"เกษตร"เล็งสั่งงดทำนาปรังหลังน้ำน้อยเน้นน้ำกินใช้ก่อน

"เกษตร"เล็งสั่งงดทำนาปรังหลังน้ำน้อยเน้นน้ำกินใช้ก่อน

กระทรวงเกษตรฯ คาดแล้งนี้น้ำน้อย สั่งกรมชลประทานบริหารตามความเหมาะสมของพื้นที่ เน้นเพื่ออุปโภคบริโภคก่อน นาปรังอาจงด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุมติดตามแนวโน้มสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ ปี 2563/64 ว่า สืบเนื่องจากปริมาณในอ่างแต่ละแห่งมีน้อยมากในปี 2562 ประกอบกับเกิดฝนทิ้งช่วงในปี 2563 ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่1 พ.ค.-15ก.ย.2563 มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 8,000 ล้านลบ.ม. ดังนั้นจึงสั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

โดยต้องบริหารตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยจะต้องคำนึงถึงการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก และในส่วนของภาคการเกษตร ที่สามารถทำการเกษตรได้ จะให้ดำเนินการ แต่ในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาเรื่องน้ำ จะให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปช่วยดูแล ให้คำแนะในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจากการคาดการว่าจะที่ปริมาณน้ำน้อย ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีน้ำใช้ เพราะจากการคำนวนจากพื้นที่เก็บกักน้ำและเทียบสถิติในปีที่ผ่านมา รวมถึงการบริหารจัดการ จึงยืนยันได้ว่าน้ำเพื่ออุปโภคไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน ส่วนน้ำในภาคการเกษตรจะดูตามความเหมาะสมต่อไป

“ยืนยันว่าตลอดปีนี้มีเพียงพอต่อความต้องการอุปโภคบริโภคแน่นอน กรมชลประทานต้องจัดลำดับความสำคัญ หากฝนตกแล้วน้ำไม่ลงเขื่อน น้ำต้นทุนน้อย เป็นไปได้ลำบากที่ฤดูกาลผลิต 2563/64 จะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับปลูกข้าว ให้ร่วมหารือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานอื่นๆเพื่อวางแผนการเพาะปลูกพืชน้ำน้อยแทนการปลูกข้าว แต่น้ำกินน้ำใช้ต้องเพียงพอ”

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 36,764 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48% ของความจุอ่างคิดเป็นน้ำใช้การได้ 12,946 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,152 ล้าน ลบ.ม หรือ 41% ของความจุอ่าง

“วันนี้ต้องเปลี่ยนแนวคิด แทนที่จะไปสร้างหรือขยายแหล่งเก็บกักน้ำที่มีอยู่ ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าพื้นที่นั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ แต่จากสถิติสามารถกำหนดได้ว่าพื้นที่ไหนที่มีปริมาณฝนตกมาก ซึ่งแนวคิดใหม่ต้องไปหาว่าพื้นที่ที่เหมาะสมเหล่านั้นอยู่ตรงไหน เพื่อนำมาสร้างเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำต่อไป

โดยหน่วยงานในแต่ละพื้นที่ต้องช่วยกัน จะสร้างเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ก็ได้ และต้องนำระบบท่อเข้ามาใช้เพื่อกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรและพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมองว่าระบบท่อเป็นวิธีที่ทำให้สูญเสียน้ำน้อย และเป็นการใช้น้ำอย่างมีคุณค่าที่สุด”

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ มีปริมาณรวมกันประมาณ 36,764 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 12,946 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,152 ล้าน ลบ.ม หรือคิดเป็น 41% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,456 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 10,363 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,339 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% ของแผนฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำทั้งประเทศ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หากให้ประเมินสถานการณ์ฝน เหลือระยะเวลาจากนี้ถึง ต.ค.2นี้เท่านั้น ที่จะมีฝนตก แต่หากฝนตกกระจายก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มปีการผลิต 2563/64 อาจไม่สามารถปลูกข้าว ทำนาได้ เท่ากับแผนปี 2562/63

สำหรับแผนการเพาะปลูกข้าวปี 2562/63 วางแผนการเพาะปลูกข้าว 16.79 ล้านไร่ แต่ด้วยฝนทิ้งช่วง ไม่มีน้ำ ทำให้ชาวนาทำนาได้เพียง 12.61 ล้านไร่ หรือปลูกข้าวได้เพียง 81% ของแผน ดังนั้นปีนี้ฝนตกต้ำไม่ลงเขื่อน ปีการผลิต 2563/64 กระทรวงเกษตรต้องเร่งวางแผน สำหรับการเพาะปลูกพืชน้ำน้อย

ส่วนเกษตรกร ที่ไม่ได้เพาะปลูก หรือทำการเกษตร จะเร่งดำเนินการ ทำแผนจ้างงานเพิ่ม เพื่อรองรับเกษตรกรอาจตกงาน เพราะฝนตกน้อย แล้งติดต่อกันมา 2 ปี หากประเมินผลการใช้น้ำ ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่กรมชลประทานต้องบริหารจัดการให้ถึงพ.ค.2564 การจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภค บริโภคจึงเป็นความสำคัญอันดับแรก