลาภ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการททท. กล่าวว่า ททท.ต้องน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการส่งเสริมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยั่งยืน คำตอบที่จะทำให้ทรัพยากรยังอยู่กับประเทศยาวนาน และให้ภาคธุรกิจและสังคมได้รับประโยชน์ร่วมกัน
“หน่วยงานภาครัฐต้องเข้าใจและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง และนำไปพัฒนาการตลาด การท่องเที่ยวรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงนำทรัพยากรมาเป็นจุดขาย ต้องนำ อัตลักษณ์ของชุมชน ถือเป็นคุณค่าทรัพยากรที่สำคัญส่งเสริมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่เช่นนั้นไม่เหลือแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม”
ขณะที่ มรินทร์ ธนจิตต์สุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บี.กริม แอนด์ โก จำกัด กล่าวว่า บี.กริมมีเป้าหมายทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจึงดำเนินธุรกิจมากว่า 140 ปี มีวิสัยทัศน์ สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี สร้างความศิวิไลซ์ให้กับสังคม (Doing Business with Compassion) นำแนวคิด การวางแผน คุณค่าความยั่งยืน มีทิศทางเดียวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่อยากส่งต่อให้กับรุ่นใหม่
เพราะโลกยุคปัจจุบันสร้างความสำเร็จคนเดียวไม่ได้ ต้องแบ่งปันให้ตัวเองและผู้อื่น ต้องมีชีวิตคนอื่นอยู่ในองค์ประกอบของคุณ ธุรกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าส่วนไหนของซัพพลายเชนมีคุณค่าสามารถลุกขึ้นมาสร้างสรรค์สังคม จึงต้องการต้องการแบ่งปันองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและแนวคิด เพื่อร่วมกันเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนความยั่งยืน ด้วยการสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาพัฒนาตัวเอง เชื่อมั่นว่าคน และสังคมจะพัฒนาชาติ ไปด้วยกัน จึงต้องเริ่มฟูมฟักองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนให้ทุกคนมีความแข็งแกร่ง”
สัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ กล่าวว่า มูลนิธิได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ไทย ตั้งแต่ไร่ สวน จนถึงตลาดการค้าที่มีความเป็นธรรม ที่เข้าไปเชื่อมต่อกับชุมชนทั่วประเทศ ให้สร้างโอกาสพออยู่ พอกิน รู้จักเก็บ รักษา และแบ่งปัน เป็นต้นทางในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันการเปิดภัยบพิบัติ ที่มุ่งมั่นสร้างเครือข่าย มาเชื่อมต่อกับโครงการพอแล้วดี ให้เป็นห่วงโซ่ธุรกิจไลฟ์สไตล์ ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน
ทางด้าน ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า องค์กรลุกขึ้นมาสร้างรากฐานให้คนส่วนใหญ่ของประเทศไทย นั่นคือภาคการเกษตร จึงต้องการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ กลับมาสร้างสรรค์ธุรกิจเพื่อสังคมและชุมชนที่เป็นบ้านเกิดผ่านโครงการ New Gen Hug บ้านเกิด ซึ่งได้รับความนิยมคนสนใจสมัครเกือบ 3 หมื่นคนสะท้อนว่า หลังยุคโควิดคนกลับบ้านเกิดมากขึ้น และต้องการกลับไปพัฒนาสร้างสิ่งดีงามให้กับบ้านเกิดของเขา
“หากมีการส่งเสริมคนรุ่นใหม่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะได้พบการแนวคิดการพัฒนาชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนได้หลากหลายด้าน ที่จะมีเครือข่ายคนในชุมชนมามีส่วนร่วมเกื้อกูล"