พฤกษาชู"ฮีโร่ โปรเจ็กต์” กระตุ้นยอดโค้งสุดท้าย
พฤกษา สปีดผุด “ฮีโร่ โปรเจ็กต์” เน้นแนวราบ เจาะผู้บริโภครายได้ 5 หมื่นบาท -1.5 แสนบาทต่อเดือน หวังกระตุ้นยอดขาย-ยอดรับรู้รายได้ 4 เดือนสุดท้ายของปี
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ประเมินภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ 4 เดือนสุดท้ายในปีนี้ว่า น่าจะดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 มาแล้ว โดยผู้ประกอบการอสังหาฯทุกค่ายต่างแห่ลดราคากระหน่ำ ส่งผลดีต่อผู้บริโภคดังนั้นในช่วง 4 เดือนหลังจากนี้บริษัทจะเน้นเปิด “ฮีโร่ โปรเจ็กต์” เพื่อกระตุ้นยอดพรีเซลและยอดรับรู้รายได้ในปีนี้ด้วยการเปิดตัวโครงการในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เป็นหลัก โดยเฉพาะแนวราบ ทั้งทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด และบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น
ด้วยการเลือกโครงการในเซ็กเมนต์ที่มีศักยภาพสูง โดยจับกลุ่มคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่นบาท -1.5 แสนบาทต่อเดือน ระดับราคาสินค้า 3-5 ล้านบาท ในกลุ่มคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ ภายใต้แบรนด์พฤกษา วิลล์ เดอะ พาทิโอ ส่วนบ้านเดี่ยวจะอยู่ในระดับราคา 5-10 ล้านบาทภายใต้แบรนด์ภัสสร และเดอะ ปาล์ม หลังจากที่มีการปรับแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงเหลือ12 โครงการ มูลค่ารวม 13,960 ล้านบาท ครึ่งปีหลังจะเปิด 7 โครงการ แบ่งเป็นสินค้าแนวราบ 6 โครงการ และคอนโด 1 โครงการ รวมมูลค่า 8,780 ล้านบาท
“ที่ผ่านมาเราสามารถเคลียร์สต็อกที่มีอยู่ได้เกิน50%ทำให้มีเงินสดเข้ามา ปัจจุบันพฤกษามีสภาพคล่องดี โดยเฉพาะแนวราบสต็อกเหลือ 30% และสร้างทันไม่ทันขาย ตอนนี้ยอดขายเริ่มเข้ามา60-70%แล้ว ในแง่ของการทำตลาดจะเน้นดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ 80-90%”
นายปิยะ กล่าวว่า ปัจจุบันพฤกษาเรียลเอสเตท มีรายได้จากสินค้าแนวราบ สัดส่วน 60% และคอนโด 40% คาดว่าในปี 2564 จะปรับสัดส่วนรายได้จาก แนวราบเพิ่มเป็น 70% และคอนโดลดลงเหลือ 30% เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปและลดความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดคอนโดที่อยู่ระหว่างการปรับฐาน ต้องใช้ระยะเวลา1-2ปีจากนี้
“คาดว่า ภาพรวมตลาดคอนโดในปีนี้ ยอดขายลดลงถึง 50% เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาดโตเกินไปเป็นผลมาจากดีมานด์ต่างชาติที่เข้ามาคิดเป็นสัดส่วน 30% หายไปเยอะ และกลุ่มนักลงทุนซื้อเก็งกำไร 20% ส่วนกลุ่มเรียลดีมานด์มีสัดส่วน 60% ลดลงบ้าง ขณะที่ตลาดแนวราบ โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวลดลงไม่ถึง 10% ภาพรวมปีนี้ เซกเมนต์สินค้าที่อยู่ในฐานพีระมิดแย่หมด เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ตาม หากเกิดโควิดระลอก 2 บริษัทคงเน้นการบริหารสภาพคล่อง กระแสเงินสด และนำเสนอโครงการที่ได้รับผลกระทบน้อย ด้วยการจับกลุ่มเรียลดีมานด์ที่มีกำลังซื้อ สำหรับโควิดระลอก 2 ในต่างประเทศอาจดูจะรุนแรงมากเมื่อเทียบกับครั้งแรก แต่ในประเทศไทยมีบทเรียนจากความสำเร็จในการป้องกันที่ดีและด้วยพฤติกรรม วัฒนธรรมคนไทยสามารถป้องกันได้ดี จึงไม่น่าจะรุนแรงมาก
“ถึงแม้กระนั้นในแง่เศรษฐกิจ จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคของคนไทยในประเทศมากขึ้น เพราะตลาดต่างประเทศแย่ไปหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยขนาดไหน ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นให้คนกล้าใช้เงิน เช่น มาตรการภาษี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวน่าจะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ทั้งแง่การลงทุนและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง เพื่อเกิดการหมุนเวียนในประเทศ เพราะชนชั้นกลางยังมีเงินอยู่สังเกตได้ว่าหุ้นไม่ได้ตกมากนัก” นายปิยะ กล่าว