'อัครา' เปิดทางเจรจารัฐบาล หวังทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะร่วมกัน
“อัครา” ย้ำต้องการให้ทุกฝ่ายผู้ชนะ ไม่อยากให้ประเทศเสียประโยชน์ พร้อมร่วมดันเศรษฐกิจไทยฟื้นฟูให้พ้นวิกฤติโควิด
ข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย กับรัฐบาลไทยถูกนำเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งคิงส์เกตเข้ามาถือหุ้นในบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 หลังจากนั้นคิงส์เกตได้ทำหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยลงวันที่ 3 เม.ย. 2560 เพื่อใช้สิทธิ์หารือ (Consultation Process) ภายใต้เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย
หลังจากนั้นวันที่ 2 พ.ย. 2560 ได้รัฐบาลไทยถึงการนำเรื่องเข้าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งนำมาสู่การไต่สวนที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 3-12 ก.พ.2563 โดยคาดว่าอนุญาโตตุลาการจะมีคำสั่งในเดือน ก.พ.2564
นายสิโรจ ประเสริฐผล กรรมการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อัครา ขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่เปิดดำเนินกิจการนั้น ได้ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และปฏิบัติตามกฏหมาย และข้อกำหนดต่างๆ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยเคร่งครัดเสมอมา
รวมทั้งดำเนินการด้วยมาตรฐานการดำเนินงานเหมืองแร่ทองคำระดับสากล ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเข้มข้น เราจึงมั่นใจว่าเหมืองไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนแน่นอน
"ในกระบวนการอนุญาโตตุลากรที่กำลังดำเนินอยู่ เราขอยืนยันว่า เรายินดีในการพูดคุย เจรจากับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนทั้งในพื้นที่และโดยรวม เราไม่อยากให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ แต่เราอยากให้ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดการจ้างงาน การสร้างเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการพัฒนาด้านอื่นอีก"
นายสิโรจ กล่าวว่า รวมทั้งก่อให้เกิดรายได้แก่ภาครัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีนิติบุคคล เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงที่ทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญวิกฤติการโควิด-19 หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้ก้าวผ่านที่ยากลำบากได้